"วิลิต เตชะไพบูลย์" ทายาทโรงแรมดัง เชื่อชาวนาเลิกจนได้ถ้าพยายามลดต้นทุนเพาะปลูก ทิ้งสารเคมี-ทำเกษตรอินทรีย์ ขณะเดียวกันต้องได้รับแรงสนับสนุนจากพลังภาคประชาชน ที่จะลุกขึ้นมาตรวจสอบข้าราชการที่ปล่อยให้มีจีเอ็มโอปนเปื้อน
ภายในนิทรรศการ "ข้าวไทยที่ 1 ในโลก” ที่จัดขึ้นโดยกรีนพีซระหว่างวันที่ 22-25 ม.ค.52 ณ เซ็นทรัลเวิร์ล ซึ่งในวันสุดท้ายได้จัดให้มีการนำเสนอเมนูอาหารปลอดจีเอ็มโอจาก "ข้าวกล้องแดงงอก” โดย อ.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ โรงเรียนธุรกิจอาหารไทยและนานาชาติ และการเสวนาเรื่อง "ดีอย่างไรเมื่อข้าวไทยปลอดจีเอ็มโอ"
ทั้งนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ได้พูดคุยกับ "วิลิต เตชะไพบูลย์" ทายาทธุรกิจโรงแรมดัง ที่ผันตัวไปทำนาและเขาได้ร่วมเสวนาในเวทีดังกล่าวด้วย
ต่อคำถามว่า ชาวนาไทยจะพ้นจากความยากจนหรือมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างไร วิลิตได้ตอบกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ปัญหาที่ทำให้ชีวิตชาวนาตกต่ำนั้นมีหลายปัจจัยแต่ก็ยังมีความหวังอยู่
ทั้งนี้จะแก้แค่จุดเดียวคือแก้ที่ราคาผลผลิตอย่างเดียวไม่ได้ หรือเอาเงินให้กู้อย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่ต้องแก้ที่ต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือ ความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร ทั้งเรื่องที่ดิน น้ำและการเข้าถึงเงินทุน รวมถึงทำอย่างไรชาวนาจะลดต้นทุนการผลิต ทั้งเรื่องปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และน้ำเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนเครื่องจักร
"เกษตรอินทรีย์คือคำตอบ หากลดต้นทุนได้ ไม่เพียงแค่ชาวนาที่จะรวยขึ้นแต่ประเทศจะร่ำรวยด้วย อย่างไรก็ดียังมีอุปสรรคคือ จะเป็นการขัดผลประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่ทั้งในและนอกประเทศ ในเรื่องจีเอ็มโอนั้น แม้แต่สหรัฐฯ ก็ไม่สามารถให้พืชปลอดจากจีเอ็มโอได้เพราะมีการปนเปื้อนเยอะ หากไทยทำได้ก็จะเป็นผู้นำในเรื่องนี้ แต่ก็น่ากังวลคือมะละกอของเรามีการปนเปื้อนไปแล้ว โดยมีการ "แกล้ง" ให้เกิดการปนเปื้อนโดยข้าราชการที่เกี่ยวข้องแต่กลับไม่ถูกลงโทษ" วิลิตกล่าว
อย่างไรก็ดี เขาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงแค่การปรับตัวของเกษตรกรเท่านั้นที่จะลดต้นทุนการเพาะปลูกด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ปลอดจีเอ็มโอ แต่สังคมและประชาชน ซึ่งเป็นพลังในฐานะผู้บริโภคที่จะช่วยสนับสนุนเกษตรกรและช่วยตรวจสอบการทำงานของข้าราชการที่ไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกับปรากฏการณ์กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบภาคการเมือง
"ไม่ว่าการเมือง สิ่งแวดล้อมหรือจีเอ็มโอ ล้วนต้องอาศัยพลังประชาชนในการตรวจสอบ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากปัญหาที่มาจากคนที่ชอบเอารัดเอาเปรียบ แล้วสังคมต่างหลับใหล ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของเราเอง เราจึงต้องร่วมกันรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมไว้" วิลิตกล่าว
