xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังคำประกาศอัปยศ ประหารอนาคตสมุนไพร - ทำลายเกษตรวิถีธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
****พลันที่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตรายปี 2535 ตีพิมพ์เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 โดยประกาศให้พืชสมุนไพรจำนวน 13 ชนิดกลายเป็นวัตถุอันตราย คนไทยทุกคนที่ชื่นชอบต้มยำกุ้ง หลงใหลรสชาติของยอดสะเดาน้ำปลาหวาน และชงใบชุมเห็ดเทศดื่มแทนน้ำชาเพื่อบรรเทาโรคเบาหวานและลดไขมันในเส้นเลือด ล้วนแล้วแต่ตั้งคำถามว่า กฎหมายที่มุ่งควบคุมการใช้เคมีเกษตรซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพของคนไทย และสะสมพิษภัยในสิ่งแวดล้อมจนถึงขั้นวิกฤตินั้น ได้ถูกนำมาใช้อย่างฉ้อฉลเพื่อประหัตประหารอนาคตของสมุนไพรไทยซึ่งมีคุณอนันต์อย่างเลือดเย็นได้อย่างไร ?
 
ที่มาและเบื้องหลังของประกาศฉบับอัปยศนี้ ต้องไม่ใช่มาจากบรรดานักวิชาการที่ขลุกอยู่ในห้องแล็บซึ่งผู้บริหารบางคนโยนบาปไปให้อย่างแน่นอน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น

1. เงามืดในกรมวิชาการเกษตร

ผู้ที่สามารถทำเรื่องใหญ่และแยบยลขนาดนี้ได้มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น คนแรกคือนักการเมืองใหญ่ที่วนเวียนยึดกุมอำนาจในกระทรวงเกษตรฯมาอย่างช้านานจนสามารถวางโครงข่ายคนของตัวเองยึดกุมหน่วยงานในกระทรวงนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

อีกคนคืออดีตข้าราชการใหญ่ที่ผันตัวเองมาเป็นนักการเมือง ทั้งสองคนนี้มีสายสัมพันธ์ล้ำลึกกับบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่ควบคุมการค้าเมล็ดพันธุ์และเคมีการเกษตรของโลก ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้บริหารในกรมสำคัญของกระทรวงแห่งนี้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมืองและอดีตข้าราชการที่แสวงหาประโยชน์ทำงานใกล้ชิดกับบรรษัทข้ามชาติและบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศ มาโดยตลอด

***นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนปัจจุบัน ตระหนักดีว่า ตนเองก้าวข้ามหัวข้าราชการดีๆ นับสิบนับร้อยคนมาดำรงตำแหน่งนี้ได้เพราะใคร? ทั้งๆ ที่ ถูกสอบสวนในคดีกล้ายาง 90 ล้านต้น และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น เตรียมชื่อคนอื่นเพื่อมาดำรงตำแหน่งนี้อยู่แล้ว แต่อิทธิพลของนักการเมืองผู้ใกล้ชิด “นายใหญ่” อีกคนมีพลังมากพอที่จะทำให้นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ยอมเกลี้ยกล่อมให้นายสมศักดิ์ เปลี่ยนใจ เพื่อลงนามในคำสั่งแต่งตั้งที่ตนเองลำบากใจในที่สุด

ทำไมกรมวิชาการเกษตรจึงมีความสำคัญมากมายถึงขนาดนั้น ?

เมื่อสองทศวรรษที่แล้ว ผู้ที่สามารถดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ ต้องเป็นคนในกรมและเป็นนักวิชาการแท้ๆ ที่มีความสามารถและมีภาพลักษณ์ทางวิชาการ กระทรวงทบวงกรมที่มีผลประโยชน์มากและยั่วน้ำลายนักการเมืองทุจริตและข้าราชการจอมโกงคือตำแหน่งผู้บริหารในกรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตร เสียมากกว่า เพราะสองหน่วยงานที่ว่าเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างด้วยเม็ดเงินมหาศาล แต่ขณะนี้สภาพการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยสิ้นเชิง

