xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวไทย มารดาอาหารโลก (ทุกสถาบัน)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในปี พ.ศ. 2549 บริษัทไบเออร์ หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตยาปราบศัตรูพืชของสหรัฐฯ ได้ทดลองปลูกข้าวตัดต่อพันธุกรรม พันธุ์ลิเบอตี้ ลิงค์ (LL601) ลงในแปลงทดลองแบบเปิดระดับไร่นาจนเกิดการปนเปื้อนขึ้นกับข้าวปกติ และได้แพร่กระจายไปใน 30 ประเทศ จากออสเตรเลียถึงฟิลิปปินส์ และแพร่เข้าสู่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าปนเปื้อนก็ปาเข้าไป 5 ปี

ผลพวงครั้งนี้สร้างหายนะทางการเงินให้กับอุตสาหกรรมข้าวสหรัฐฯ ถึง 1.2 พันล้านเหรียญ ที่แสบกว่าคือก่อนหน้านั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าว (รวมทั้งรายอื่นๆ ด้วย) พยายามผลักดันข้าวจีเอ็มโอมาสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกและส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ครอบครองความเป็นจ้าวอุตสาหกรรมข้าวแบบเบ็ดเสร็จซะเอง

แต่ไทยยังไม่พลาดท่า...แถมตีแสกหน้ากลับด้วยสถิติระดับโลก!

ข้าวไทยขึ้นแท่น, ขอโทษ! ที่หนึ่งของโลกซะด้วย
เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมากรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จัดกิจกรรม 'ข้าวไทยที่หนึ่งในโลก' ขึ้นเพื่อเผยแพร่ความดีงามของข้าวไทยในวาระที่กินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ดได้บันทึกไว้ว่าไทยส่งออกข้าวมากที่สุดในโลกเมื่อปี 2550 ซึ่งสถิติระดับโลกในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากทางกรีนพีซฯ ได้เสนอชื่อประเทศไทยเข้าชิงเมื่อต้นปี 2551 โดยอ้างอิงข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งได้บันทึกไว้ว่าไทยส่งออกข้าวในปี 2550 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 8,094,000 ตัน คิดเป็น 27% ของตลาดข้าวทั่วโลก มีมูลค่าราว 123,700 ล้านบาท และถ้าย้อนกลับไปดูสถิติการส่งออกตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยครองความเป็นหนึ่งมาอย่างสม่ำเสมอ โดยข้าวที่ส่งออกได้แก่ข้าวพันธุ์ปทุม ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว และข้าวผสม

"กรณีลิเบอร์ตี้ลิงค์แสดงให้เห็นว่า ข้าวจีเอ็มโอเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือ การพบข้าวจีเอ็มโอวางขายในห้างสรรพสินค้าในฟิลิปปินส์"

แดเนียล โอคัมโป ผู้ประสานงานด้านรณรงค์พันธุวิศวกรรมกรีนพีซ ผู้ที่เปิดโปงเรื่องพบข้าวปนเปื้อนจีเอ็มโอวางขายในห้างสรรพสินค้าเมืองมะนิลา ได้ให้ความเห็นไว้ในวารสารกรีนพีซ และถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ท้องไร่ท้องนาบ้านเราทุกวันนี้ยังคงปลอดข้าวจีเอ็มโอ 100% โดยกลุ่มผู้ส่งออกข้าวในไทยได้ประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนแล้วว่าไม่สนับสนุนข้าว จีเอ็มโอและก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับกรมการข้าว ซึ่งคาดว่าจะเป็นเกราะป้องกันอย่างดีที่จะทำให้ข้าวของไทยยืนระยะในตลาดโลกได้อีกยาวนานในฐานะอาหารคุณภาพและบริสุทธิ์ และยังช่วยคงความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไว้อีกด้วย

แต่ถ้าวันหนึ่งประเทศไทยซึ่งส่งออกข้าวมากกว่าสหรัฐฯ ถึง 3 เท่าเกิดการปนเปื้อนจีเอ็มโอขึ้นมาล่ะ หายนะอะไรบ้างจะเกิดขึ้น...

