ปัจจุบันกระแสการรักสุขภาพขยายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์ความเร่งรีบของวิถีประจำวันที่ทำให้คนใช้ร่างกายหนักขึ้น เผชิญมลพิษมากขึ้น ประกอบกับมีโรคอุบัติใหม่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้มีการหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นตามไปด้วย จนในขณะนี้ แม้กระทั่งอาหารหลักอย่าง “ข้าว” ก็มี “ข้าวสุขภาพ” หลากหลายรูปแบบ ออกมาให้เลือกรับประทานกัน หนึ่งในข้าวสุขภาพที่กำลังอยู่ในความสนใจในกลุ่มรักสุขภาพก็คือ “ข้าวงอก”
-1-
เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้ใช้เวลากว่า 20 ปี ในการค้นคว้าและพัฒนาการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้าวงอก ว่า การกินข้าวงอกเพื่อสุขภาพนั้นเริ่มต้นจากประเทศจีน จากนั้นก็เลยไปที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะแพร่ไปทั่วโลก
“ในข้าวทุกประเภททุกสายพันธุ์จะมีสารที่เรียกว่า กาบา (Gaba - Gamma-Aminobutyric acid) แต่ก็จะมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป มีงานวิจัยออกมาว่า สารกาบามีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งทำให้จิตใจสงบ ช่วยบำรุงเซลล์ประสาท และยังมีแป้งน้อยกว่าข้าวธรรมดาถึง 4 เท่า เหมาะต่อผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน ทั้งยังทำให้คลายเครียด ลดความกังวล และทำให้อารมณ์ดี หลายๆ คนเลยให้ชื่อเล่นของข้าวงอกว่า ข้าวอารมณ์ดีครับ”
ผอ.มูลนิธิข้าวขวัญ อธิบายต่อไปว่า สำหรับคนที่ไม่เคยทราบข้อมูลเกี่ยวกับข้าวงอกมาก่อนเลยนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า “ข้าวงอก” คือ ข้าวที่เอาเปลือกออกแล้ว แต่ยังไม่ได้ขัดสี ลักษณะก็คือ “ข้าวกล้อง” ทั่วไปที่รู้จักกันนั่นเอง การจะนำข้าวมาทำข้าวงอกนั้น ต้องใช้ข้าวกล้องเท่านั้น จะพันธุ์ใดก็ได้ งอกได้เหมือนกันหมด
“ส่วนที่จะงอกได้ คือ ส่วนที่เป็นจมูกข้าว นั่นเป็นสาเหตุให้การทำข้าวงอก ต้องทำจากข้าวกล้องเท่านั้น เพราะข้าวกล้องยังไม่ได้สีเอาจมูกข้าวออกไป ถ้าเป็นข้าวสารขาวๆ นั่น เขาสีออกไปหมดแล้ว จมูกก็หลุด เอามาแช่ยังไงก็ไม่งอก เพราะส่วนที่งอกได้มันไม่มีแล้ว ในส่วนของสารกาบา ในข้าวกล้องธรรมดาก็มี แต่ในข้าวงอกจะมีมากที่สุด คือ ประมาณ 15 เท่าของข้าวกล้องธรรมดา ถ้ามองในเชิงปรัชญา การงอกของข้าวงอกมันหมายถึงชีวิต เมล็ดข้าวจะมีพลังชีวิตขณะที่มันกำลังงอก”
เดชาอธิบายว่า ในความเป็นจริงแล้ว ข้าวงอกก็ไม่ใช่ของใหม่เสียทีเดียวนักในประเทศไทย เพราะมีภูมิปัญญามานานแล้วในภาคเหนือและอีสาน ที่มีการทำ “ข้าวฮาง” ที่มีกรรมวิธีคล้ายคลึงกับการทำข้าวงอก แต่จุดประสงค์ไม่ใช่ทำไปรับประทานเพื่อสุขภาพ แต่เป็นการทำให้ข้าวนุ่มขึ้น รับประทานง่ายขึ้น โดยในแต่ละชุมชนก็จะมีวิธีการทำแตกต่างกันออกไปตามการสืบทอดของแต่ละแห่ง
สำหรับวิธีการทำข้าวงอกสูตรของ ผอ.มูลนิธิข้าวขวัญ ก็ไม่ยากเย็นอะไร เคล็ดลับเพียงอย่างเดียวที่เขาแนะนำ ก็คือ ข้าวที่จะนำมาเพาะ ต้องเป็นข้าวกล้องใหม่ๆ ที่สีเอาเปลือกออกมาไม่เกิน 2 สัปดาห์ จึงจะดี แต่ข้าวกล้องที่บรรจุในถุงขายตามศูนย์การค้าทั่วไปก็พอจะเพาะได้ เพียงแต่ก่อนจะนำมาเพาะ ควรทดลองเพาะแต่น้อยๆ ประมาณ 5-10 เมล็ดเสียก่อน เพื่อตรวจสอบว่าเพาะแล้วจะขึ้นหรือไม่
