เปิดศักราชปี 51 ทำท่าว่าพืชเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่หรือ "พืชจีเอ็มโอ" จะได้แจ้งเกิดในแปลงเปิดประเทศไทยซะแล้ว เพราะก่อนสิ้นปีหมู รัฐบาลขิงเปิดไฟเขียวให้ทดสอบภาคสนามจนได้ แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะกฏกติกาที่ยังมีข้อจำกัดหลายประการ หรือว่าร่างกฎหมายไบโอเซฟตียังไม่มีผลบังคับใช้ เลยทำให้ตลอดปีที่ผ่านมายังไม่มีอะไรชัดเจนสักอย่าง เว้นก็แต่คดีมะละกอจีเอ็มโอที่ศาลปกครองตัดสินยกฟ้องจนได้
ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปี ที่รัฐบาลอนุมัติการทดสอบพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือพืชจีเอ็มโอ ภาคสนาม ทว่าก็ยังไม่มีหน่วยวิจัยที่ไหนเริ่มทดสอบพืชจีเอ็มโอระยะสุดท้ายกันเลย เนื่องจากไม่ใช่การอนุญาตให้ทดสอบกันได้อย่างเสรี แต่ต้องมีกระบวนการพิจารณาเป็นกรณีไป ทำได้เฉพาะในสถานที่ราชการ และต้องมีการทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ที่ต้องการทดสอบ ที่สำคัญร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ. ... ก็ยังไม่ผ่านกฤษฎีกา
กฎหมายไบโอเซฟตีจนบัดนี้ยังไม่คลอด
เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 22 ม.ค.51 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดสุดท้ายของรัฐบาลขิงแก่ ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ. ... แล้ว ซึ่งหากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อไหร่ การขอทดสอบพืชจีเอ็มโอภาคสนามก็ไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจาก ครม. เป็นกรณีๆ ไปตามมติ ครม.เมื่อ 25 ธ.ค.50 แต่จนบัดนี้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวก็ยังไม่มีผลบังคับใช้
ขณะเดียวกันมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ได้ร่วมกับกรีนพีซและเครือข่ายประชาชนและนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยไว้ก่อน และมีสาระสำคัญที่เน้นทั้งด้านการควบคุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพืชจีเอ็มโอ และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยหวังจะยื่นเสนอต่อ ครม. เพื่อนำไปพิจารณาประกอบกันในการออกกฎหมายไบโอเซฟตี
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพฯ ที่ร่างขึ้นโดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้กำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายไว้แล้วตามมาตรา 82 ในกรณี่ที่เจตนา ประมาท เลินเล่อ หรือละเลย
ทว่า หากเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยผู้วิจัยไม่ได้เจตนา ทั้งที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัดแล้ว นักวิจัยผู้นั้นจะไม่มีความผิดตามกฎหมาย เพียงแต่หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเร่งเข้าไปเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ เพราะกลุ่มนักวิชาการที่สนับสนุนพืชจีเอ็มโอไม่อยากให้ซ้ำรอยกับกรณีมะละกอจีเอ็มโอของศูนย์วิจัยของกรมวิชาการเกษตรที่จังหวัดขอนแก่นเล็ดลอดสู่สิ่งแวดล้อมเมื่อปี 47 จนถูกกลุ่มผู้ต่อต้านบุกรุกทำลายแปลงมะละกอจีเอ็มโอ และกลายเป็นคดีความถึงชั้นศาล ซึ่งพวกเขามองว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งที่นักวิจัยมีเจตนาบริสุทธิ์
อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า หากการทดลองพืชจีเอ็มโอภาคภาคสนามก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายขึ้นจริง จะมีอะไรหรือกระบวนการใดรับรองได้ว่าผู้วิจัยมิได้มีเจตนาให้เกิดความเสียหายนั้นขึ้นและได้กระทำตามกฏเกณฑ์อย่างเคร่งครัดแล้วจริง เพราะว่ากรณีมะละกอจีเอ็มโอที่ของแก่นก็ยังเป็นที่กังขาของสังคมอยู่จนทุกวันนี้ แม้ว่าศาลปกครองได้ยกฟ้องไปแล้วก็ตาม
ในที่สุดก็ยกฟ้องคดีมะละกอจีเอ็มโอหลุดที่ขอนแก่น
คดีความการฟ้องร้องเรื่องมะละกอจีเอ็มโอ ยืดเยื้อมานาน 4 ปีเต็ม ในที่สุดเมื่อวันที่ 31 ก.ค.51 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีที่กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟ้องกรมวิชาการเกษตร ว่าละเลยต่อหน้าที่ โดยปล่อยให้มีการแพร่กระจายของมะละกอตัดต่อพันธุกรรม นอกพื้นที่สำนักวิจัยพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น จนเป็นเหตุให้พันธุ์มะละกอจีเอ็มโอออกไปสู่แปลงเพาะปลูกของเกษตรกร
