xs
xsm
sm
md
lg

ลำดับสถานการณ์จีเอ็มโอในประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลำดับสถานการณ์จีเอ็มโอในประเทศไทย

ปี 2538

กรมวิชาการเกษตรอนุญาตให้มีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ฝ้ายทีทีเข้ามาปลูกทดสอบตามเงื่อนไขกฎหมายกักพืช มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยมีตัวแทนจากบริษัทมอนซานโต้ 3 คนเป็นกรรมการ จนเกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านความไม่โปร่งใสจากนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ขณะที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้ลงข่าวแผนการส่งเสริมฝ้ายบีที (ฝ้ายบอลล์การ์ด : ฝ้ายเศรษฐี) ที่กระทรวงเกษตรเตรียมใช้งบประมาณของรัฐสนับสนุนให้เกษตรกรปลูก

28 เมษายน 2542
รมช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเนวิน ชิดชอบ แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาผลกระทบของการใช้ฝ้ายตัดต่อสารพันธุกรรม โดยมีนายอนันต์ ดาโลดม เป็นประธาน แต่ยังมีตัวแทนของบริษัทโนวาร์ติสร่วมเป็นกรรมการ ขณะที่องค์กรพพัฒนาเอกชนที่ติดตามเรื่องนี้โดยตรงมาตั้งแต่ต้นถูกกันไม่ให้เข้าร่วมเป็นกรรมการในชุดนี้โดยตรง

ระหว่างมิถุนายน – กรกฎาคม 2542
มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบฝ้ายตัดต่อสารพันธุกรรม 3 ครั้ง โดยนักวิชาการที่ทำการทดลองเสนอรายงานสรุปแก่กรรมการ ขณะที่ตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้าไปมีส่วนรับรู้ได้เสนอให้มีการตรวจสอบความปลอดภัย ทางชีวภาพเพิ่มเติมให้ครอบคลุมเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ขณะที่ข้อเสนอจากตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการบางท่านกับไม่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการ จนกระทั่งเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนได้ทำหนังสือถึง รมช.เนวิน ชิดชอบ และแถลงข่าวถึงความไม่ถูกต้องเหมาะสมของการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาผลกระทบบของการใช้ฝ้ายตัดต่อสารพันธุกรรม และให้การพิจารณาผลการทดสอบฝ้ายนี้ดำเนินอยู่บนความโปร่งใส ละเอียดรอบคอบ และระมัดระวัง

สิงหาคม 2542
มีการประชุมคณะกรรมการ ฯ ครั้งที่ 3 ซึ่งเสียงส่วนใหญ่สรุปว่าฝ้ายตัดต่อสารพันธุกรรมมีความปลอดภัย แต่มติของที่ประชุมได้เสนอให้คณะกรรมการ ฯ ที่ไม่เห็นด้วยทำข้อเสนอเป็นเอกสารแนบ ผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนจึงได้จัดสัมมนาวิชาการ “การพิจารณาข้อมูลผลกระทบของการใช้ฝ้ายตัดต่อสารพันธุกรรม” โดยเชิญคณะกรรมการ ฯ ที่ไม่เห็นด้วย และนักวิชาการที่เป็นกลางมาประชุมและรวบรวมเป็นข้อเสนอต่อคณะกรรมการ ฯ ขณะเดียวกันเครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทยก็ได้ออกมาแถลงข่าวอีกครั้งเพื่อเปิดโปงเงื่อนงำและความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการพิจาณาฝ้ายบีที

13 สิงหาคม 2542
กรมวิชาการเกษตรจัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “อนาคตพืชตัดต่อสารพันธุกรรมกับการพัฒนาการผลิตและปัญหาระหว่างประเทศ” ซึ่งเครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทยได้ทำหนังสือยื่นต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกา๖รเรื่อง “โปรดระงับการนำเข้าฝ้ายบีทีและพืชตัดต่อสารพันธุกรรมมาปลูกในประเทศไทย”

20 สิงหาคม 2542
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการตีพิมพ์ข่าวว่ามีเกษตรกรปลูกฝ้ายบีทีเคมาตั้งแต่ปี 2540

