xs
xsm
sm
md
lg

16ม.ค. ไบโอเทคถกความชัดเจน มติ ครม. ให้ทดลองพืชจีเอ็มภาคสนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไบโอเทคเปิดเวิร์กชอป "จีเอ็มโอ" 16 ม.ค.นี้ หวังตีความมติขิงแก่ไฟเขียวให้ทดสอบภาคสนาม พรัอมหาแนวทางเพื่อให้ได้ทดสอบพืชจีเอ็มโอตัวแรก นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ย้ำยังไร้ความเคลื่อนไหวใดๆ หลัง ครม.ปล่อยมติฮอต เชื่อมะละกอเป็นเบอร์หนึ่งลงสนามได้

ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ (สทส.) เปิดเผยว่า วันที่ 16 ม.ค.นี้  ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะเป็นแม่งานจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "มาตรการเพื่อรองรับการทดสอบพืชดัดแปลงพันธุกรรมในระดับภาคสนาม" ขึ้นเพื่อเตรียมการทดลองปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ภาคสนามตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 25 ธ.ค.50

ทั้งนี้ ในการประชุมจะมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เกษตรกรผู้ปลูกมะละกอ ตลอดจนเจ้าหน้าที่จาก สทส.เข้าร่วมงาน โดยมี ดร.อนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ตลอดจน ดร.อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เข้าร่วมอภิปรายเพื่อตีความมติ ครม.ดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้น

นอกจากนั้นยังมีนางวิไล ปราสาทศรี นักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร สถานีทดลองพืชสวนท่าพระ จ.ขอนแก่น อภิปรายถึงความพร้อมของงานวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรมของไทย รวมถึงมีการเสนอ (ร่าง) มาตรการเพื่อรองรับการทดสอบพืชดัดแปลงพันธุกรรมในภาคสนามโดย ดร.เมธินี ศรีวัฒนกุล นักวิชาการสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร และการอภิปรายขั้นตอนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ โดย ดร.วิเทศ ศรีเนตร นักสิ่งแวดล้อมสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

"การสัมมนาจะพูดกันในเรื่องมาตรการในการควบคุม และการเตรียมพร้อมการทดสอบภาคสนามว่าจะทำอย่างไร จะมีขั้นตอนการประชาพิจารณ์อย่างไร และจะทดสอบพืชอะไรบ้างก่อนจะมีการดำเนินการจริงๆ อย่างไรก็ดี ในวันพรุ่งนี้จะเน้นไปยังการพูดคุยร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก" ดร.สุทัศน์ กล่าว

ส่วนความเคลื่อนไหวอื่นๆ ในแวดวงพืชดัดแปลงพันธุกรรม ดร.สุทัศน์ เผยว่า ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากภาคการค้าและภาคเกษตรกร แต่เท่าที่เห็นจะมีเพียงมะละกอจีเอ็มโอตัวเดียวเท่านั้นที่มีความพร้อมสำหรับการปลูกในแปลงเปิดมากที่สุด ซึ่งมีกรมวิชาการเกษตรและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รับผิดชอบ

สำหรับ มติ ครม.เมื่อ 25 ธ.ค.50 ได้อนุมัติให้มีการทดลองปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ในระดับแปลงเปิดของหน่วยราชการได้ โดยต้องประกอบด้วยรายงานการศึกษาอย่างรอบด้าน ทั้งรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และรายงานการรับฟังเสียงประชาชน เพื่อนำเสนอต่อ ครม.อนุมัติเป็นกรณีๆ ไปในระหว่างที่กฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ (ไบโอเซฟตี) ยังไม่แล้วเสร็จ

กำลังโหลดความคิดเห็น