สปสช.รับลูก สภาเภสัชกรรม รับข้อเสนอให้ร้านขายยาเป็นผู้จ่ายยาแทนพีซียู เกรงส่งผลกระทบประชาชนยุ่งยากมากขึ้น เพราะต้องรับบริการรักษาพยาบาล 2 แห่ง รวมถึงกระทบความสัมพันธ์เภสัชกร-แพทย์ ยอมรับศูนย์สุขภาพชุมชนไม่มีเภสัชกรประจำควบคุม เหตุงบน้อย แต่พยายามพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีสภาเภสัชกรรมออกมาระบุว่า หน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care Unit : PCU) หรือ ศูนย์สุขภาพชุมชน ภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการให้บริการด้านเภสัชกรรมที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากไม่มีเภสัชกรประจำอย่างเพียงพอว่า สปสช.พยายามพัฒนาให้หน่วยบริการเหล่านี้มีคุณภาพมากขึ้น
โดยยอมรับว่า หน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ คลินิกชุมชนใกล้บ้านใกล้ใจไม่มีเภสัชกรประจำ เนื่องจากงบประมาณที่จำกัด ซึ่งปัจจุบัน สปสช.จัดสรรอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวให้กับคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ โดยรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งค่าบริการทางการแพทย์ ค่ายา ฯลฯ ซึ่งค่าจ้างเภสัชกรมีเพียง 600 บาทต่อคนต่อปี มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการจ่ายยาของพยาบาลวิชาชีพซึ่งเป็นผู้จ่ายยาโดยตรง
“ยินดีรับข้อเสนอของสภาเภสัชกรรมที่จะให้ร้านขายยาเป็นผู้จ่ายยาและบริหารจัดการคลังยา โดยจะมีการหารือร่วมกัน ซึ่งสภาเภสัชกรรมจะจัดทำข้อเสนอเชิงระบบและรายละเอียดข้อมูลทั้งหมดมายัง สปสช.เช่น ร้านยาคุณภาพว่ามีจำนวนมากน้อยเท่าใด และมีการกระจายตัวอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตามหลักการเบื้องต้น คือ คลินิกชุมชนใดที่ไม่มีเภสัชกรก็ให้แพทย์เป็นผู้สั่งยา แล้วผู้ป่วยนำไปสั่งยามาที่ร้านขายยาและให้เภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ให้ร้านขายยาเบิกงบประมาณกับ สปสช.หรือคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ” นพ.วินัย กล่าว
นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันคลินิกชุมชนที่ไม่มีทันตแพทย์ก็ใช้วิธีส่งต่อผู้ป่วยไปยังคลินิกทันตกรรมใกล้ๆ ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกันกับร้านขายยาเป็นผู้จ่ายยา ซึ่งในต่างประเทศมีการนำระบบนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย โดยมีการแยกงบประมาณด้านยาออกจากค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งการจ่ายยาโดยเภสัชกรย่อมดีกว่าพยาบาลวิชาชีพ เพราะสามารถให้คำแนะนำ อธิบายสรรพคุณของยา ข้อดีข้อเสีย แต่การเพิ่มเภสัชกรนั้น หากทุกคลินิกต้องมีเภสัชกรจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแม้แต่คลินิกเอกชนทั่วไปก็มักไม่มีเภสัชกรประจำเพราะถือว่าไม่คุ้มค่า
นพ.วินัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้อาจส่งผลกระทบกับประชาชนโดยตรง เนื่องจากอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการรับบริการรักษาพยาบาลเพราะต้องรับการรักษาที่หนึ่งแต่ต้องรับยาอีกที่หนึ่ง ซึ่งหากมีคลินิกอยู่ใกล้คงไม่ยุ่งยากนัก ดังนั้น อาจจะเริ่มจากคลินิกชุมชนใกล้บ้านใกล้ใจหรือพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน นอกจากนี้ อาจจะกระทบกับวิชาชีพแพทย์ เพราะเดิมแพทย์มีอำนาจในการสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างวิชาชีพได้