ย้อนไปดูวิวัฒนาการข้าวในบ้านเราที่มีการปรับปรุงพัฒนาจนได้สายพันธุ์ที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่าง 'ข้าวหอมมะลิ' นั้น มิใช่โดดจากหลอดทดลองแล้วพุ่งพรวดขึ้นกลางนาแต่อย่างใด หากแต่เกิดจากการคัดสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งบรรพกาล

เดิมทีข้าวหอมมะลินั้นเป็นข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่ปลูกใน ต.หนองประดู่ อ.บ้านโพธ์ จ. ฉะเชิงเทรา ความที่ข้าวพันธุ์นี้เวลาหุงแล้วจะส่งกลิ่นหอมมะลิอ่อนๆ ขจรขจายไปทั่วชวนให้ชาวบ้านชาวช่องท้องร้องไปตามๆ กัน จึงถูกขนานนามว่า 'ข้าวมะลิหอม' ต่อมาในปี 2493 ซึ่งเป็นช่วงที่การทำนาข้าวในระบบสมัยใหม่เริ่มต้นขึ้นแล้ว นายสุนทร สีหะเงิน เจ้าพนักงานข้าวในสมัยนั้นได้รับมอบหมายให้เก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวคุณภาพเห็นว่าข้าวมะลิหอมมีลักษณะดี จึงรวบรวมมา 200 รวงมาปลูกเพื่อคัดพันธุ์ที่ดีที่สุด ปรากฏว่ารวงที่ 105 ให้ผลผลิตดีที่สุด จึงได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า 'ข้าวขาวดอกมะลิ 105' และได้นำไปส่งเสริมการปลูกพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ใน 5 จังหวัดคือ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธร มหาสารคาม ศีรสะเกษ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในประเทศไทยและของโลก

ทุกวันนี้ ข้าวดอกมะลิ 105 ได้รับการปรับปรุงขึ้นอีกหลายสายพันธุ์เพื่อปลูกในไทย รวมทั้งต่างประเทศยังได้นำพันธุ์ไปปรับปรุงเพื่อแข่งข้าวหอมกับเราบ้าง อย่างเช่น 'จัสมิน 85' ปลูกในสหรัฐฯ 'ซองยิน 85' ปลูกในจีน 'เบงกาวัน โซโล' ปลูกในอินโดนีเซีย 'บีอาร์ 1' ปลูกในบรูไน 'ไออาร์ 841' ในอาร์เจนตินา 'เอ็มพาสัค 104' ปลูกในบราซิล แต่ถึงอย่างไรความอร่อยลิ้นนั้นชาวโลกยังคงยกนิ้วให้ข้าวหอมมะลิจากไทย

นี่แค่ข้าวพันธุ์เดียวก็สาวประวัติกันได้ยาวเหยียด ซึ่งถ้าจะเล่ากันต่อแบบเดินไปฟังไป 3-4 ทุ่งนาก็ยังไม่น่าจะจบง่ายๆ แวะพักกินน้ำกินท่า หาข้าวหาปลารองท้องกันก่อนดีมั้ย?

เอ้า! นั่งก่อนๆ กินข้าวกินปลากันมารึยัง?
ข้าวที่กำลังฮอตฮิตกันตอนนี้คงจะหนีไม่พ้น 'ข้าวกล้องงอก' ข้าวกล้องที่ผ่านการสีไม่เกิน 1 เดือนแล้วนำไปเพาะให้จมูกข้าวงอกขึ้นมา เมื่อข้าวกล้องงอกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของแป้ง น้ำตาล และโปรตีน ทำให้เกิดสารชีวะเคมีหลายชนิด ชนิดหนึ่งที่สำคัญคือสารกาบา (GABA : Gamma Amino Butyric Acid) เป็นกรดอะมิโนที่ทำหน้าที่สื่อประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยให้เราผ่อนคลาย หลับสบาย คลายความเครียด (น่าจะเหมาะกับเศรษฐกิจในช่วงนี้) แถมยังช่วยชะลอความแก่ ขจัดพิษในร่างกาย คุมระดับน้ำตาล ลดความดันเลือด สลายไขมันในลำไส้ ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ แถมยังช่วยขับสารแห่งความสุขอีกต่างหาก เรียกว่าข้าวเป็นยาเลยก็ว่าได้ ทำให้คนเฒ่าคนแก่สมัยนั้นไม่ต้องสรรหาวิตามินมากินเสริมก็ยังดูแข็งแรงกระชุ่มกระชวย ผิวพรรณเปล่งปลั่งกันได้