ผลการพิจารณาปรากฏว่าศาลตัดสินยกฟ้อง เพราะเห็นว่ากรมวิชาการเกษตรปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ควบคุมดูแลการปลูกมะละกอจีเอ็มโออย่างเข้มงวดดีแล้ว มีคณะกรรมการตรวจสอบความปลอดภัยภาคสนาม และคณะทำงานความปลอดภัยทางชีวภาพด้านเกษตร ตรวจสอบซ้ำ โรงเรือนที่ใช้ทดลองจีเอ็มโอมีการควบคุมตามมาตรฐาน และการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ ก็เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงเชื่อได้ว่ากรมวิชาการเกษตรไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ทางกรีนพีซไม่เชื่อมั่นในข้อมูลการตรวจสอบ และการทำลายมะละกอจีเอ็มโอของกรมวิชาการเกษตร จึงอยากเห็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าได้ตัดทำลายมะละกอจีเอ็มโอเรียบร้อยแล้วจริง รวมถึงอยากให้มีการตรวจสอบการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอในแปลงของเกษตรกรซ้ำอีกครั้ง พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ และต้องการให้กรมวิชาการเกษตรแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น จึงได้ยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว
สังคมไทยได้อะไรจากบทเรียนคดีมะละกอจีเอ็มโอ
เมื่อศาลปกครองตัดสินยกฟ้องคดีดังกล่าว กรีนพีซและมูลนิธิชีววิถีได้เปิดประเด็นใหม่ขึ้นมาว่า "บทเรียนคดีมะละกอจีเอ็มโอ สัมคมไทยได้อะไร" ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยเผชิญหน้ากับพืชจีเอ็มโอบนพื้นฐานของความไม่รู้ และขาดข้อมูลข่าวสาร เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอเท่าที่ควร
ขณะเดียวกันเมื่อเกิดปัญหาพืชจีเอ็มโอปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมทั้งที่ไม่มีการอนุญาตให้ทดสอบภาคสนามหรือเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย ก็ยังไม่มีมาตรการหรือกฎหมายที่จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไร้ระเบียบของสังคมไทย รวมทั้งไม่มีสิ่งใดรองรับผลกระทบจากพืชจีเอ็มโอต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนได้ ขณะที่พืชจีเอ็มโอมีระบบทรัพย์สินทางปัญญารองรับ
นักวิชาการได้เปรียบเปรยด้วยว่าคนไทยต้องฝากฝีฝากไข้เรื่องปัญหาที่เกิดจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ไว้กับตุลาการที่ศึกษากฎหมายย้อนกลับไปถึงสมัยโรมัน เมื่อนักกฎหมายและกฎหมายไทยยังไม่รู้จักจีเอ็มโอ ก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหาที่เกิดจากจีเอ็มโอได้อย่างไร
สำรวจสถานการณ์โลก ของพืชเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่
ขณะที่สถานการณ์พืชเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในประเทศไทยยังกระท่อนกระแท่น แต่ตลอดปีที่ผ่านมานักวิจัยในหลายประเทศก็สร้างพืชตัดต่อพันธุกรรมแบบใหม่ๆ ออกมาอวดกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งแครอทแคลเซียมสูงของสหรัฐฯ มะเขือเทศสีม่วงต้านมะเร็งจากอังกฤษ และต้นยาสูบดูดซับสารพิษของญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่ผลวิจัยอีกแง่หนึ่งก็ว่ามีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นกับหนอนเจาะสมอฝ้ายเพื่อต้านทานฝ้ายบีทีในสหรัฐฯ
ทว่ากระแสต่อต้านพืชจีเอ็มโอก็ไม่ได้น้อยลงสักเท่าไหร เพราะนายนิโกลา ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก็ออกมาแถลงตั้งแต่ต้นปีว่าจะนำมาตรการป้องกันพืชดัดแปลงพันธุกรรม ของสหภาพยุโรป (อียู) มาใช้เพื่อทำให้ฝรั่งเศสปลอดจีเอ็มโอ
ส่วนเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งเวลส์ ได้ทรงแสดงความกังวลว่า พืชดัดแปลงพันธุกรรมอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านอาหาร และสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง ส่วนเกษตรกรรายย่อยทั่วโลกก็จะได้รับความเดือนร้อน จากการที่บริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาครอบครองการทำเกษตรกรรม
แม้แต่กลุ่มเกษตรกรบางส่วนในประเทศบราซิลก็ออกมาต่อต้านและทำลายพืชจีเอ็มโอของบริษัทมอนซานโต ด้วยอ้างว่าพืชจีเอ็มโอทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่มั่นใจในความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทั้งที่บราซิลถือเป็นยักษ์ใหญ่ในด้านการเพาะปลูกพืชตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งเหตุการเหล่านี้ทำให้เห็นได้ชัดว่าพืชจีเอ็มโอยังไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ในโลก แม้บางประเทศจะเพาะปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์มาแล้วกว่า 12 ปี ก็ตาม
"พืชจีเอ็ม" ทางออกของวิกฤติอาหารจริงหรือ?
