กรีนพีซหวั่นจีเอ็มโอเป็นมือที่สาม ทำลายความสัมพันธุ์ระหว่างคนไทยกับข้าวไทย จัดกิจกรรมรณรงค์ให้คนไทยปลูกรักให้ต้นข้าวกลางสวนรถไฟ ขณะที่อาจารย์มหิดลชี้ คนไทยรักข้าวน้อยลง และลดชั้นชาวนาจากกระดูกสันหลังของชาติให้เป็นแค่ชนชั้นรากหญ้า หวั่นเกิดวิกฤติข้าวใหญ่หลวงยิ่งกว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก
กรีนพีซจัดกิจกรรม "ปลูกรักให้ต้นข้าว" ณ สวนรถไฟ ในวันแห่งความรัก เมื่อวันที่ 14 ก.พ.52 โดยมีประชาชนที่มาเที่ยวพักผ่อนในสวนสาธารณะ ให้ความสนใจร่วมดำนาปลูกข้าวในแปลงสาธิตกันอย่างต่อเนื่อง โดยทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์" ร่วมสังเกตการณ์
ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีนายจรัลธรดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่ง น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนไทยตระหนักถึงความภูมิใจในข้าวไทย และกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการปกป้องข้าวไทยให้ปลอดภัยจากจีเอ็มโอ เพราะข้าวไทยเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก ประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งข้าวทั้งหมดที่ปลูกในแปลงสาธิตนั้น จะนำไปปลูกต่อในแปลงนาเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรในจังหวัดราชบุรี
นอกจากกิจกรรมหลัก คือการดำนาปลูกข้าวในแปลงสาธิต ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการข้าวไทยที่หนึ่งในโลก นิทรรศการงานศิลปะเกี่ยวกับข้าวไทย การแสดงดนตรีจากกลุ่มศิลปินชาวนาจากจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น ส่วนไฮไลต์เป็นการเสวนาเรื่อง "รัก(ษ์)ข้าวไทยอย่างไรให้เป็น" โดย นางอาภรณ์ ภูมิพันนา รองประธานมูลนิธิธรรมะเกษตรธรรมชาติ และ ผศ.เอี่ยม ทองดี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและปฎิบัติการ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล
นางอาภรณ์ กล่าวถึงข้าวไทยว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่คนไทยควรภาคภูมิใจและส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการปลูกข้าวนั้นไม่ยากเลย และคิดว่าทุกคนก็ปลูกข้าวได้ ซึ่งตนเองนั้นปลูกข้าวมากว่า 20 ปี โดยเริ่มหันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังเมื่ออายุ 48 ปี หลังจากที่ได้ตระหนักว่า สิ่งแวดล้อมที่เคยเห็นว่าสวยงามมาตั้งแต่เด็กเริ่มเสื่อมโทรมลงทุกที จึงตัดสินใจทำเพื่อพระแม่ธรณีโดยการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เป็นเวลา 2 ปี จึงได้เริ่มต้นทำอย่างจริงจังจนถึงปัจจุบัน
รองประธานมูลนิธิธรรมะเกษตรธรรมชาติ ยังบอกอีกว่าวิธีการทำนาของตนนั้นไม่พึ่งพาสารเคมี แต่นำพืชบางชนิดมาช่วยในแปลงนา เช่น หญ้าแฝก ช่วยเป็นกำแพงกั้นน้ำและรักษาหน้าดิน รวมทั้งให้ธาตุโพแทสเซียม ปลูกถั่วชนิดต่างๆ เพื่อให้ธาตุไนโตรเจนแก่ดิน เป็นต้น ซึ่งข้าวไทยนั้นมีหลายสายพันธุ์ เป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวพื้นเมือง มีสารอาหารมากมาย และแต่ละสายพันธุ์ก็แตกต่างกันไป คนไทยต้องช่วยกันรักษาข้าวไทยเอาไว้ และทุกคนก็สามารถปลูกข้าวได้ถ้ารักข้าวไทย มีหญ้าแฝก และมีพืชตระกูลถั่ว
ด้าน ผศ.เอี่ยม กล่าวว่า เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่กินข้าวกัน โดยไม่รู้ว่าคุณค่าของข้าวคืออะไร ไม่มีใครสนใจว่าข้าวมาจากไหน ทำไมข้าวถึงกินได้ ทำไมคนโบราณต้องทำขวัญข้าว และให้ความสำคัญกับข้าวมากมายขนาดนั้น ก็เพราะข้าวคือชีวิต คือสังคม คือวัฒนธรรม คือพืชสกุลที่เลี้ยงมวลมนุษย์อยู่ทุกวันนี้
"ปัจจุบันนี้คนไทยรักและเคารพข้าวน้อยลง ซึ่งความรักจะนำไปสู่ความเคารพ ความเกื้อกูลต่อกัน ทว่าสังคมไทยกินข้าวโดยปราศจากความเคารพมานานแล้ว ไม่มีการสอนให้เด็กกินข้าวอย่างเคารพ เมื่อเรากินข้าวโดยไม่เคารพ ก็ไม่ต่างอะไรกับที่คนในสังคมไม่เคารพซึ่งกันและกัน" รองผอ. จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท กล่าว
สำหรับสถานการณ์ระหว่างข้าวไทยและคนไทยในปัจจุบันนั้น ผศ.เอี่ยม เปรียบว่าเหมือนเป็นวิกฤติด้านความรัก ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับคนไทยมากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจในตอนนี้ก็ได้ พร้อมกับบอกว่าการรักข้าวไทยนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำนา ปลูกข้าว แต่เพียงเท่านั้น แต่รวมถึงการกินและใช้ข้าวอย่างเคารพ แต่การไม่เคารพข้าว แสดงถึงความไม่มีจริยธรรมในสังคม
"รักข้าวไทยต้องรักควาย รักชาวนา รักสิ่งแวดล้อมด้วย และรักวิถีแห่งข้าว เพราะกว่าจะได้ข้าวแต่ละเม็ดมาให้เรากิน ต้องผ่านกระบวนการมากมายที่ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของชาวนา เมื่อก่อนชาวนาได้รับยกย่องให้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ปัจจุบันถูกลดฐานะเป็นแค่ชนชั้นรากหญ้าเท่านั้น เป็นการลดชนชั้น ลดศักดิ์ศรีของชาวนา" ผศ.เอี่ยมกล่าว
"หากเราขาดกระดูกสันหลังไป เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่เดี๋ยวนี้กลับคิดกันว่า หากไม่มีชนชั้นรากหญ้าเราก็สบาย ไม่ต้องคอยตามแก้ปัญหาให้ชนชั้นรากหญ้าอีกต่อไป ฉะนั้นเราต้องรักและเคารพชาวนาด้วย ทำอย่างไรก็ได้ให้ชาวนามีความภาคภูมิใจ และควรช่วยกันส่งเสริมชาวนาไทย ไม่ใช่ช่วยกันเอาเปรียบชาวนา" ผศ.เอี่ยม กล่าวทิ้งท้ายและหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นจิตสำนึกของคนไทยให้รักข้าวไทยมากขึ้น.