27 กันยายน 2542
กรมวิชาการจัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ท่าทีของประเทศไทยต่อกรณีจีเอ็มโอ” ซึ่งเครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิสุขภาพไทย โครงการทางเลือกเพื่อเกษตรกรและผู้บริโถค องค์กรประชาชน 5 องค์กร ยื่นหนังสือ เรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนและให้แจ้งความดำเนินคดีต่อบริษัทมอนซานโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด ให้กับ รมช.เนวิน ชิดชอบ พร้อมเมล็ดพันธุ์ฝ้ายบีที และผลตรวจสอบดีเอ็นเอ 2 ฉบับ

28 กันยายน 2542
10 องค์กรเกษตรกร ประกอบด้วย สมัชชาลุ่มน้ำมูล สมัชชาคนจน กลุ่มแนวร่วมพันธมิตรประชาชนอีสาน กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือกอีสาน กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือกภาคเหนือ กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือกภายใต้ กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือกภาคกลาง สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (1) ชุมนุมสหพันธ์สหกรณ์ภาคอีสาน และสภาหมอพื้นบ้านภาคอีสาน รวมตัวกันหน้าทำเนียบเพื่อยื่นจดหมายถึงนายกให้ยกเลิกการนำเข้าพืชแปลงพันธุกรรม และได้กันช่วยสำรวจและเก็บตัวอย่างพืชที่สงสัยว่าเป็นพืชแลงพันธุกรรมมาตรวจสอบดีเอ็นเอ

30 กันยายน 2542
รมช.เนวิน ชิดชอบ มีคำสั่งที่ 432/2542 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเมล็ดฝ้ายตัดต่อพันธุกรรมมาปลูกในแปลงเกษตรกรทั้งหมด 9 คน โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทยร่วมเป็นกรรมการ 2 คน

ตุลาคม 2542
มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ ฯ และกำหนดพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างฝ้ายไปตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งระหว่างที่มีการกำหนดพื้นที่เพื่อเตรียมเก็บตัวอย่างนั้นได้ปรากฎข่าวการหลุดลอดของฝ้ายบีทีในแปลงเกษตรกรในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และการขายเมล็ดพันธุ์ฝ้ายของร้านค้าท้องถิ่น ขณะที่การเสนอพื้นที่เก็บตัวอย่างจากตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนไม่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการส่วนใหญ่ การเดินทางเพื่อเก็บตัวอย่างฝ้ายจึงเกิดการแบ่งเป็น 2 เส้นทาง คือส่วนที่สื่อมวลชนไปกับคณะกรรมการของรัฐ และสื่อไปกับนักพัฒนา

29 ตุลาคม 2542
เครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทยทำหนังสือถึงนายเจริญ สุขอนันต์พงศ์ ประธานกรรมการตรวจสอบ ฯ เรื่องโปรดลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างฝ้ายบีทีในพื้นที่ที่ระบาดใน 8 พื้นที่ (จ.เลย และ จ.เพชรบูรณ์)

2 พฤศจิกายน 2542
นายเดชา ศิริภัทร และนายอุบล อยู่หว้า ตัวแทนจากเครือข่าย ฯ นำคณะกรรมการตรวจสอบ ฯ เก็บตัวอย่างฝ้ายในแปลงเกษตรกรที่ องวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ 2 ราย ซึ่งทั้งก่อนหน้าและหลังนี้คณะกรรมการตรวจสอบ ฯ ไม่ได้เก็บตัวอย่างฝ้ายในพื้นที่ที่เครือข่ายได้เสนอไป

30 พฤศจิกายน 2542
คณะกรรมการตรวจสอบ ฯ ประชุมสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงฝ้ายบีทีจากการเก็บตัวอย่าง 102 ตัวอย่าง ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จ.เลย ลพบุรี นครราชสีมา และ เพชรบูรณ์ พบว่ามีเพียง 9 ตัวอย่างที่มีผลเป็น จีเเอ็มโอ และเปิดโอกาสให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรออกมากล่าวหาว่านายเดชา ศิริภัทร เป็นผู้วางแผนกระจายฝ้ายบีทีขึ้นเอง จนเป็นเหตุให้เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน 6 องค์กร ได้เปิดแถลงข่าวให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีต่อผู้ละเมิดกฎหมายกักพืช : กรณีผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการยืนยันว่า ฝ้ายแปลงพันธุกรรมหลุดลอดไปปลูกในแปลงเกษตรกรจริง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2542 ส่วนหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันได้นำเสนอการปลูกฝ้ายบีทีครบวงจรที่ จ.นครสวรรค์