มีเรื่องเล่ากันมาว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดที่จะเสวยข้าวใหม่มาก (ข้าวใหม่คือข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยว) เพราะทั้งนุ่มและมีกลิ่นหอม แต่จะหุงให้ออกมาพอดิบพอดีนั้นยากนัก พระองค์จึงทดลองหุงเองเพื่อหาสูตรในการหุงที่ลงตัว จากนั้นก็เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายทั่วไปถึงขนาดมีคำเรียกคู่หนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานกันใหม่ว่า 'ข้าวใหม่ ปลามัน' เพราะเมื่อความอร่อยของข้าวใหม่มาบรรจบกับความมันของปลาในช่วงหลังน้ำหลากด้วยแล้ว... มื้อนั้นจะหาสุขใดปาน

ปัจจุบันจะหาข้าวใหม่ และปลามันกินก็คงยังไม่ยากนัก หากแต่ข้าวที่จะอร่อยเหมือนในอดีตคงไม่ใช่ข้าวขัดขาวจนซีดที่เห็นบรรจุถุงขายกันตามห้างฯ แน่นอน และที่สำคัญมีพันธุ์อร่อยๆ ให้เลือกมากกว่าหอมมะลิ เสาไห้ และตาแห้ง แน่ๆ
ลองมาดูกันว่าข้าวพื้นบ้านที่ยังพอหากินได้อยู่มีพันธุ์อะไรกันบ้าง

ข้าวสังหยด (บ้างก็เขียนว่าสังข์หยด)
ข้าวสังหยดเป็นข้าวพื้นบ้านภาคใต้ ปลูกมากที่จังหวัดพัทลุง หุงแล้วมีกลิ่นหอม รสนุ่ม เคี้ยวมัน มีเรื่องเล่าว่า ครอบครัวหนึ่งมีลูกมาก แม่ได้เอาข้าวที่ปลูกมาสีและหุงให้ลูกกิน เมื่อตักให้คนแรกกินจึงตักให้คนต่อไปตามลำดับ แต่ยังไม่ทันที่จะถึงคนสุดท้าย ลูกคนแรกก็มาขอข้าวเพิ่มอีกจานเพราะอร่อยมากจนแม่ตักให้ลูกกินไม่ทัน แม่เลยพูดขึ้นมาว่า "ไม่เอาแล้ว สั่งหยุด ปีหน้าไม่ปลูกแล้ว" จึงกลายเป็นข้าวสั่งหยุด คดไม่ทัน ด้วยสำเนียงการพูดของคนใต้ และการกร่อนเสียงต่อๆ กันมาเลยกลายเป็นข้าวสังหยดในปัจจุบัน จริงแท้แค่ไหนไม่ทราบได้ แต่คนในรั้วในวังเล่าต่อกันมาว่าพระราชินีทรงโปรดข้าวชนิดนี้เพราะเป็นยาแก้เหน็บชา และคนเก่าคนแก่เมืองพัทลุงก็ยังคงกินข้าวชนิดนี้เป็นประจำ ว่ากันว่าเข้ากับอาหารใต้ได้ดีนักแล