ทั้งนี้ วิลิตได้กล่าวระหว่างการสนทนาหัวข้อ "ดีอย่างไรเมื่อข้าวไทยปลอดจีเอ็มโอ" ว่า เขาหันมาทำนาเพราะตลอดอายุกว่า 40 ปี เขาได้เจอภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่หลายรอบ และสังคมก็สอนให้มีการแข่งขันกันมากมาย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะไม่มีความสุข เราควรคิดถึงเหตุผลที่แท้จริงมากกว่าตามกระแส เช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า "เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง" ซึ่งเขาได้เริ่มปลูกข้าวตั้งแต่ปี 2543
“คนกรุงเทพฯ นั่งรถไปต่างจังหวัด ผ่านทุ่งนา แต่เราไม่เคยจอดรถเฉียดหรือลงไปสัมผัสเลย แม้แต่รวงข้าวเป็นอย่างไร เรายังไม่รู้ ทั้งที่เรากินข้าวอยู่ทุกวัน เราเห็นชาวนาจูงควาย แต่ไม่รู้ว่าเขาทำนากันอย่างไร เราแล่นผ่านชีวิตเพื่อนที่สร้างประเทศเราเลย เรารู้แต่วิชาชีพที่เราใฝ่ฝันจะเป็น รู้เรื่องไอที คอมพิวเตอร์ เศรษฐกิจ แต่ชีวิตที่ผ่านไปทุกวันเราไม่รู้เลย เป็นเรื่องแปลก" วิลิตกล่าว
เขาเล่าว่าปลูกข้าวมา 10 ปี สนุกดี ทุกอย่างใหม่หมด สนุกและได้ออกกำลังกาย การไถนาก็ไม่ต่างจากตีกอล์ฟ ตากแดดเหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราให้คุณค่ากับอะไร สำหรับผมคือการได้ปลูกข้าว การลงไปเรียนรู้ได้เปิดโลกทัศน์มากกว่าระบบโรงเรียน มหาวิทยาลัย ยกตัวอยางการเตรียมดิน
"ถ้าไม่เคยลองปลูกข้าว เราก็ไม่รู้ว่าสำคัญอย่างไร เตรียมดินมีทั้งแบบเก่า แบบใหม่ ใช้เครื่องจักร ใช้สัตว์ แต่ชีวิตชาวนาที่ถูกไล่เบี้ยด้วยดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้เขาต้องเร่งทำ และได้ข้าวคุณภาพแย่ลง"
“กรมการข้าวเก็บข้าวไว้กว่า 6,000 พันธุ์ ก่อนหน้านี้มีมากกว่านี้ มีทั้งข้าวต้นสูง ข้าวต้นเตี้ย ข้าวไร่ ข้าวหนี้น้ำที่ไม่กลัวน้ำท่วม ซึ่งลำต้นสูงขึ้นเมื่อเกิดน้ำท่วม แต่ที่เราปลูกข้าวส่งออกมีไม่เกิน 4 พันธุ์ อย่างข้าวหอมมะลิ ข้าวแข็ง ข้าวชัยนาท พันธุ์ข้าวพื้นเมืองถือเป็นคลังพันธุกรรมของข้าว ภูมิปัญญาปู่ย่าตายายที่สั่งสมกันมาเป็นสิ่งที่ใครมาปล้นไม้ได้ ผมปลูกข้าวปีละไม่กี่ตัน ไว้กินและขายเพื่อเผยแพร่ และพยายามทำให้กลุ่มเพื่อนชาวนาได้ลด ละ เลิก ใช้สารเคมี และหันมาสะสมพันธุ์ข้าวที่มีความแตกต่างในเรื่องสี รสชาติหรือความต้านทานโรค" วิลิตกล่าว
ด้าน อ.ยิ่งศักดิ์ซึ่งร่วมเสวนาในหัวข้อเดียวกันกล่าวว่า ได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อย ส่วนหนึ่งเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีและความก้าวหน้าใหม่ๆ และสิ่งหนึ่งที่ได้รู้คือ "ฝรั่งรักข้าวไทย" และชาวต่างชาติมองว่าข้าวไทยต้องเป็นผลผลิตจากธรรมชาติ และไม่อยากได้ข้าวที่เป็นผลผลิตเชิงพาณิชย์มากเกินไปและหาความแตกต่างไม่ได้ อีกทั้งในฐานะคนทำอาหารเมื่อได้ทราบว่าไทยมีพันธุ์ข้าวอยู่มาก ยิ่งรู้สึกสนุก เพราะจะมีอะไรให้ทำอีกเยอะ เฉพาะข้าวหอมมะลิก็มีอะไรให้ทำเยอะแล้ว