วิกฤติพลังงานที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อนๆ แล้ว เริ่มส่งผลกระทบต่ออาหารเด่นชัดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา จนเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงที่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เพราะการผูกติดราคาสินค้าและค่าครองชีพไว้กับราคาน้ำมัน และเมื่อน้ำมันเหลือน้อยลงทุกขณะ จึงต้องเร่งหาพลังงานทดแทน หนึ่งในนั้นคือพืชพลังงาน ซึ่งหากไม่สามารถส่งเสริมและจัดการการปลูกพืชพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนักหน่วงกว่าที่ผ่านมาหลายเท่า
เมื่อวิกฤติอาหารเริ่มส่อแวว พืชจีเอ็มโอจึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ ระหว่างฝ่ายสนับสนุนที่หวังพลิกวิกฤติเป็นโอกาส กับฝ้ายค้านที่ต้องเฝ้าระวังอย่างไม่ละสายตา ซึ่งบางประเทศก็ตัดสินใจเลือกไปแล้วที่จะใช้พืชตัดต่อพันธุกรรมเป็นเป็นหนทางกู้วิกฤติ ขณะที่บางประเทศที่เคยปฏิเสธการปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ก็เริ่มหันมาทบทวนเรื่องนี้กันใหม่ ทว่าส่วนใหญ่แล้วก็ยังไม่เลือกที่จะใช้จีเอ็มโอเป็นทางรอด
ส่วนนักวิชาการไทยที่เห็นชอบต่อพืชจีเอ็มโอก็มีความหวังว่าวิกฤติอาหารที่ผ่านมาอาจทำให้คนไทยเปิดรับพืชจีเอ็มโอได้มากขึ้น และมองว่าไทยควรพิจารณาเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพื่อว่าจะได้รอดพ้นจากภาวะอดอยากในอนาคต พร้อมกับชี้แนวทางว่าอาจเริ่มต้นทำพืชจีเอ็มโอในพืชบางชนิดที่ประเทศไทยประสบปัญหาด้านการเพาะปลูก แต่ในขณะเดียวกันให้รักษาเอกลักษณ์ของชาติอย่างข้าวไทยให้ปลอดภัยจากจีเอ็มโอ
จุดนี้เองที่ยังเป็นประเด็นสำคัญ เพราะกฎหมายไทยยังมีช่องโหว่ และหากพืชจีเอ็มโอสามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมไทยอย่างเปิดเผยแล้ว จะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้าวไทยจะปลอดภัยจากจีเอ็มโอได้ตลอด ประชาชนไทยส่วนใหญ่จึงยังไม่ยอมรับ บวกกับความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของพืชจีเอ็มโอ และยังขาดความเชื่อมั่นในกลไกของภาครัฐที่จะควบคุม ดูแล และจัดการ หากมีปัญหาเกิดขึ้นจากพืชจีเอ็มโอ จนเมื่อเดือน เม.ย. 50 ก็ได้มีการจัดตั้งโครงการ "เรารักข้าวไทย" ขึ้นมาโดยกรีนพีซและผู้ประกอบการด้านอาหารที่ปฏิเสธพืชจีเอ็มโอ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงไม่ได้เพาะปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ในเร็วๆ นี้แน่นอน เพราะยังไม่มีการทดสอบภาคสนามแต่อย่างใด ดังนั้น พืชจีเอ็มโอจึงยังไม่ใช่ทางออกของวิกฤติอาหารในสังคมไทย ณ ตอนนี้.
ประมวลข่าวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
- ต้อนรับสู่ "ปีฉลู" ล้อมวงฟังราชบัณฑิตเล่าเรื่อง "ดาววัว"
- สวัสดีปีฉลู นานาน่ารู้เรื่องวิทย์กับวัว
- 5 ข่าววิทย์เศร้า-ฉาว-ลวงในเมืองไทยปี '51
- "เซิร์น" ที่สุดแห่งข่าววิทย์รอบโลกในรอบปี 51
- จากวิกฤติอาหารปี 51 จนถึงไฟเขียวทดลองภาคสนาม ก็ยังไม่ถึงยุคทองของจีเอ็มโอ
- ผ่านปี '51 ผู้บริโภคยังต้องตัดสินใจเรื่องความปลอดภัย "สินค้านาโน"