ข้าวเล้าแตก
เป็นข้าวเหนียวประจำถิ่นอีสาน หุงแล้วอ่อนนุ่ม รสหวานน้อย มีเรื่องเล่าว่าผู้เฒ่าคนหนึ่งปลูกข้าว เมื่อเก็บเกี่ยวก็เก็บข้าวขึ้นเล้า (ยุ้ง) แต่เก็บยังไงก็ยังไม่พอใส่เลยสร้างเล้าขึ้นมาใหม่แล้วเก็บข้าวไว้จนแน่น แต่ไม่นานเล้านั้นก็แตก ผู้คนเห็นเข้าก็เล่าขานกันว่าข้าวพันธุ์นี้ให้ผลผลิตมากจนเล้าแตก เลยเรียกว่า ข้าวเล้าแตก กันสืบมา นึ่งเสร็จจะนำมากินกับลาบ ก้อย น้ำตก ส้มตำ เขาว่าอร่อยกันถึงไรฟัน

ข้าวแม่ฮ้าง
ลักษณะข้าวเหนียวประจำถิ่นอีสานพันธุ์นี้มีขนเยอะทำให้เก็บเกี่ยวยากและรวงหนักมาก จนผัวเมียที่เก็บเกี่ยวข้าวด้วยกันเหนื่อยล้าและคันตามเนื้อตามตัวจนเกิดอาการหงุดหงิดและทะเลาะกันจนเลิกรากันไปในที่สุด จนเป็นที่มาของชื่อข้าวพันธุ์นี้ที่เรียกว่าข้าวแม่ฮ้าง ซึ่งแปลว่าแม่ม่ายนั่นเอง

ข้าวพญาลืมแกง
เป็นข้าวเหนียวที่ขึ้นชื่อในเรื่องความหอมนุ่ม อร่อยมาก กินข้าวไปเผลอๆ ลืมแกงไปเลย

ข้าวหวิดหนี้
เป็นข้าวเหนียวอายุสั้น เก็บเกี่ยวได้เร็วทันข้าวรุ่นเก่าที่หมดพอดี หรือเอาไปขายใช้หนี้ได้ทันกำหนดเลยเรียกว่า ข้าวเหนียวหวิดหนี้

ข้าวเหนียวหมากม่วย
ช่วงวันออกพรรษา ข้าวออกเป็นน้ำนมพอดี ชาวบ้านจะนำข้าวหมากม่วยมาตำ และนำน้ำจากเมล็ดข้าวมากวนทำเป็นข้าวทิพย์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ข้าวเหนียวนางนวล
มีกลิ่นหอมนุ่มมาก ความหอมของข้าวพันธุ์นี้เป็นที่เล่าขานกันว่า เวลานึ่งข้าวครั้งใด กลิ่นหอมจะโชยถึงขนาดสุนัขต้องเกาเสาเรือนเมื่อนั้น

ข้าวเจ้าเนียงกวง
เป็นข้าวพื้นบ้านของคนเชื้อสายเขมรแถบอีสานใต้ ชื่อเนียงกวงแปลว่านางคง หรืออย่าได้ขาดหายไป ต้องปลูกเอาไว้ในนาเสมอ และมีความเชื่อว่ากินแล้วทำให้ร่างกายแข็งแรง ต้านทานโรคและช่วยให้กระดูกแข็งแรง

นอกจากที่ว่ามาแล้วนั้นยังมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอีกหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น หอมเสงี่ยม, นางนวล, อีหลูบ, ขาวใหญ่, หอมแพพะโล้, ปิ่นแก้ว, มันเป็ด, ดอมะขาม, ดอขาว, ป้องแอ๊ว, หอมสามกอ ฯลฯ ทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้าเหล่านี้นำไปกินกับอาหารพื้นเมืองได้เกือบทุกภาค ซึ่งในปัจจุบันอาจจะหาซื้อยากสักหน่อยแต่มีแนวโน้มในการเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นเพราะคนสมัยนี้หันมาให้ความสนใจอาหารการกินที่เป็นยาตามธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

