ผู้ป่วยโรคไต เสนอ ครม.ถอดหมอสมาคมโรงพยาบาลเอกชนออกจากบอร์ด สปสช.ร้องแพทยสภาสอบจรรยาบรรณวิชาชีพ จวกเป็นปฏิปักษ์ต่อการรักษาพยาบาลประชาชน ยันมูลนิธิโรคไตให้บริการแค่ 1,000 บาทต่อครั้ง ใช้เครื่องมือคุณภาพดีกว่า รพ.เอกชน บางแห่ง เตรียมเสนอกรมบัญชีกลางปรับค่าบริการตามจริง ขณะที่แพทยสภายันหากร้องมาก็นำเรื่องเข้าอนุกรรมการจริยธรรม ด้าน หมอเอื้อชาติ บอกไม่อยากตอบโต้
วันนี้ (11 ก.ย.) นายสุบิล นกสกุล ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ จะเดินทางไปยื่นหนังสือให้คณะรัฐมนตรีมีมติถอดถอน นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ เจ้าของเครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และในฐานะกรรมการบอร์ด สปสช.กรณีที่ได้ทำหนังสือเลขที่ 168/2551 วันที่ 2 ก.ย.ในนามสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แนะนำให้โรงพยาบาลในสมาชิกไม่เซ็นสัญญาเรื่องการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียมกับ สปสช.โดยจะให้ ครม.ถอดถอนออกจากการเป็นคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯและคณะกรรมการหลักประกันฯ
นายสุบิล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะยื่นเรื่องให้แพทยสภาสอบจรรยาบรรณวิชาชีพของแพทย์ทั้ง 2 คน รวมถึง นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี ประธานชมรมโรงพยาบาลเอกชนเพื่อการพัฒนาระบบบริการประกันสังคมที่ได้ออกหนังสือขอความร่วมมือจากสมาชิกให้พิจารณาสนับสนุนตามที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้ทำหนังสือดังกล่าวด้วย เพราะการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการขัดต่อจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพแพทย์ ที่กระทำการเป็นปฏิปักษ์กับสุขภาพของประชาชน
“รู้สึกสะเทือนใจที่หมอเป็นถึงกับนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมฯ แต่กลับมีเหตุผลแค่ทำให้เสียราคาซึ่งทางราชการจ่ายให้ในราคาสูงกว่า ซึ่งไม่น่าเป็นเหตุผลของแพทย์ที่ทำหน้าที่รักษาคนไข้ได้ เพราะถ้าจะออกตัวว่าหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำไม่ทำตามก็ได้ แต่ทำไมหัวเรื่องของหนังสือดังกล่าวเขียนว่า เรื่องไม่ให้เซ็นสัญญา แทนที่ใช้ว่า เรื่องแนะนำไม่ให้เซ็นสัญญา ซึ่งเป็นการหากำไรจากคนเจ็บคนป่วยจะถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการรักษาพยาบาลสุขภาพประชาชนหรือไม่” นายสุบิล กล่าว
นายสุบิล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในประชุมที่สรุปตัวเลขค่าฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันฯสรุป โดยมี นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ประธาน ได้เสนอในราคา 1,525 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รวมกำไรแล้วด้วยซ้ำ ทั้งนี้ จะเสนอให้กรมบัญชีกลางพิจารณาให้เบิกจ่ายในราคาที่สมจริง ไม่เอาภาษีประชาชนไปใช้เกินจำเป็น
นายสุบิล กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ นพ.เอื้อชาติ ระบุว่า การบริการราคาถูกอาจได้คุณภาพไม่ดีนั้น ก็เป็นเรื่องไม่จริงอีกเช่นกัน เพราะที่มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ที่ดำเนินการให้ผู้ป่วยใช้บริการครั้งละ 1,000 บาท ยังเป็นกระบอกที่มีคุณภาพสูงกว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งด้วยซ้ำ แต่ก็ยังเก็บค่ารักษาบริการได้ในราคาสมเหตุสมผล ไม่ขาดทุน แต่ก็ไม่ได้กำไร ทั้งนี้ค่าต้นทุนในการใช้บริการดังกล่าวราคาเพียง 650 บาท ซึ่งหากรวมราคาค่าบริการทางการแพทย์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ให้มากสุดอีก 500 บาท ก็ถือว่ากำไรแล้ว รวมกันก็ประมาณ 1,050 บาท เมื่อ สปสช.คิดให้ในราคา 1,500 บาท ก็ถือว่าได้กำไรแล้ว
“ค่าบริการที่แพงกว่าของโรงพยาบาลเอกชน เป็นค่าของความสะดวกสบาย ความหรูหรา แต่จริงๆ แล้วสำหรับผู้ป่วยถือว่าไม่ได้จำเป็นเลย แต่ขึ้นอยู่ที่มาตรฐานการบริการ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังจากไปฟอกเลือด ซึ่งมาตรฐานของมูลนิธิโรคไตเป็นมาตรฐานระดับสากล อีกทั้งหลังจากฟอกเลือดแล้วยังมีค่ายาสำหรับสร้างเม็ดเลือด ซึ่งมูลนิธิโรคไตฯ คิดราคา 400 บาทต่อเม็ด แต่สถานพยาบาลเอกชนใช้ยาเดียวกันแต่คิดราคาเม็ดละ 1,800 บาท รวมถึงค่าหมอบางครั้งก็เป็นค่าจ๊ะเอ๋ คือ แค่เดินผ่านห้องไตเทียม ไม่ได้ปรึกษาอะไร ก็คิดค่าแพทย์แล้วถึง 300 บาท” นายสุบิล กล่าว
ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารของ สปสช.มีมติเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ว่า การกระทำของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว เป็นการล้ำเส้นมติของ สปสช.และขอประณามการกระทำดังกล่าวของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ว่า ไม่สมควรดำเนินการเช่นนี้ พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของ สปสช.ดำเนินการแล้วว่า จะเข้าข่ายเป็นการฮั้วหรือสุ่มหัวกันกำหนดราคาหรือไม่
“เรื่องดังกล่าวเป็นการฟ้องกับสังคมว่าถูกสถานพยาบาลเอกชนเอารัดเอาเปรียบมานาน โดยใช้ของที่ไม่ได้คุณภาพดีมาก แต่ก็ชาร์จราคาแพงลิ่ว และอยากเรียกร้องให้ประชาชนทั้งหลายช่วยกันสยบความอหังการของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่เอาเปรียบผู้ป่วย ด้วยการไปใช้บริการกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับนายแพทย์ทั้ง 3 คนนี้” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยต้องฟอกเลือดผ่านไตเทียมจำนวน 2,000 ราย ใช้บริการโรงพยาบาล 120 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลภาครัฐ 48 แห่ง อีก 72 แห่ง เป็นโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนยินดีร่วมโครงการกับ สปสช.แล้ว 44 แห่ง แต่มีอีก 22 แห่ง ที่ร่วมโครงการเพียง 3 เดือน จากนั้นจะมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ซึ่งเท่ากับว่าผลจากการส่งหนังสือเวียนของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน มีผลต่อโรงพยาบาลเอกชนที่จะเข้าร่วมโครงการแล้ว ซึ่งผู้ป่วยไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องใดๆ ได้ เพราะหากไม่ฟอกเลือดเพียง 1 สัปดาห์ก็จะเสียชีวิตได้ทันที