นักการเมืองและข้าราชการจอมโกงได้ทำให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่มีนักวิชาการที่ซื่อสัตย์ต้องมีภาพพจน์ที่แปดเปื้อนเพราะมีโครงการฉาวโฉ่เต็มไปด้วยผลประโยชน์มหาศาลผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเซ็ลทรัลเล็บ โครงการกล้ายาง 90 ล้านต้น โครงการพืชสวนโลก รวมทั้งการผลักดันฝ้ายและมะละกอจีเอ็มโอ จนมาถึงการประหารอนาคตของสมุนไพรไทยอย่างเลือดเย็น เพื่อประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติ

กรมวิชาการเกษตร กลายเป็นกรมเกรดเอ เพราะกลายเป็นกรมที่จะกำหนดทิศทางและวางกติกาในการใช้เมล็ดพันธุ์และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบรรษัทเคมีเกษตรข้ามชาติ (Multinational Agro-Industries) สามารถพัฒนาพืชจีเอ็มโอที่กำหนดทางพันธุกรรมได้ว่า เมื่อปลูกเมล็ดพันธุ์ของตนแล้วจะต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตัวเองกำหนดได้

กรมนี้เป็นผู้ดูแล พ.ร.บ.กักพืช ซึ่งเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะให้พืชจีเอ็มโอปลูกได้ในเชิงพาณิชย์หรือไม่ และกรมนี้ยังเป็นผู้ควบคุมการอนุมัติสารเคมีกำจัดพืชทุกชนิดว่าจะให้นำมาขายได้หรือไม่ ภายใต้หลักเกณฑ์อะไร ซึ่งแน่นอนว่าต้องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล

2. เงาทะมึนของบรรษัทข้ามชาติ

รายงานการวิจัยของกลุ่มเฝ้าระวังบรรษัทเมื่อปี 2007 ระบุว่า มอนซานโต้ และซินเจนต้า คือสองยักษ์ใหญ่ด้านเคมีเกษตรที่ได้ผลประโยชน์มหาศาลจากกิจการด้านเคมีเกษตรและเมล็ดพันธุ์ของโลกมอนซานโต้ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งด้านเมล็ดพันธุ์นั้น ครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์คิดเป็นรายได้ประมาณ 160,000 ล้านบาท/ปี และเป็นยักษ์ใหญ่เคมีเกษตรอันดับ 5 ครอบครองตลาด 120,000 ล้านบาท/ปี

ในขณะที่คู่แข่งของพวกเขาคือซินเจนตานั้น เป็นยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์อันดับ 3 มีรายได้จากการขายเมล็ดพันธ์ 65,000 ล้านบาท/ปี แต่เป็นยักษ์ใหญ่ด้านเคมีเกษตรอันดับ 2 ครอบครองสัดส่วนการตลาดสูงถึง 230,000 ล้านบาท/ปี ใกล้เคียงกับไบเออร์ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่หมายเลขหนึ่ง

***บรรษัทเหล่านี้ได้รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมที่เกี่ยวกับสารเคมี และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยดึงเอาอดีตข้าราชการใหญ่ที่มีอิทธิพลทางนโยบายมาเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ หรือเป็นที่ปรึกษา เพื่อผลักดันนโยบายที่ตนประสงค์ทั้งที่ทำอย่างเปิดเผยและไม่เปิดเผย

****สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลปี 2551 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ผลประโยชน์จากเคมีเกษตรนั้นมีมูลค่าสูงนับแสนล้านบาทเช่นเดียวกัน โดยแบ่งเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 18,566 ล้านบาท และปุ๋ยเคมี 78,944 ล้านบาท

สำหรับตลาดเมล็ดพันธุ์พืชในเมืองไทยนั้น ถ้าหากบริษัทข้ามชาติเหล่านี้สามารถผลักดันเมล็ดพันธุ์ลูกผสมหรือพันธุ์พืชจีเอ็มโอเข้ามาเปิดตลาดได้เป็นผลสำเร็จ นักวิชาการจากกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าตลาดสูงมากกว่า 100,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่าผลประโยชน์จากสารเคมีการเกษตรและเมล็ดพันธุ์จะมียอดขายรวมกันหลายแสนล้านบาท นี่คือผลประโยชน์มหาศาลที่บริษัทเหล่านี้จะได้รับ !