9 ธันวาคม 2542
6 องค์กรพัฒนาเอกชน เชิญนักวิชาการ และนักกฎหมายเพื่อประชุมเสวนา “จะใช้กฎหมายเพื่อควบคุมแก้ไขปัญหาพืชจีเอ็มโอได้อย่างไร” ซึ่งได้ข้อสรุปประเด็นและนำเสนอต่อสื่อมวลชน โดยย่อคือ สามารถนำกฎหมายกักพืช ฉบับปี 2542 รวมทั้ง พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม ปี 2535 และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาควบคุทเรื่องพืชจีเอ็มโอ และขอให้ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลดำเนินการและสั่งการให้แก้ไขปัญหาฝ้ายหลุดบีทีออกไปแพร่ระบาดซึ่งในขณะนั้นมีการสำรวจและประเมินพื้นที่การแพร่กระจายไปใน 13 พื้นที่ กว่า 20,000 ไร่

13 ธันวาคม 2542
6 องค์กรพัฒนาเอกชน ประกอบด้วย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก โครงการกฎหมายสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ เครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย และเครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย ได้เข้าแจ้งความกล่าวโทษอธิบดีกรมวิชาการ กรณีละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกักพืช โดยมี พ.ต.อ. สุชาติ เหมือนแก้ว รองผู้บัญชาการกองปราบปราม และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ผู้กำกับการ 1 กองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รับแจ้ง พร้อมรายชื่อพื้นที่สำรวจภาคสนามที่พบฝ้ายแปลงพันธุกรรม และ รายงานจากสื่อมวลชนที่พบฝ้ายแปลงพันธุกรรม

20 มกราคม 2543
นายเดชา ศิริภัทร นายเดชา ศิริภัทร ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และคณะกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีฝ้ายบีทีหลุดสู่แปลงเกษตรกรได้เข้ามอบ ตัวตามหมายเรียกผู้ต้องหา ครั้งที่ 2 ของสถานี ตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ในคดีที่ นายอนันต์ ดาโลดม อธิบดีกรมวิชาการ เกษตร ที่ได้มอบอำนาจให้นายศักดา กสิวิทย์ กล่าวหาว่า นายเดชาหมิ่น ประมาท ด้วยการใช้เครื่องขยายเสียง เจ้าพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้งนายเดชาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาโดยจะขอให้การในชั้นศาล และพนักงานสอบสวนได้ อนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์ และขึ้นศาลเพื่อให้การ

27มกราคม 2544
ด้วยความร่วมมือของคณะทำงานอังค์ถัด ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์กระประชาชน สื่อมวลชน และไบโอไทย จัดงานเวทีสาธารณะเรื่อง “ข้อเสนอภาคประชาสังคมต่อจีเอ็มโอ” ที่ห้องประชุมคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสรุปสถานการณ์และสถานะปัญหาจีเอ็มโอ ของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายองค์กรเกษตรกร และเครือข่ายกลุ่มผู้บริโภค แลพเพื่อระดมข้อคิดเห็นจากสื่อมวลชน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และเกษตรกร เพื่อกำหนดท่าที แนวทางในการรณรงค์ และข้อเสนอต่อสาธารณะกรณีจีเอ็มโอ

1 มิถุนายน 2543
โครงการวิจัยสิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล และคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ร่วมกันจัดเวทีสัมมนา “เทคโนโลยีชีวภาพกับผลกระทบสิทธิมนุษยชนและเกษตรกร” ที่ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของเทคโนโลยีชีวภาพในบริบทด้านสิทธิมนุษยชน ศีลธรรม และจริยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมที่มีต่อชุมชนท้องถิ่น เกษตรกร ประชาชน และกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม และเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของเทคโนโลยีชีวภาพที่มีต่อระเบียบโครงสร้างทางสังคมและกฎหมายแสวงหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาหลักการและข้อเสนอทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของชุมชนและเกษตรกร

และในไบโอไทย ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกอีสานได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนกับผู้นำเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหลักจากกรณีการแย่งชิงพันธุกรรมข้าวหอมมะลิในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ และพื้นที่ปลูกฝ้ายที่ จ.เลย และ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อนำเสนอสถานการณ์การและผลกระทบแย่งชิงพันธุกรรมข้าวหอมมะลิ และจีเอ็มโอ ร่วมวิเคราะห์กับเกษตรกรเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหา และเริ่มสร้างกระแสรณรงค์ในพื้น

15 – 16 สิงหาคม 2543

เวทีวิชาการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ พันธุวิศวกรรม และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของข้าวไทย เรื่อง “อนาคตข้าวไทย: เพื่อไทหรือเพื่อใคร?” โดยร่วมกับสถาบันทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเกษตรศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และเครือข่ายประชาชนปกป้องพันธุกรรมพื้นบ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลและความสำคัญของข้าว และการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ที่มีต่อระบบเกษตรกรรมไทยและสังคมไทย

และสถานการณ์ปัญหา รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการใช้พันธุวิศวกรรมในการพัฒนาพันธุ์ข้าว และการใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อครอบครองตลาดและเทคโนโลยีเกี่ยวกับข้าว อีกทั้งเป็นการระดมความคิดและข้อเสนอทั้งระดับปฏบัติการและระดับนโยบายในการปกป้อง ฟื้นฟู รักษา และพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้านของไทย

6 – 16 กันยายน 2543

ปัญหาความไม่โปร่งใส่และผูกขาดในการบริหารจัดการของรัฐในเรื่องจีเอ็มโอ รวมทั้งกรณีที่มีการนำฝ้ายบีทีซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมายมาปลูกอย่างกว้างขว้าง แพร่ระบาดไปกว่า 20,000 ไร่ โดยที่ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้แก้ปัญหา
องค์กรต่างๆของประชาชนในประเทศไทย ทั้งที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรเกษตรกร กลุ่มผู้บริโภค กลุ่มประชาสังคมในหัวเมือง นักวิชาการ นักการศาสนา รวมทั้งสื่อมวลชนต่างๆ จากทั่วไประเทศเห็นความสำคัญและจำเป็นในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนแก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวเมืองต่างๆ จึงรวมตัวกันเพื่อจัดการรณรงค์ระดับชาติครั้งสำคัญขึ้น ภายใต้ชื่อ “โครงการรณรงค์สัญจรปกป้องพันธุกรรมพื้นเมือง” “เศรษฐกิจไม่พึ่งพา รักษาข้าวปลาให้เป็นไท “

ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลสถานการณ์และปัญหาผลกระทบของพันธุวิศกรรม และระบบสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างครอบคลุมและรอบด้านการผูกขาด รวมทั้งด้านที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม เกษตรกรรม และการบริโภค ปลุกกระตุ้นและประสานความร่วมมือจากคนในชาติเพื่อรักษามรดกภูมิปัญญาและฐานทรัพยากรชีวภาพของชาติเอาไว้ให้เป็นฐานการพึ่งตนเอง และการกอบกู้ความเป็นไททางเศรษฐกิจของประเทศ

โครงการนี้ได้จัดสัญจรในกรุงเทพฯ และหัวเมืองสำคัญ คือ สงขลา เพชรบุรี ร้อยเอ็ด เลย และเชียงใหม่ อีกทั้งได้ประสานกับองค์กรพันธมิตรจากฟิลิปปินส์ อินเดีย มาเลเซีย มาร่วมรณรงค์ ขณะบริษัทมอนซานโต้และกรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการโดยดึงนักวิยาศาสตร์รางวัลโนเบลมาจัดประชุมเรื่องจีเอ็มโอในประเทศไทย และให้ข้อมูลสนับสนุนจีเอ็มโอเป็นการตอบโต้การรณรงค์ต่อต้านจีเอ็มโอในขณะนั้น