“ในความรู้สึกของ อ.ยิ่งศักดิ์ เกษตรกรที่จะประสบความสำเร็จต้องเป็นเกษตรกรแบบปัญญา เข้าใจเกษตร เข้าใจธรรมชาติ ที่ผ่านมาเราหลงทางมาตลอด รุ่นพ่อ-รุ่นแม่เราเอาข้าวลงไปตำ ได้แกลบก็เอาไปทำปุ๋ย เพาะปลูก ข้าวที่กินก็มีวิตามิน และเดี๋ยวนี้เขาเริ่มตระหนักกันเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับ อ.ยิ่งศักดิ์คือ 1.ไม่ใช่จีเอ็มโอ 2.ไม่ใส่สารกันบูด 3.ปราศจากยาฆ่าแมลง และ 4.เป็นผลผลิตอินทรีย์ เราจะมีสุขภาพที่ดีได้เพราะอาหารดี และคุณก็เป็นคนไทยที่มีสมองสู้กับโลกได้เพราะคุณกินอาหารดี" อ.ยิ่งศักดิ์กล่าว
ส่วน น.ส.ณัฐวิภา อิ๋วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีซ กล่าวว่า ข้าวอินทรีย์ต้องปลอดจีเอ็มโอ แต่ตอนนี้กำลังมีข้าวจีเอ็มโอเข้ามาในไทยโดยการนำของบริษัทข้ามชาติ เราจึงจำเป็นต้องปกป้องข้าวไทย ทั้งนี้จุดแข็งของข้าวไทยคือปลอดจีเอ็มโอ และปีนี้กรีนพีชมีโครงการรณรงค์เรื่องข้าวให้ปลอดจีเอ็มโอ และปลูกบนวิถีเกษตรยั่งยืน คือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ผู้ขาดการค้าและเกษตรกรต้องพึ่งพาตนเองได้
สำหรับเมนูอาหารจาก "ข้าวกล้องแดงงอก" ที่ อ.ยิ่งศักดิ์แนะนำและสาธิตวิธีทำได้แก่ อาหารคาวคือ "ข้้าวกล้องแดงงอกกับยำแตงกวาไข่ต้ม" และของหวานคือ "ข้างกล้องแดงเปียกรวมมิตร" โดยระหว่างสาธิตการทำอาหารทั้งของคาวและของหวาน เขาได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของผู้บริโภคว่า ความต้องการของผู้บริโภคมีส่วนกำหนดทิศทางการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการ เช่น เมื่อก่อนเราต้องรอกินทุเรียนตามฤดูกาล แต่เราไปอุตริอยากกินนอกฤดูกาลก็มีคนพัฒนาทุเรียนนอกฤดูกาลออกมา ทำให้หากินได้ง่าย แต่ทุเรียนราคาตก และทำให้เกิดการใช้สารเคมีอีกมากมาย เป็นต้น
ข้าวกล้องแดงงอกกับยำแตงกวาไข่ต้ม
สิ่งที่ต้องเตรียม ได้แก่
- น้ำปลา 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
- พริกขี้หนูซอย 1ช้อนโต๊ะ
- กุ้งแห้งเนื้อโขลกละเอียด
- แตงกวาคว้านไส้ออกหั่นเป็นไส้เฉพาะเนื้อ 100 กรัม
- หอมแดงซอย 20 กรัม
ไข่ต้ม ผ่าครึ่ง 1 ฟอง
วิธีทำ
- ผสมน้ำปลากับน้ำมะนาว และพริกขี้หนูซอยเข้าด้วยกัน ชิมรสตามชอบ
- เติมแตงกวา กุ้งแห้ง หอมแดง เคล้าผสมเบาๆ มือ ตักใส่จาน โรยหน้าด้วยผักชี รับประทานคู่กับข้าวกล้องงอกและไข่ต้ม
ข้าวกล้องแดงเปียกรวมมิตร
สิ่งที่ต้องเตรียม
- น้ำ 500 ซีซี
- ใบเตย 3 ใบ
- น้ำตาลทราย 100 กรัม
- เกลือป่น ¼ ช้อนชา
- แป้งท้าวยายม่อม 1 ช้อนโต๊ะ
- ข้าวกล้องแดงงอกหุงสุกแล้ว 200 กรัม
- เม็ดบัวต้มสุก แปะก๊วยต้มสุก ลูกเดือยต้มสุก และถั่วแดงต้มสุก 100 กรัม
วิธีทำ
- ต้มน้ำกับใบเตยและข้าวกล้องงอกหุงสุกจนเปื่อยนิ่ม เติมเม็ดบัว แปะก๊วย ลูกเดือย และถั่วแดง ต้มจนเดือด แล้วใส่น้ำตาลทราย เกลือป่น เติมแป้งท้าวยายม่อมที่ละลายแล้ว คนจนเข้ากัน เติมกะทิหยอดหน้าเมื่อรับประทาน
สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับกะทิยอดหน้า
- กะทิสำเร็จรูป 250 ซีซี
เกลือป่น 1 ช้อนชา
แป้งข้าวโพด 2 ช้อนชา
วิธีทำ
ผสมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ต้มจนเดือด จึงยกลง
ส่วนวิธีทำข้าวกล้องงอกนั้น อ.ยิ่งศักดิ์แนะว่าให้แช่ข้าวกล้องด้วยน้ำปริ่มๆ ไว้ 1 คืน จากนั้นนำออกมาห่อผ้าขาวบาง 1 วันจะได้ข้าวกล้องที่มีตุ้มเล็กๆ งอกออกมา ซึ่งข้าวกล้องงอกจะมีสาร "กาบา” บำรุงประสาทเพิ่มขึ้นจากข้าวกล้องธรรมดา