xs
xsm
sm
md
lg

สภาเภสัชฯ จวก “บัตรทอง” ศูนย์ชุมชนต่ำมาตรฐาน ขาดเภสัชกรประจำตามเกณฑ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาเภสัชกรรมห่วงระบบสั่งจ่ายยาโครงการบัตรทองในศูนย์สุขภาพชุมชนต่ำกว่ามาตรฐาน สำรวจพบเอกชนร่วมสัญญาใน กทม.ไม่มีเภสัชกรให้บริการ ขณะที่ศูนยสุขภาพชุมชนภาครัฐเภสัชกรอยู่ไม่ถึง 4 ชม.ต่อสัปดาห์ เสนอ 2 แนวทาง จัดสรรบุคลากรให้ครบ ซึ่งทำได้ยาก หรือ ให้ร้านขายยาจ่ายยาแทนหน่วยปฐมภูมิ

ภก.ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ที่ประชุมสภาเภสัชกรรมมีความเป็นห่วงหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ ( Primary Care Unit : PCU ) หรือ ศูนย์สุขภาพชุมชน ภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เนื่องจากพบว่า มีการให้บริการด้านเภสัชกรรมที่ต่ำกว่ามาตรฐานวิชาชีพอย่างมาก โดย สปสช.กำหนดมาตรฐานว่า แต่ละพีซียูให้มีเภสัชกรประจำตามหลักเกณฑ์ 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ต่อผู้ป่วย 1,000 คน ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักวิชาชีพอยู่แล้ว ทั้งนี้ศูนย์สุขภาพชุมชนควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลที่มีเภสัชกรให้บริการตลอดเวลา

“ขณะที่หลักเกณฑ์ของ สปสช.ไม่ควรเป็นอย่างนั้น แต่ความเป็นจริงน่าตกใจยิ่งกว่า เพราะผลการสำรวจเบื้องต้น พบว่า พีซียูของเอกชนที่ร่วมให้บริการกับภาครัฐ อย่างคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจในกทม.กว่า 117 แห่ง ไม่มีเภสัชกรประจำเลย ขณะที่ซีพียูในต่างจังหวัดมีเภสัชกรประจำตามหลักเกณฑ์ 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพียง 20% ทั้งๆ ที่การสั่งจ่ายยาในพีซียูขณะนี้เป็นยาที่ต้องระมัดระวัง เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาโรคความดันโลหิตโดยให้พยาบาลวิชาชีพเป็นผู้จ่ายยา ซึ่งทำให้เกิดความอึดอัดใจในวิชาชีพ เพราะไม่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง อาจเกิดความผิดพลาด ประชาชนเป็นผู้เสียประโยชน์จากความบกพร่องของสปสช.”ภก.ภาวิชกล่าว

ภก.ภาวิช กล่าวต่อว่า สภาเภสัชกรรมเสนอแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของการสั่งจ่ายยาของพีซียูให้ได้มาตรฐาน โดยแนวทาง 1 คือ การจัดสรรบุคลากรวิชาชีพประจำในพีซียูตลอดเวลา ซึ่งเป็นไปได้ยาก หรือแนวทางที่ 2 คือการให้ร้านขายยาที่มีเภสัชกรเป็นผู้ปฏิบัติงานเป็นพันธมิตรในการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบ โดยเป็นผู้ดูแลจัดการคลังยา และเป็นผู้สั่งจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งถือเป็นการลดภาระของพีซียูด้วย ซึ่งจะนำข้อเสนอดังกล่าวหารือในที่ประชุมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เร็วๆนี้

ภก.ภาวิช กล่าวอีกว่า ในวันที่ 27 เมษายนนี้สภาฯ จะเชิญทุกฝ่ายจากทั่วประเทศที่ทำวิจัยมาเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาการสั่งจ่ายยาในพีซียู รวมถึงความพร้อมของฝ่ายต่างๆ และแรงจูงใจของร้านขายยาที่จะเข้าร่วมพัฒนาพีซียู ทั้งนี้ การจัดการด้านงบประมาณไม่ยุ่งยาก สปสช.สามารถนำงบส่วนที่จ่ายให้ซีพียูเฉพาะค่ายานำมาเบิกจ่ายได้ โดยข้อสรุปทั้งหมดจะนำเสนอคณะกรรมการบริหารของสปสช.