3 เมษายน 2544
มติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 ยับยั้งไม่ให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในแปลงทดลอง อย่างไรก็ตามรมช. ที่เกี่ยวข้องให้สัมภาษณ์ขัดแย้งกับการประชุมครั้งนั้น เรื่องนี้ยังสร้างความสับสนให้กับทุกฝ่าย

11 เมษายน 2544

กรีนพีซ เผยรายชื่อสินค้าอาหารนำเข้าที่ปนเปื้อนวัตถุดิบที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ ในวันที่ 10 เมษายน 44 หลังส่งตัวอย่างกว่า 30 ชนิดไปตรวจพบมีการปนเปื้อนจีเอ็มโอ 7 ชนิด พร้อมกับเรียกร้องให้ อ.ย.มีมาตรการติดฉลากสินค้า จีเอ็มโอ เพื่อเตือนผู้บริโภค เนื่องจากยังไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัดว่าอาหารจีเอ็มโอปลอดภัย

จากการที่กรีนพีซออกมารณรงค์และเรียกร้องต่อ อย.ผ่านสื่อทำให้ประเด็นจีเอ็มโอกลับมาเป็นที่สนใจของสาธารณะอีกครั้ง และในเวลาต่อมา อ.ย.ได้เชิญ ตัวแทนของกรีนพีซ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นคณะกรรมการร่วมร่างประกาศกระทรวงสาธารณะสุขเรื่องการแสดงอาหารที่ได้จากเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรม โดย รมต.สุดารัตน์ ได้ออกมาสัมภาษณ์ว่าให้เวลาในการจัดทำร่าง 3 เดือน

25 เมษายน 2544
คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน กรณีร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพแห่งชาติ โดยมีตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อควบคุมการวิจัย ทดลอง เผยแพร่ และการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของสิ่งมีชีวิตแปลงพันธุกรรมและอาหารแปลงพันธุกรรม ไม่ให้ส่งผลเสียหายต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเสนอกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรเกษตรกร องค์กรผู้บริโภค องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ องค์การธุรกิจ และผู้สนใจทั่วในการพิจารณาร่างกฎหมาย

9 – 10 กรกฎาคม 2544

"องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา" หรือ "โออีซีดี" (OECD: Organization for Economic Co-orperation and Development ) เรื่อง"เทคโนโลยีชีวภาพใหม่เกี่ยวกับอาหารและพันธุ์พืช : วิทยาศาสตร์ ความปลอดภัย และสังคม (NEW BIOTECHNOLOGY FOOD AND CROPS: SCIENCE, SAFETY AND SOCIETY) ระหว่างวันที่ 10 – 12 กรกฎาคม 2544 ในประเทศไทยโดยมีตัวแทนจากกว่า 30 ประเทศเข้าร่วม เพื่อโน้มน้าวให้ประเทศกำลังพัฒนารับรองหลักการและกฎเกณฑ์ของประเทศอุตสาหกรรม ทำให้ต้องนำเข้าพืชและผลิตภัณฑ์อาหารจีเอ็มโอจากกลุ่มประเทศโออีซีดีในท้ายที่สุด

เครือข่ายประชาชนต้านจีเอ็มโอ อันประกอบด้วย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ไบโอไทย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กรีนพีซ เอเชียแปซิฟิก และองค์กรประชาชนต้านโลกาภิวัฒน์ ร่วมมือกันต่อต้านจีเอ็มโอและการเข้ามาแทรกแซงของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมในการผลักดันนโยบายจีเอ็มโอในประเทศไทย ในการประชุมของ โออีซีดี ระหว่างวันที่ 10 – 12 กรกฎาคม 2544 ที่กรุงเทพฯ