“ไม่ยากเลยครับ นำข้าวกล้องที่เราต้องการจะเพาะเป็นข้าวงอกไปแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้น พอเช้า เราก็เทน้ำทิ้ง แล้วเอาผ้าเปียกมาห่อข้าวนั้นไว้ให้ชื้นและอุ่นๆ จากนั้นพอเย็น เราก็มาเปิดดู ถ้ามันงอก ตรงจมูกข้าวมันจะมีตุ่มสีขาวๆ นูนขึ้นมา นั่นแสดงว่าเพาะขึ้น แต่ถ้าเป็นหน้าหนาว อากาศเย็น มันจะขึ้นยากหน่อย พอแช่ไว้ 1 คืน อาจจะต้องห่อผ้าไว้ 2 วันจึงจะขึ้น และจากเท่าที่ทราบว่ามีการวิจัย เห็นว่าจังหวะที่ดีที่สุดที่จะนำมาหุง ก็คือช่วงที่งอกได้ประมาณ 1 มิลลิเมตรครับ”
เดชา อธิบายวิธีการเพาะข้าวงอกต่อไปว่า เมื่อเพาะแล้วเห็นว่าข้าวกล้องที่เพาะงอกขึ้นมา 1 มิลลิเมตรแล้ว ก็นำไปหุงตามปกติ ข้าวที่หุงได้จะนุ่มกว่าข้าวกล้องธรรมดา แต่สำหรับคนที่ไม่สะดวกแช่ข้าวทุกครั้งที่จะรับประทาน ก็สามารถทำเก็บไว้ได้ ด้วยการแช่ข้าวและห่อด้วยผ้าเปียกจนงอก พองอกได้ที่ ก็นำไปตากจนแห้ง ใส่โหลไว้เหมือนข้าวสารปกติ แต่ถ้าจะทำเก็บไว้มากๆ ต้องระวังเรื่องของมอดแมลงอยู่สักหน่อย เพราะข้าวกล้องงอกจะมีกลิ่นหอมมากกว่า การรบกวนจากมอดแมลงจะมากกว่าข้าวสาร
นักพัฒนาข้าวรายนี้ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ข้าวกล้องที่นิยมรับประทานกันมี 3 สี คือสีขาว จำพวกข้าวกล้องหอมมะลิขาว, สีแดง เช่น ข้าวกล้องมันปู ข้าวกล้องหอมมะลิแดง หรือข้าวหอมกุหลาบแดง และสีดำคือข้าวกล้องหอมนิล เป็นต้น
“ใช้ข้าวกล้องอะไรก็ได้ครับ ข้าวมันปูก็จะเป็นที่นิยม แต่จะหาซื้อยากหน่อย เพราะก่อนหน้านี้มีกระแสนำข้าวมันปูไปทำน้ำอาร์ซีป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง ข้าวมันปูจึงเป็นที่นิยมซื้อหามากกว่าเพื่อน”
เดชา กล่าวต่ออีกว่า ตอนนี้กระแสข้าวกล้องงอกเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูง วิตามินสูง มีวิตามินอี ธาตุเหล็ก แมงกานีส และแร่ธาตุดีๆ อื่นๆ อีกมากมาย และที่สำคัญคือ การเปลี่ยนเป็นน้ำตาลของข้าวกล้องงอกจะน้อยกว่าข้าวสารปกติที่นิยมรับประทานกัน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาลอย่างยิ่ง
เดชา กล่าวต่อไปอีกว่า ก่อนหน้านี้ ที่จะมีการวิเคราะห์วิจัยข้าวงอก ก็มีการรณรงค์การรับประทานข้าวกล้อง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หรือคนทั่วไปที่สนใจรักสุขภาพก็หันมาบริโภค แต่ข้าวกล้องหุงสุกมีความแข็ง บางคนที่ไม่ชอบก็จำต้องรับประทานแบบไม่ค่อยมีความสุขนัก แต่ข้าวงอกจะตอบโจทย์ผู้ที่ไม่ชอบความแข็งของข้าวกล้องธรรมดาได้
“หุงแล้วจะนิ่มกว่าข้าวกล้องธรรมดาครับ และได้คุณค่าทางอาหารสูง เคี้ยวแล้วจะพอดีๆ ไม่เหมือนข้าวสารหอมมะลิที่จะแฉะๆ ก็ทำให้คนที่รักสุขภาพที่ไม่ชอบความแข็งของข้าวกล้องธรรมดา มีทางเลือกของข้าวสุขภาพมากขึ้น และกินอย่างความสุขขึ้น”
ถึงตรงนี้ หลายคนอ่านแล้วอาจชักจะเริ่มสนใจเจ้าข้าวงอกนี้ขึ้นมาบ้าง แต่ไม่รู้จะไปหาซื้อที่ไหน เดชาไขข้อสงสัยข้อนี้ว่า ขณะนี้ในเมืองไทยเท่าที่เห็น ยังไม่มีการทำข้าวงอกออกมาขายเป็นถุงอย่างข้าวสาร ข้าวเหนียว หรือข้าวกล้องอื่นๆ ในแต่ต่างประเทศพอจะพบบ้างแล้ว แต่อยู่ในรูปของซุปข้าวงอกสำเร็จรูปที่ชงน้ำร้อนพร้อมดื่ม
“ไม่แน่ใจครับ ยังไม่เห็นว่าทำเป็นข้าวงอกแพกถุงขาย แต่ถ้าเป็นข้าวกล้องใหม่ๆ นำมาเพาะเองมีเยอะครับ ถ้าอยู่ต่างจังหวัดก็หาซื้อได้ตามกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เช่นที่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สุรินทร์ ยโสธร สุพรรณบุรีครับ แต่ถ้าไม่สะดวกก็ตามปั๊มที่มีร้านขายของเกษตรอินทรีย์ครับ ซื้อไปเพาะได้” เดชา สรุป