เอ้า! กินขนมล้างปากก่อนแล้วค่อยไป
'ขนม' มาจากคำว่า 'ข้าวหนม' เป็นข้าวผสมกับน้ำอ้อยหรือน้ำตาล ขนมพื้นบ้านของไทยส่วนใหญนั้นมาจากข้าวทั้งที่เป็นข้าวเม็ดๆ และแบบแปรรูปเป็นแป้ง เนื่องจากข้าวเคียงคู่อยู่ในวีถีชีวิตของคนไทย เราจึงได้เห็นข้าวและขนมอยู่ในงานพิธีต่างๆ มากมาย

คนสมัยก่อนไม่ได้มีขนมกินทุกวันเหมือนเราตอนนี้ นานๆ จะได้กินกันตามพิธีสำคัญๆ สักที แล้วกว่าจะได้กินนี่ก็ต้องพิถีพิถันอยู่ไม่น้อย เริ่มกันตั้งแต่ชักชวนเพื่อนบ้านร้านตลาดมาร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้ละมือ ใครถนัดอะไรก็ว่าไปตามนั้น มีเครื่องเคราก็ออกเครื่องเครา มีฝีมือก็ฝากฝีมือ นั่งล้อมวงกันบนสาดเสื่อใต้ถุนบ้าน มือหยิบจับปากก็ขยับ คุยกันไปแซวกันมา ทำให้ขนมในวันก่อนๆ จึงไม่ใช่แค่ของหวานชุ่มลิ้น หากแต่ยังเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนอีกด้วย
มารู้จักขนมที่ทำจากข้าวกันบ้างดีกว่า เผื่อไว้กินล้างคาวปากกัน

ขนมขี้ม้า
ขนมขี้ม้ามีชื่อเดิมว่าขนมมะเดื่อ เพราะถ้าผ่ากลางออกมาจะคล้ายกับผลมะเดื่อ ใช้ข้าวเหนียวสันป่าตองและข้าวเจ้านิดหน่อยมาแช่น้ำแล้วตำออกมาให้เป็นแป้ง นำแป้งมานวดแล้วผสมงาลงไปจากนั้นปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาดเท่ากำปั้นเด็กน้อย เตรียมไส้ด้วยการเอามะพร้าวขูดคั่วน้ำตาลทราย ได้มาแล้วก็ยัดเข้าไปตรงกลาง บีบแป้งให้เข้าทรงแล้วนำไปทอดไฟอ่อนๆ แป้งเหลืองนวลเป็นอันใช้ได้ ถ้าให้อร่อยทำเสร็จวันนั้นกินวันนั้น ปล่อยค้างคืนแป้งจากเหนียวหมดอร่อยกัน

ขนมขี้มอด
คนภาคใต้เรียกขนมขี้มอด เพราะลักษณะของขนมจะป่นเหมือนขี้มอดกินไม้ คนภาคกลางเรียกขนมดูดาว หรือขนมชมจันทร์ เพราะเรียกตามท่าทางการกินที่ต้องเงยหน้าแล้วเทขนมเข้าปาก ขนมขี้มอดใช้ข้าวสารหรือข้าวสุกตากให้แห้งแล้วไปคั่วให้เหลืองนวลและกรอบ โขลกให้ละเอียดขณะยังร้อนๆ อยู่ จากนั้นนำมะพร้าวขูดมาคั่วให้เหลืองกรอบเช่นกันแล้วโขลกให้ละเอียด นำทั้ง 2 อย่างมาคลุกเคล้าให้เข้ากันเป็นอันกินได้

ขนมครก
เล่าลือกันว่าเป็นขนมความรักของหนุ่มสาว ทุกแรมหกค่ำเดือนหก ชาวบ้านที่ศรัทธาความรักของไอ้ทิกับแม่แป้งจะบรรจงทำขนมหวานหอมที่ทำจากกะทิและแป้ง ค่อยๆ หยอด รอจนสุก ค่อยๆ เคาะจากแม่พิมพ์แล้ววางขนมให้คว่ำหน้าเข้าหากันอันจะเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันตลอดไป ชาวบ้านจึงเรียกว่า ขนมคนรักกัน เรียกย่อๆว่า ขนม ค.ร.ก. หรือขนมครกในปัจจุบัน เชื่อเรื่องเล่าได้หรือไม่นั้นไม่รู้ รู้แต่ว่าแต่งมาได้น่ารักและรสชาติก็นุ่มลิ้นดีเหลือหลาย

