xs
xsm
sm
md
lg

“วิทยา” ฉะพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยฯ เก็บค่าบริหารสูงเกินจริง จ้องโยกให้ สปสช.คุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“วิทยา” เล็งปรับระบบจ่ายเงิน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เสนอส่งเงินให้ สปสช.แทน ชี้ บริษัทประกันฯ เก็บค่าบริหารจัดการสูงเกินจริง ฟันกำไรอื้อ “หมอวินัย” เห็นด้วย ระบุ พ.ร.บ.ไม่มีความจำเป็นเพราะคนไทยมีระบบประกันสุขภาพทุกคนแล้ว ปิ๊ง! เก็บภาษีน้ำมันเพิ่ม เหตุขับรถมากเสี่ยงมาก

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตนมีแนวคิดที่จะเสนอให้มีการดำเนินการเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นผู้ดูแล โดยให้นำเงินค่าประกันภัยที่จ่ายอยู่แล้วมาให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้บริหารจัดการ เพราะสปสช.มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาพยาบาล รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วย เพราะที่ผ่านมามีการหักค่าบริหารจัดการเบี้ยประกันภัยต่อปีเป็นจำนวนมาก

“ที่ผ่านมา ค่าบริหารจัดการของกองทุนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถใช้มากถึง 60% ของรายรับต่อปี ที่เหลือประมาณ 20% เป็นค่ารักษาพยาบาลของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจจะต้องหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ รมว.พาณิชย์ รมว.คมนาคม อธิบดีกรมการประกันภัย อธิบดีกรมการขนส่งทางบก บริษัทประกันภัยของเอกชน ฯลฯ อีกครั้ง แต่ไม่ใช่ให้งบประมาณเกือบทั้งหมดหายไปกับการบริหารจัดการ ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไร” นายวิทยา กล่าว

นายวิทยา กล่าวอีกว่า สำหรับแนวคิดดังกล่าว เป็นการนำงบประมาณให้ สปสช.มาบริหารจัดการ ซึ่ง สปสช.จะต้องใช้ในการรักษาพยาบาลคนไข้อยู่แล้ว โดยอาจจะคิดค่าบริหารจัดการประมาณ 10% ซึ่งสามารถหักงบประมาณส่วนนี้ ก่อนที่จะนำมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยที่ค่าบริหารจัดการคงไม่ใช่ 60% แน่นอน เพราะหากเป็นเช่นนั้น เทียบกับบริษัทเอกชนคงพังไปแล้ว เนื่องจากค่าบริหารจัดการสูงเกินจริง

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า หาก รมว.สาธารณสุข จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวจริงถือว่าเป็นเรื่องที่ดี มีประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก เนื่องจากในอดีตเมื่อเกิดอุบัติเหตุจราจรผู้ได้บาดเจ็บไม่มีผู้ใดมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล แต่ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวหมดไปแล้ว เพราะคนไทยทุกคนมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารองรับแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ประกันภัยรถยนต์อีกต่อไป

“จากงานวิจัยพบว่า คนไทยมีระบบประกันสุขภาพ 3 ระบบ ทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุจราจรก็กลับมีการเบิกค่ารักษาพยาบาลกับ สปสช.แทนที่จะเบิกจากบริษัทประกันภัยรถยนต์ตามพ.ร.บ.ดังกล่าว และสปสช.ก็ทำหน้าที่ในการเบิกจ่ายมาโดยตลอด เพราะการเบิกค่าชดเชยจากบริษัทมีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลานาน”นพ.วินัย กล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากจะยกเลิกการเก็บค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เสนอให้รัฐสามารถหาแหล่งงบประมาณสำหรับค่ารักษาพยาบาลกรณีอุบัติเหตุจราจร เช่น การคิดภาษีจากน้ำมันเชื้อเพลิง 1 สตางค์ ต่อลิตร ซึ่งหากยานพาหนะเติมน้ำมันเต็มถัง 50 ลิตร สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในระยะเวลา 1 ปีจะเสียค่าภาษีในส่วนนี้ 104 บาทต่อคันต่อปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าถูกกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายอยู่ ณ ปัจจุบันหลายเท่า

“การเพิ่มภาษีน้ำมันเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเก็บเพิ่มในปริมาณที่น้อยมาก แต่จำนวนของยานพาหนะในบ้านเรามีจำนวนมาก ยิ่งเติมน้ำมันยิ่งขับรถมากก็ยิ่งเสี่ยงชนคนและเกิดอุบัติเหตุมากตามไปด้วยโดยที่รัฐบาลไม่ต้องเรียกเก็บเงินเบี้ยประกันภัยรถยนต์แม้แต่บาทเดียว นอกจากนี้ก็มีวิธีอื่นๆในการหาเงินเพื่อใช้สำหรับเป็นค่ารักษาพยาบาลเมื่อเกิดอุบัติเหตุคือ ให้รัฐบาลไปเพิ่มภาษีของสินค้าอื่นๆ เช่น เหล้า หรือรัฐบาลเพิ่มเม็ดเงินไม่มากก็สามารถนำมาใช้รักษาพยาบาลได้” นพ.วินัย กล่าว

นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า แนวทางต่างๆ สามารถดำเนินการได้จริง เพียงแต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างจริงจังหรือไม่ หากรัฐบาลนำมาเป็นนโยบายและดำเนินการจริงจัง สปสช.พร้อมดูแลรับผิดชอบผู้ประสบภัยอุบัติเหตุอย่างเต็มที่ แต่ สปสช.คงไม่เป็นต้นเรื่องในการให้ยกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น