-2-
ด้าน ผศ.ดร.สุดารัตน์ เจียมยั่งยืน อาจารย์ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลของการงอกต่อสมบัติและการเปลี่ยนแปลงทางคุณค่าอาหารบางประการของข้าวกล้องหอมมะลิไทย” ระบุว่า เท่าที่ทดลอง ปรากฏว่า ข้าวกล้องหอมมะลิแดงจะแข็งกว่าชนิดขาว ทำให้งอกได้ยากกว่า
“ตอนนี้เน้นการศึกษาไปในส่วนของข้าวที่งอกแล้ว เราพบว่า ความแข็งของข้าวจะลดลงเมื่อเพิ่มเวลาการเพาะหรือการแช่ให้นานขึ้น นอกจากนี้ยังมีปริมาณวิตามินอีเพิ่มมากขึ้นประมาณ 2 เท่า และมีปริมาณเอนไซม์อัลฟาอะไมเลสมากขึ้น ข้าวงอกที่ผ่านการหุงสุกมีความนุ่ม มีกลิ่นข้าว การพองตัวของเมล็ดข้าวมากขึ้น และไม่มีจุลินทรีย์หลงเหลืออยู่ นอกจากนี้ ในส่วนของกรรมวิธีทำให้สุกของข้าวงอกนั้น จะสั้นกว่าข้าวสารปกติ คือใช้เวลาหุงสุกน้อยกว่า หุงสุกเร็วกว่า และข้าวที่ได้ออกมาก็นุ่มมากกว่า”
ในขณะที่ ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรประจำโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้ศึกษาด้านคุณประโยชน์ของข้าว กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลก็มีการจัดอบรมรวมถึงเผยแพร่ความรู้ในเรื่องของกรรมวิธีการเพาะข้าวงอกและประโยชน์ด้านสุขภาพของข้าวงอก
“ในข้าวงอกมีสารกาบาสูงกว่าข้าวกล้องธรรมดา 15 เท่า สารกาบานี้มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะมันเป็นสารสื่อประสาททำให้ลดและคลายความกังวล เป็นยาแก้เครียดอย่างอ่อน ซึ่งใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ดีกว่าการให้ยาแก้เครียด ที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแฮงค์ คือ มีสารจากยาตกค้างจนบางครั้งทำให้เมื่อตื่นในตอนเช้า ผู้ป่วยมีอาการไม่สดชื่น”
ภญ.ผกากรอง ให้ข้อมูลต่อไปอีกว่า งานวิจัยของเธอยังไม่ได้ทำถึงการดูการเปลี่ยนจากแป้งเป็นน้ำตาลของข้าวกล้องงอก แต่ในต่างประเทศ มีการนำข้าวกล้องมาเป็นอาหารประจำของผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากข้าวกล้องมีความหยาบ เนื่องจากไม่ได้ถูกขัดสี ดังนั้น ร่างกายจะใช้เวลาในการย่อยนานกว่า การเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลจึงสม่ำเสมอ
“ก็มีเหมือนกันที่ผู้ป่วยเบาหวานของเรา มีปัญหาน้ำตาลขึ้นสูงแบบพรวดพราดหลังรับประทานข้าวขาวธรรมดา ซึ่งเราพบว่า ข้าวขาวที่ถูกขัดสีออกไปหมดนั้น จะเหลือแต่คาร์โบไฮเดรตล้วนๆ ซึ่งจะย่อยเร็ว ทำให้น้ำตาลในแป้งออกมาสู่ร่างกายมากและไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้น้ำตาลในร่างกายผู้ป่วยเบาหวานจะไม่คงที่และสูงเร็วพรวดพราด และยังไม่ได้วิจัยไปถึงเรื่องน้ำตาลในข้างกล้องงอก แต่เชื่อว่าน่าจะดีกว่าข้าวขาวแน่นอน เพราะในต่างประเทศก็ให้ผู้ป่วยเบาหวานกินข้าวกล้อง เพราะย่อยยาก ร่างกายค่อยๆ ดูดซึม ทำให้น้ำตาลออกมาสม่ำเสมอ ข้าวกล้องงอกซึ่งไม่ได้ขัดสีเหมือนกัน ก็น่าจะดีต่อผู้ป่วย แถมยังมีสารกาบาที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าข้าวกล้องธรรมดา 15 เท่าอีกด้วย” เภสัชกรผกากรอง ทิ้งท้าย
หมายเหตุ : เอื้อเฟื้อภาพจาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=spicy