ขนมเนียล
เนียลเป็นภาษาเขมร แปลว่าทะนาน และทะนานก็คือกะโหลกมะพร้าวผ่าครึ่ง สมัยก่อนใช้เป็นเครื่องตวง ซึ่งขนมชนิดนี้ใช้ทะนานเป็นแม่พิมพ์ โดยจะใช้แป้งข้าวเหนียวผสมกับมะพร้าวขูดเป็นเส้นในสัดส่วนเท่ากัน เติมน้ำตาลให้หวานพอดี คลุกเคล้าทั้งหมดให้เข้ากันแล้วพักไว้จนแป้งละลาย ตักใส่ทะนานที่เจาะรูจนพรุนแล้วเอาไปตั้งในหม้อนึ่งปิดฝา ให้รสหวานและมันกลมกล่อมในคำเดียวกัน

ข้าวตู
เป็นขนมชาวพื้นเมืองของชาวเขมรสุรินทร์ มีชื่อเป็นภาษาเขมรว่าปอวล เอาข้าวตากแห้งมาคั่วให้เหลืองกรอบตำผสมกับมะพร้าวขูดและน้ำตาล อัดลงแม่พิมพ์ให้แน่นแล้วเคาะออกมาเป็นคำๆ ทำกินกันในโอกาสทั่วไป
ยังมีอีกหลายข้าวพื้นเมืองอีกหลายพันธุ์ที่นำมาทำเป็นขนมกัน เช่น ข้าวอีหนอนน้อยและข้าวเล้าแตกมาทำเป็นข้าวเกรียบว่าว, ข้าวก่ำ(ข้าวเหนียวดำ)มาทำเป็นข้าวหลามอีก่ำและขนมเทียน, ข้าวอีตม ข้าวดอเมือง และข้าวเหนียวกอเดียวเอามาทำข้าวเม่า และอีก ฯลฯ ข้าวพื้นบ้านของไทยที่แปลงร่างไปเป็นขนม ซึ่งเรากลัวว่าถ้ายกมากันหมดคงได้มีเบาหวานขึ้นตากันไปสักข้างสองข้าง

ห่อไว้ให้แล้ว เอาไปฝากคนที่บ้านด้วยนะ
แม้วันนี้ข้าวไทยจะได้ใบปริญญาจากเมืองนอกเมืองนามาก็ตาม แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าเราจะยังคงความเป็น 'ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แผ่นดินของเรานี่แสนอุดมสมบูรณ์' ไปได้ตลอดกาล ข้าวในแง่ของอาหารโลกและข้าวในแง่ของอารยธรรม จะปรับเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคนในยุคสมัยนั้นร่วมกันกำหนด ลูกหลานในวันหน้าจะด่าหรือชื่นชมคงไม่ยากเกินเดา

แต่ที่แน่ๆ ข้าวทั้งไร่เกี่ยวคนเดียวไม่ไหวหรอก ช่วยกันลงแขกดีกว่าไหม

********************************************************
เรื่อง : วรชัย รัตนดวงตา
ภาพ : กรีนพีซ, แผนงานทรัพยากรอาหาร
*********************************************************
ขอบคุณข้อมูล
-คุณน้ำทิพย์ เกตสัมพันธ์ แผนงานทรัพยากรอาหาร โทรศัพท์ 08-3177-1417
-วรันธรณ์ แก้วทันคำ มูลนิธิชีวิตไท โทรศัพท์ 0-2935-2981
-มูลนิธิกรีนพีช เอเชียตะวันนออกเฉียงใต้










ขนมขี้ม้า ทำจากข้าวเหนียวสันป่าตอง

ข้าวเกรียบว่าว ทำจากข้าวอีหนอนน้อยและข้าวเล้าแตก
กำลังโหลดความคิดเห็น