ผลประโยชน์มหาศาลนี้ย่อมเกาะเกี่ยวกับอำนาจทางการเมือง ดังนั้นจึงมีเรื่องร่ำลือกล่าวหากันว่า ในระหว่างการเลือกตั้งซ่อมวุฒิสมาชิกวุฒิสภาเมื่อปี 2544 นั้น มีรายงานข่าวว่า ผู้สมัครเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกคนหนึ่งได้รับเงินสนับสนุนเป็นจำนวนเงินสูงเป็นหลักสิบล้านบาทจากบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ทั้งนี้เพื่อตอบแทนที่ได้ผลักดันนโยบายปลูกพืชจีเอ็มโอและเป็นกระบอกเสียงในการปกป้องการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างเปิดเผยทั้งๆ ที่กระแสสังคมเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม

ในอนาคตอันใกล้ บรรดาบรรษัทข้ามชาติ และบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศจะกระโจนเข้ามาสู่การลงทุนเพื่อปลูกพืชพลังงานและพืชอาหารในพื้นที่มหาศาล เม็ดเงินจำนวนหลายหมื่นล้านบาทจนถึงหลายแสนล้านบาท จากตะวันออกกลาง จีน และประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ จะหลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทยและภูมิภาคนี้ กรมวิชาการเกษตร ในอนาคตจะมีบทบาทในการกำหนดพื้นที่ ชนิดของพืช และมาตรฐานของพันธุ์พืช สำหรับรองรับการลงทุนมหาศาลดังกล่าว

แค่กล้ายาง 90 ล้านต้นยังทำให้ข้าราชการขี้โกงและนักการเมืองขี้ฉ้ออิ่มเอมได้ขนาดนี้ แล้วการลงทุนหลายหมื่นล้านบาทจนถึงหลักแสนล้านบาทในอนาคตจะหอมหวลขนาดไหน ? นี่คือเหตุผลเบื้องหลังที่ต้องผลักดันคนของตัวเองเพื่อกุมอำนาจ สืบทอดอิทธิพล กลบเกลื่อนบาดแผลในอดีต และวางแผนโครงการใหญ่ๆ ในอนาคต

3. ขจัดนักเกษตรกรรมยั่งยืนให้พ้นทางเอานักส่งเสริมจีเอ็มโอเข้ามาแทน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2542 ขณะที่นายชนวน รัตนวราหะ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้เขียนตำรา ”เกษตรกรรมยั่งยืน” และศรัทธาในวิถีเกษตรกรรมที่ไม่ใช้สารเคมี คือผู้ได้รับคาดหมายว่าจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากอาวุโสสูงสุดและมีความเหมาะสมในทุกด้าน แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามที่หลายคนคาดการณ์

**** การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมคณะเพื่อไปดูงานพืชจีเอ็มโอที่ประเทศออสเตรเลีย พร้อมกับคณะผู้บริหารของบริษัทข้ามชาติ และข้าราชการคนสำคัญคนหนึ่งในกระทรวงเกษตรก่อนหน้าการแต่งตั้งอธิบดีคนใหม่ได้ไม่นาน

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนใหม่พลิกผันกลายเป็นชื่อของ “นายอนันต์ ดาโลดม” สมใจ “นายธีรยุทธ กันตรัตนากุล” เพื่อนสนิทของเขาซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารคนสำคัญของบริษัทมอนซานโต้ ประเทศไทย และกำลังผลักดันให้มีการปลูกทดลองฝ้ายจีเอ็มโอ นายธีรยุทธ เสนอให้กระทรวงเกษตรจัดตั้งกองทุนฝ้ายมูลค่า 1,800 ล้านบาท เพื่อใช้เงินภาษีของประชาชนซื้อเมล็ดพันธุ์ฝ้ายจีเอ็มโอจากบริษัทแจกจ่ายแก่เกษตรกร

แต่แผนการดังกล่าวล้มเหลวลง เมื่อถูกองค์กรภาคประชาชนร้องเรียนว่า การแต่งตั้งกรรมการทดสอบและส่งเสริมฝ้ายจีเอ็มโอเป็นไปโดยไม่ชอบเพราะมีการแต่งตั้งนายธีรยุทธ และพนักงานของมอนซานโต้รวม 3 คนเป็นคณะกรรมการด้วย

มิหนำซ้ำยังพบว่าฝ้ายจีเอ็มโอซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบว่ามีพิษภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ หลุดลอดออกไปปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม นายเนวิน ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้นไหวตัวทัน รีบชิงแต่ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวน ประกาศขึงขังว่าจะเอาคนผิดมาลงโทษ แต่เรื่องราวทั้งหลายแหล่กลับเงียบหายไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง

***มิหนำซ้ำ ชื่อของ “ธีรยุทธ กันตรัตนากุล” ผู้บริหารยักษ์ใหญ่ของบรรษัทข้ามชาติ อดีตผู้อำนวยการองค์การสวนยาง ซึ่งถูก ป.ป.ช. ตั้งกรรมการสอบสวนในข้อหาแทรกแซงเรื่องราคายาง กลับได้ดิบได้ดีเมื่อนายเนวิน ชิดชอบ ผลักดันให้กลายเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร จำกัด (เซ็นทรัลแล็บ) ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวฉาวโฉ่เช่นเดียวกัน และเป็นหนึ่งในคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เข้ามาตรวจสอบและส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ช.สอบสวนต่อหลังจาก คตส.หมดวาระลง

ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ของไทย ไม่อาจหาหลักฐานเอาผิดกับการทุจริตเกี่ยวกับเรื่องฝ้ายจีเอ็มโอได้ แต่กรณีเดียวกันที่เกิดในประเทศอินโดนีเซียนั้น กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง (Securities and Exchange Commission) พบหลักฐานว่า บริษัทมอนซานโต้ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ระดับสูงอินโดนีเซียระหว่างปี 2540-2545 เพื่อให้มีการอนุญาตปลูกฝ้ายจีเอ็มโอในประเทศดังกล่าว บริษัทมอนซานโต้ต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 1.5 ล้านบาทแก่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีในข้อหาสนับสนุนคอรัปชั่น

***ในขณะที่ในประเทศไทย กลุ่มคนสีเทาในแวดวงเกษตรยังคงโลดเล่นในสนามทางการเมือง หมุนเวียนสับเปลี่ยนเข้าไปเป็นบอร์ดบริหารของคณะกรรมการชุดต่างๆ ภายในกระทรวงเกษตรฯ และข้ามไปยังรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงอื่นๆ ทั้งที่มีประวัติถูกสอบสวนในเรื่องทุจริต บางคนได้รับการยกย่องให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อันเก่าแก่ นี่เป็นความอ่อนแอของสังคมไทยโดยแท้

4. ล้ม พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ฟื้นนโยบายปลูกพืชจีเอ็มโอ

ในช่วงรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ จุลลานนท์ เป็นช่วงเวลาการต่อสู้อย่างถึงพริกถึงขิงระหว่างบรรษัทข้ามชาติ กับขบวนการเกษตรกรรมตามวิถีธรรมชาติ และแน่นอนว่าฝ่ายขบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนและผู้ผลักดันให้เกิดระบบอาหารที่ปลอดภัยกลายเป็นฝ่ายตั้งรับ

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ร่วมกับเครือข่ายอโศก และขบวนการเกษตรกรรมอินทรีย์ ภายใต้การสนับสนุนทางวิชาการของ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ผลักดัน พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน โดยให้มีการจัดเก็บภาษีจากสารเคมีการเกษตรที่ทำให้เกิดอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภคเพื่อนำมาสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมที่คำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

แต่นายอานันต์ ดาโลดม อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรและวุฒิสมาชิกจากสุราษฎร์ธานี ที่มีนายสมชาย ชาญณรงค์กุลเป็นลูกน้องคนสนิท รวบรวมบริษัทค้าปุ๋ยและสารเคมีการเกษตรทั่วประเทศ เดินหน้าออกมาคัดค้านการผลักดันกฎหมายดังกล่าวอย่างเต็มสูบ โดยอ้างว่าเกษตรกรจะเป็นผู้เดือนร้อนจากมาตรการดังกล่าว

จนในที่สุด นายธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งไม่นิยมผักอินทรีย์แต่ชอบพืชจีเอ็มโอมากกว่าสบโอกาสแช่เข็งร่างกฎหมายดังกล่าว จนรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หมดวาระไปในที่สุด

*** ในระยะเวลาเดียวกันนั้น นายอนันต์ ดาโลดม ยังเป็นหัวเรือใหญ่ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ซึ่งมีคณะกรรมการบริหารประกอบไปด้วยบริษัทเคมีเกษตรและจีเอ็มโอ เช่น มอนซานโต้ ดูปองต์ และซินเจนต้า ร่วมกับนายธีระ สูตะบุตร ผลักดันให้รัฐบาลสุรยุทธ์ เดินหน้าให้มีการอนุญาตปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นาอย่างแข็งขัน พวกเขาทำสำเร็จไปชั้นหนึ่ง โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 ประกาศให้สามารถทดลองพืชจีเอ็มโอได้