และนัดเคลื่อนไหวและรณรงค์ใหญ่ในวันที่ 9 – 10 กรกฎาคม 44 โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ เช่น เครือข่ายประเทศโลกที่สาม (Third World Network) องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumer International) และกรีนพีซสากล (Green Peace International) ประกาศเข้าร่วมกิจกรรมและรณรงค์ร่วมกัน โดยจัดให้มีเวทีคู่ขนานกับการประชุมของโออีซีดี ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2544 ณ สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน (สะพานหัวช้าง) และการรณรงค์กับสาธารณะที่หน้าตึกสหประชาชาติในวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 เพื่อเปิดโปงพฤติกรรมการครอบงำ และแทกแซงนโดยบายภานในประเทศเรื่องจีเอ็มโอของโออีซีดี และแถลงจุดยืนของประชาสังคมในการต่อต้านพืชและอาหารจีเอ็มโอ

กรกฎาคม 2547

กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เปิดเผยข้อมูลผลการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระที่จำหน่ายโดยสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น ผลการตรวจสอบโดยห้องปฏิบัติการจีนสแกน (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการอิสระที่ได้รับความเชื่อถือระดับโลกพบว่าเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวปนเปื้อนจีเอ็มโอ นอกจากนี้ จากการสุ่มตรวจมะละกอแขกดำท่าพระในสวนเกษตรกรที่ซื้อเมล็ดพันธุ์มาจากสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น พบว่ามะละกออายุ 1 ปี ในสวนเกษตรกรอำเภอพล จังหวัดขอนแก่น มีการปนเปื้อนจีเอ็มโอ

การแพร่ระบาดของมะละกอจีเอ็มโอ ได้สร้างปัญหาผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไปต่างประเทศ ตลาดในสหภาพยุโรปเพิ่มการตรวจสอบสินค้าเกษตรไทยมากขึ้น รวมถึงปัญหาการผสมข้ามระหว่างมะละกอจีเอ็มโอที่หลุดออกไปกับมะละกอพันธุ์พื้นเมือง เรียกว่า เกิดปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรม (Gene Pollution)

ธันวาคม 2550

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ (ขณะนั้นนายธีระ สูตะบุตร ดำรงตำแหน่งรมว.กระทรวงเกษตรฯ) สามารถดำเนินงานทดลองวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ในแปลงทดลองของทางราชการได้ โดยจะต้องมีมาตรการป้องกันแก้ไขอย่างเข้มงวด ซึ่งที่ประชุม ครม.มีมติไม่อนุมัติข้อเสนออีก 2 ข้อ ที่กระทรวงเกษตรฯต้องการจะขอทดลองในห้องปฏิบัติการหรือโรงเรือนและในสภาพไร่นาทั่วไปที่เหมาะสมในการทดลองด้วย เพื่อให้กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่ทำการทดลองวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรม สามารถดำเนินการทดลองวิจัย ได้ครบทุกขั้นตอน เนื่องจากต้องการให้รอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ.. ... ก่อน

กรกฎาคม 2551

วันที่ 31 ก.ค.51 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 10 ศาลปกครองกลางนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่มูลนิธิเพื่อสันติภาพ กรีนพีซ เอส อี เอ เป็นผู้ฟ้องกรมวิชาการเกษตร (กว.) กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ กับพวกรวม 2 คน ว่าได้ละเลยต่อหน้าที่ โดยปล่อยให้มีการแพร่กระจายของมะละกอตัดต่อพันธุกรรม นอกพื้นที่สำนักวิจัยพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น เป็นเหตุให้พันธุ์มะละกอจีเอ็มโอออกไปสู่แปลงเพาะปลูกของเกษตรกร พร้อมทั้งขอให้ตรวจสอบมะละกอของเกษตรกรในจพื้นที่ด้วย

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรมวิชาการเกษตรปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ควบคุมดูแลการปลูกมะละกอจีเอ็มโออย่างเข้มงวด โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบความปลอดภัยภาคสนาม และคณะทำงานความปลอดภัยทางชีวภาพด้านเกษตร ตรวจสอบซ้ำ โรงเรือนที่ใช้ทดลองจีเอ็มโอมีการควบคุมตามมาตรฐาน และการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ ก็เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงเชื่อได้ว่ากรมวิชาการเกษตรไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ จึงเห็นควรให้ยกฟ้อง ทางด้านตัวแทนกลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะยื่นอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น