กรีนพีซเดินหน้าอุทธรณ์ หลังศาลปกครองยกฟ้องกรมวิชาการเกษตร กรณีปนเปื้อน "มะละกอจีเอ็มโอ" ระบุไม่เชื่อการตรวจสอบและตัดทำลายของกรมวิชาการ แจงยังเหลือกรณีปนเปื้อนอีกนับพันราย ที่ไม่มีการตรวจสอบ และต้องการผลวิเคราะห์ที่เชื่อถือได้ พร้อมระบุกฎหมายความปลอดภัยชีวภาพยังไม่ทันต่อสถานการณ์ เตรียมยกเป็นกรณีศึกษา
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 31 ก.ค.51 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 10 ศาลปกครองกลางนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่มูลนิธิเพื่อสันติภาพ กรีนพีซ เอส อี เอ เป็นผู้ฟ้องกรมวิชาการเกษตร (กว.) กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ กับพวกรวม 2 คน ว่าได้ละเลยต่อหน้าที่ โดยปล่อยให้มีการแพร่กระจายของมะละกอตัดต่อพันธุกรรม นอกพื้นที่สำนักวิจัยพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น เป็นเหตุให้พันธุ์มะละกอจีเอ็มโอออกไปสู่แปลงเพาะปลูกของเกษตรกร พร้อมทั้งขอให้ตรวจสอบมะละกอของเกษตรกรในจพื้นที่ด้วย
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรมวิชาการเกษตรปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ควบคุมดูแลการปลูกมะละกอจีเอ็มโออย่างเข้มงวด โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบความปลอดภัยภาคสนาม และคณะทำงานความปลอดภัยทางชีวภาพด้านเกษตร ตรวจสอบซ้ำ โรงเรือนที่ใช้ทดลองจีเอ็มโอมีการควบคุมตามมาตรฐาน และการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ ก็เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงเชื่อได้ว่ากรมวิชาการเกษตรไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ จึงเห็นควรให้ยกฟ้อง
ทางด้านตัวแทนกลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แสดงท่าที โดยจะยื่นอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานเกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีซ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า อาจต้องใช้เวลาอีกสักพัก จึงจะบอกประเด็นในการยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ประเด็นที่บอกได้ชัดเจนในตอนนี้คือ ทางกรีนพีซไม่เชื่อมั่นในข้อมูลการตรวจสอบ และตัดทำลายมะละกอจีเอ็มโอ ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นต้นเหตุการหลุดรอดของจีเอ็มโอ
น.ส.ณัฐวิภา กล่าวว่า สิ่งที่ทางกรีนพีซต้องการคือ ผลการวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการที่ชัดเจน หรือหลักฐานอื่นๆ ที่ทำให้เชื่อถือได้ว่า กรมวิชาการเกษตรตัดทำลายมะละกอจีเอ็มโอไปเรียบร้อยแล้ว
อีกทั้ง กรมวิชาการการเกษตรมีรายชื่อเกษตรกร และประชาชนที่ได้รับเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอทั้งหมด 2,699 ราย แต่มีรายงานการตรวจสอบเพียงพันกว่ารายเท่านั้น ทั้งที่เกษตรกรเหล่านั้นยังได้แจกจ่ายพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอออกไปยังเกษตรกรอื่นๆ อีกนับพันราย
"การปล่อยให้มีการปนเปื้อนแม้แต่รายเดียว ก็เป็นความเสี่ยง เพราะเราแยกแยะจีเอ็มโอไม่ได้ด้วยตาเปล่า และการทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอในพื้นที่เปิด ของกรมวิชาการเกษตร ก็มีรั้วลวดหนามกั้น โดยไม่มีตาข่ายป้องกันนั้น เราต้องการดึงประเด็นกลับมา เพื่อให้มีการไปตรวจซ้ำอีกครั้ง โดยการตรวจซ้ำของเราเองเมื่อปี 2549 ก็ยังพบการปนเปื้อน” น.ส.ณัฐวิภากล่าว
“เรื่องนี้เป็นบทเรียนให้สังคมรู้ว่าการทดลองในพื้นที่เปิดนำปัญหามาให้เรามาก เราอยากให้ทบทวนการทำลายให้ชัดเจนและทำให้เรามั่นใจ เพราะถ้ากฎหมายเปิดให้มีการทดลองในพื้นที่ก็จะเกิดปัญหาในลักษณะนี้อีก"
ทางด้าน ธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์กลุ่มกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมว่า จะใช้คดีนี้เป็นกรณีศึกษาในการรณรงค์ของกรีนพีซ โดยถือเป็นคดีแรกของศาลปกครอง ในเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งระบบกฎหมายของไทยยังไม่ทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้ควรมีการตั้งบรรทัดฐานของจีเอ็มโอขึ้นในเมืองไทย ให้ประชาชนได้มีสิทธิในการรับรู้ข้อมูล
"ในเชิงกฎหมายนั้นยังมีช่องโหว่อยู่เยอะ ทั้งสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เรื่องที่หน่วยงานรัฐทำอะไรโดยไม่แจ้งต่อสาธารณะ ภาระรับผิดชอบกรณีการปนเปื้อนจีเอ็มโอ ซึ่งควรจะเป็นภาระของภาครัฐไม่ใช่ประชาชน และระบบตรวจสอบความเสียหาย ถ่วงดุล ก็ยังไม่พร้อม”
“เราต้องการให้ประเด็นมะละกอจีเอ็มโอเป็นประเด็นสาธารณะมากขึ้น เพราะจีเอ็มโอไม่จำเป็นกับสังคมไทย นี่แค่มะละกอ ยังมีอื่นๆ อีก หากเราไม่สามารถดูแลในสิ่งที่เราดูแลได้ เรื่องอื่นก็ไม่ต้องพูดถึง" นายธารากล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์.