ภก.ภาวิช กล่าวด้วยว่า สำหรับการรองรับแนวทางที่ให้ร้านขายยาเข้ามามีส่วนร่วมช่วยพัฒนาพีซียูให้การจ่ายยามีคุณภาพนั้น สภาฯได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้พัฒนาโครงการร้านขายยาคุณภาพ ซึ่งได้ร่างหลักเกณฑ์คุณสมบัติของร้านขายยาที่ได้มาตรฐาน แต่ที่ผ่านมาพบว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ตั้งไว้สูงเกินไปประกอบกับไม่มีการประชาสัมพันธ์ชัดชวนเชิงรุก และสร้างแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการ ทำให้ร้านขายยาไม่สามารถผ่านมาตรฐาน หรือหลายแห่งได้มาตรฐานแต่ไม่เข้าร่วมโครงการ

“อย่างที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาได้ลงพื้นที่พบว่ามีร้านยาได้คุณภาพ 70 แห่ง แต่กลับผ่านมาตรฐานโครงการเพียง 1 แห่ง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ ร้านยาทั้ง 70 แห่ง อาจมีคุณภาพก็เป็นได้ ซึ่งหากใช่โมเดลที่ให้ร้านขายยาเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาการจ่ายยาที่ไม่ได้มาตรฐานของพีซียูนั้นยิ่งทำให้ร้านขายยาอยากเข้าร่วมโครงการมากขึ้น เชื่อว่าร้านขายยาสามารถทำได้แน่ และมีมูลค่าเพิ่มด้วย เนื่องจากไม่ได้ทำหน้าที่การจ่ายยาเท่านั้น แต่ยังต้องทำหน้าที่การส่งเสริมป้องกันโรค การคัดกรองผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังระยะยาว หากทำให้หายจากโรคได้ จำเป็นต้องมีแรงจูงใจสำหรับร้านขายยาให้เข้าร่วมโครงการด้วย อาจเป็นค่าตอบแทนหรืออย่างไรคงต้องมาหารือกันในรายละเอียดอีกครั้ง หรือจะเป็นแรงจูงใจว่าถ้าหากผ่านโครงการร้านขายยาคุณภาพจะได้เป็นคู่สัญญากับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้” ภก.ภาวิช กล่าว

ภก.ภาวิช กล่าวด้วยว่า คุณภาพมาตรฐานของยาในร้านขายยาที่เข้าเป็นคู่สัญญาของสปสช.ให้คนป่วยมารับยาจากใบสั่งยาของพีซียูนั้น สมาคมเภสัชกรรมชุมชนจะเป็นผู้ควบคุมคุณภาพอีกระดับ โดยการสั่งซื้อยาพร้อมกันและกระจายยาไปตามร้านขายยาที่ต้องการ ทั้งนี้ หลายฝ่ายอาจมองว่าธุรกิจร้านขายยาลดลงหลังจากมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนทำให้ต้องมาเสนอแนวทางดังกล่าว แต่แท้จริงแล้ว สภาฯไม่ห่วงในเรื่องดังกล่าวเท่าใดนัก เพราะเชื่อว่าร้านขายยาเชิงธุรกิจก็ต้องต่อสู้ในเชิงธุรกิจต่อไป ดิ้นรนหาหนทางให้อยู่ต่อไปได้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่จะเสนอเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพีซียู

“การที่แพทย์สั่งจ่ายยาและนำใบสั่งจ่ายยาไปที่ร้านขายยาก็เป็นวิธีที่สากลปฏิบัติกันมานานแล้ว และเข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องอ่อนไหวระหว่างวิชาชีพมาโดยตลอด แต่หากคิดบนฐานประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ใครขวางไม่ได้”ภก.ภาวิชกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น