แต่ด้วยแรงต่อต้านจากนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้หาญกล้าประกาศใช้ซีแอลยา และแรงสนับสนุนจากเครือข่ายวิชาการและภาคประชาชน ทำให้มติคณะรัฐมนตรีครั้งนั้น มีข้อความต่อท้ายว่า การขออนุญาตปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอสามารถทำได้ในสถานที่ราชการเท่านั้น อีกทั้งก่อนหน้าการทดลอง จะต้องมีรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เปิดให้มีการประชาพิจารณ์ และต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ องค์กรสาธารณประโยชน์ และภาควิชาการ

แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามของบรรษัทข้ามชาติไม่มีทางหมดสิ้นง่ายๆ คาดการณ์ว่า กลุ่มบรรษัทข้ามชาติจะอาศัยโอกาสที่มีอธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนใหม่ ผลักดันให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโออีกครั้งในเร็วๆ นี้

5. ทำลายอนาคตสมุนไพรไทย เพื่อผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติ

คำประกาศที่ระบุให้พืชสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย ซึ่งหากใครนำไปใช้ผลิตเพื่อขายเป็นสารกำจัดศัตรูพืช และควบคุมการเจริญเติบโตของพืช โดยหากไม่ไปจดแจ้งจะมีความผิดถึงขึ้นติดคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท นั้น สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อภาพลักษณ์ของสมุนไพร และต่อขบวนการเกษตรกรรมอินทรีย์ ซึ่งขณะนี้กำลังขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง และมีแนวโน้มจะสร้างผลกระทบแก่บรรดาอุตสาหกรรมเคมีข้ามชาติในอนาคตอันใกล้

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ปฏิเสธว่า เขาไม่ได้รู้ต้นสายปลายเหตุมาก่อน ที่กรมวิชาการเกษตรระบุให้พืช 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตราย เพราะเขาเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ไม่นาน มีเหตุให้ควรตั้งคำถามกับบทบาทของเขาหลายประการ

ประการแรก เขาไม่ทราบเลยหรือว่า ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้นตีพิมพ์เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ในขณะที่ข้อคัดค้านของตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 ในขณะที่เขาเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551

***ประการที่สอง เขาไม่ทราบเลยหรือว่า การชงเรื่องของกรมวิชาการเกษตรนั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกสมัยนายธีรชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นักการเมืองที่มาจากกลุ่มการเมืองที่ผลักดันให้เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดี

***ประการที่สาม เขาลืมไปแล้วหรือว่าในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2551 สมาคมผู้ประกอบธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่มีนายอานันต์ ดาโลดม อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เจ้านายเก่าของเขา ผู้ซึ่ง เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมดังกล่าว ได้เข้าพบและมีการประชุมเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย การแก้ไขปัญหาสารกำจัดศัตรูพืชด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกาศควบคุมสารสมุนไพร 13 ชนิด ที่เขาอ้างว่าประกาศเพื่อมิให้เกษตรกรถูกหลอกลวงจากสารกำจัดศัตรูพืชด้อยคุณภาพ ?

ประการที่สี่ เขาตอบคำถามได้หรือไม่ว่าทำไมต้องเร่งประกาศอย่างรวบรัด โดยใช้จดหมายเวียนขอความเห็นชอบแทนที่จะนัดประชุมตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น ?

***ประมาณการว่าหนึ่งในสี่ของเกษตรเริ่มหันมาใช้สมุนไพรเพื่อควบคุมแมลงเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเหตุผลความปลอดภัย แนวโน้มนี้กำลังสร้างผลกระทบต่อตลาดสารเคมีการเกษตร สังคมไทยต้องจับตากระบวนการประหารอนาคตของสมุนไพรและเกษตรกรรมตามวิถีธรรมชาติครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพราะพวกเราไม่ได้ต่อสู้กับกลุ่มข้าราชการและนักการเมืองสีเทาเท่านั้น แต่เรากำลังต่อสู้กับบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่ยืนทมึนอยู่เบื้องหลังพวกเขาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น