นักวิชาการ ชี้ “คลินิกชุมชนอบอุ่น ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” พื้นที่ กทม.ปัญหาเพียบ ค่ารักษาในการส่งต่อผู้ป่วยพุ่ง หวั่นทำคลินิกเดี่ยว บริการดี-ผู้ป่วยพอใจ เจ๊งหมด! เหตุแบกรับดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง-โรครุนแรงไม่ไหว เสนอตั้งงบกลางรับภาระค่าใช้จ่าย ส่วนพื้นที่ ตจว.พบเทศบาลยังให้ความสำคัญน้อยมาก
นพ.ภูษิต ประคองสาย นักวิจัยจากสำนักงานนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เปิดเผยถึงผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “คลินิกชุมชนอบอุ่น” ในสังกัดภาคเอกชนและเทศบาล สนับสนุนโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ว่า ภายหลังจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่เขตเมืองตั้งแต่ปี 2547 หรือที่รู้จักกันในนาม “คลินิกชุมชนอบอุ่น” ทั้งในส่วนพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด ปรากฏว่า สามารถช่วยประชาชนให้เข้าถึงบริการรักษาสุขภาพในระดับปฐมภูมิได้มากขึ้น โดยเฉพาะเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีคนยากจนอยู่จำนวนมาก และแต่เดิมไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพเท่าที่ควร ทั้งนี้ ในส่วนพื้นที่ กทม.นั้น คลินิกชุมชนอบอุ่นเป็นคลินิกสังกัดภาคเอกชน ในขณะที่ต่างจังหวัด คลินิกชุมชนอบอุ่นส่วนใหญ่จะสังกัดเทศบาล
นพ.ภูษิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาเริ่มมีเสียงบ่นจากคลินิกเอกชนใน กทม.ถึงปัญหาการดำเนินงาน โดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้จ่ายที่บางแห่งถึงขั้นขาดทุน และอาจต้องออกจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไป จึงได้มีการสำรวจข้อมูลการดำเนินงานของคลินิกเหล่านั้น พบว่า คลินิกชุมชนอบอุ่นสังกัดภาคเอกชนสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ ก) คลินิกย่อยที่เปิดดำเนินการโดยโรงพยาบาลเอกชนเป็นแม่ข่าย ข) คลินิกที่บริหารในรูปแบบเครือข่าย เป็นลักษณะแฟรนไชส์ ที่มีผู้บริการกลุ่มเดียวกัน แต่เปิดดำเนินการหลายสาขาในหลายพื้นที่ และ ค) คลินิกเดี่ยวที่เปิดดำเนินการเพียงแห่งเดียวและกำลังประสบปัญหาภาวะขาดทุน ซึ่งจากการสอบถามข้อมูล พบว่า มีสาเหตุหลักมาจากภาระค่าใช้จ่ายในการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรักษาต่อในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ (เช่น โรงพยาบาลชุมชนโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์)ซึ่งบางแห่งในปี 2551 ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีสัดส่วนสูงเกินกว่าร้อยละ 50 จากงบประมาณที่ได้รับจาก สปสช. จากเดิมในปี 2548 อยู่ที่ร้อยละ 6.2 เท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการส่งต่อผู้ป่วยสูงเพิ่มขึ้น พบว่า มาจากหลายปัจจัย ได้แก่ จำนวนผู้รับบริการที่เพิ่มมากขึ้น การผลักภาระกลุ่มผู้ป่วยส่งต่อของคลินิกที่ขาดความรับผิดชอบ ทำให้บางคลินิกที่เน้นคุณภาพงานบริการและรักษาพยาบาลต้องแบกภาระผู้ป่วยโรคเรื้อรังและโรคที่มีภาวะรุนแรง
การย้ายสิทธิ์ของผู้ป่วยเองเพื่อหาช่องทางในการเข้ารักษาในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์ ค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเรียกเก็บจากคลินิกสูงมากโดยเฉพาะในกรณีที่มีแม่ข่ายเป็นโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงเรียนแพทย์ ซึ่งแตกต่างจากโรงพยาบาลรัฐที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขหรือ กทม.
นพ.ภูษิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนย้ายวิธีการรักษา ซึ่งเดิมการเจ็บป่วยบางชนิดเคยถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยใน การเบิกจ่ายเบิกจากงบกลาง สปสช.ที่กันไว้ โดยมีเพดานราคากำหนด แต่เมื่อถูกจัดเป็นการรักษาในกลุ่มผู้ป่วยนอก จึงต้องเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากทางคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้คลินิกที่อยู่ในกลุ่มแฟรนไชส์ก็ประสบเช่นกัน เพียงแต่ผู้บริหารคลินิกบางคนมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการมากกว่า ซึ่งบางแห่งนำงบประมาณที่ได้รับจาก สปสช.มาเป็นต้นทุนในการบริหาร และเปิดรักษาผู้ป่วยในระบบประกันสุขภาพอื่นๆ เพิ่มเติมหรือผู้ป่วยที่จ่ายเงินสด ทำให้ได้กำไรอยู่ที่เลข 8 หลักขึ้นไป ขณะนี้บางแห่งเป็นการบริหารจัดการร่วมกันในหลายสาขาเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้คลินิกลักษณะดังกล่าวยังดำเนินการไปได้ด้วยดีในขณะนี้
“แม้ว่าการดำเนินงานคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่ กทม.จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ควรสนับสนุนให้มีการดำเนินการต่อไป เพราะว่าช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่ยากจนสามารถเข้าถึงหน่วยบริการปฐมภูมิได้ เพียงแต่ สปสช.ต้องแสวงหาช่องทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้คลินิกชุมชนอบอุ่นโดยเฉพาะคลินิกเดี่ยวอยู่รอด ทั้งการจัดตั้งงบกลางในการรับภาระค่าใช้จ่ายการส่งต่อผู้ป่วยนอกที่มีราคาแพง หรือการกำหนดเพดานค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น”
นพ.ภูษิต กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบ ขณะนี้ สปสช.กทม.รับทราบปัญหาดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างการวางแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งเชื่อว่า ในปี 2553 จะเห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมออกมาช่วยเหลือ
สำหรับคลินิกชุมชนอบอุ่นที่จัดตั้งโดยเทศบาลนั้น พบว่า บางพื้นที่มีการดำเนินงานโดยรับงบประมาณรายหัวจาก สปสช.และสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลเพิ่มเติม ปรากฏว่าสามารถช่วยให้ชาวบ้านเข้าถึงบริการระดับปฐมภูมิได้มากขึ้นโดยไม่ต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น กรณีคลินิกชุมชนอบอุ่นเทศบาลเมืองลำพูน ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ชาวบ้านและผู้ป่วยที่มารับบริการพึงพอใจ แต่มีปัญหาคือใช้ทรัพยากรสูงถึง 700 บาทต่อครั้ง การให้บริการผู้ป่วยนอก ขณะที่ จ.ราชบุรี เป็นกลุ่มที่ให้บริการในระดับกลางๆ คือ สามารถดำเนินการได้จากงบประมาณที่มีอยู่ แต่ทั้งนี้ การดำเนินงานของคลินิกชุมชนอบอุ่นในส่วนเทศบาลจะเป็นไปด้วยดีได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของคลินิกกับโรงพยาบาลในพื้นที่ที่เป็นแม่ข่ายรับส่งต่อผู้ป่วย ที่ต้องทำงานประสานความร่วมมือกัน