xs
xsm
sm
md
lg

มะละกอจีเอ็มโอให้บทเรียน สังคมไทยไร้ระเบียบ-ขาดเครื่องมือจัดการปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรีนพีชและไบโอไทยร่วมกับเปิดเวทีเสวนาว่าคดีมะละกอจีเอ็มโอให้บทเรียนอะไรแก่สังคมไทยบ้าง โดยมีนายธารา บัวคำศรี (ซ้ายสุด) ดำเนินรายการ
อาจารย์กฎหมาย ม.ศิลปากรระบุ จีเอ็มโอมีระบบทรัพย์สินทางปัญญารองรับ แต่กลับไร้หลักประกันสังคมและสิ่งแวดล้อม บทเรียนจากคดีมะละกอจีเอ็มโอชี้ ไทยยังไร้ระเบียบ ขาดเครื่องมือและองค์กรที่มีประสิทธิภาพเข้ามาจัดการ แนะทางออก ต้องปฏิรูปกฎหมาย พร้อมจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมแยกออกจากศาลปกครอง

กรีนพีชร่วมกับมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) เปิดเวทีเสวนา "บทเรียนคดีมะละกอจีเอ็มโอ สัมคมไทยได้อะไร" โดยมีนักวิชาการด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาร่วมด้วย ที่ร้านอาหารบ้านสวนไผ่ เมื่อวันที่ 15 ต.ค.51 ที่ผ่านมา ซึ่งมีสื่อมวลชนหลายแห่งมาร่วมฟัง รวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์

น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า หลังจากที่กรีนพีชสุ่มตรวจเมล็ดพันธุ์มะละกอในประเทศไทย โดยส่งตัวอย่างไปตรวจที่ห้องแล็บเอกชนในต่างประเทศ และพบการปนเปื้อนของเมล็ดพันธุ์มะละกอตัดต่อพันธุกรรมใน จ. ขอนแก่น เมื่อปี 2547 จึงได้ฟ้องกรมวิชาการเกษตร ว่าละเลยหน้าที่ จนเป็นเหตุให้มีการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอออกนอกพื้นที่สำนักวิจัยไปสู่สิ่งแวดล้อมแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร

เมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ศาลปกครองก็ได้ยกฟ้องคดีดังกล่าว โดยเห็นว่ากรมวิชาการเกษตรปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ควบคุมดูแลการปลูกมะละกอจีเอ็มโออย่างเข้มงวดดีแล้ว แต่กรีนพีชเห็นว่าการป้องกันแค่นั้นยังไม่เพียงพอ และก็ได้ยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว เพราะต้องการให้กรมวิชาการเกษตรแสดงความรับผิดชอบ และลงไปตรวจสอบมะละกอจีเอ็มโอที่ปนเปื้อนซ้ำใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลการทำงานต่อสาธารณะ เพื่อให้คนไทยมั่นใจว่าไม่มีมะละกอจีเอ็มโอในประเทศไทยแล้วจริงๆ

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ก่อนหน้ากรณีมะละกอจีเอ็ม เมื่อปี 2542 เคยมีกรณีพบการปนเปื้อนของฝ้ายตัดต่อพันธุกรรม (ฝ้ายบีที) ในประเทศไทยมาแล้ว ถึงวันนี้ก็ผ่านไปแล้ว 9 ปีเต็ม แต่กระบวนการจัดการการปนเปื้อนพืชจีเอ็มโอในไทยยังไม่คืบหน้าไปถึงไหนเลย

"เมื่อปลายปี 2550 ไบโอไทยก็พบการปนเปื้อนของข้าวโพดจีเอ็มโอ ในพื้นที่เกษตรกรที่อยู่ไม่ไกลจากบริษัทมอนซานโต จ.พิษณุโลก เป็นพืชชนิดที่ 3 ที่มีการปนเปื้อนจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อม และจากที่ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุ่มตัวตรวจข้าวโพดในไทย 228 ตัวอย่าง พบ 20 ตัวอย่างปนเปื้อนยีนจีเอ็มโอของมอนซานโต ซึ่งก็ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลในชุดที่ นายธีระ สูตะบุตร เป็น รมว.กระทรวงเกษตร แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ"

"มาตรการทางกฎหมายของไทยยังตามไม่ทันการปนเปื้อนทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการผลักดันให้ปลูกพืชจีเอ็มโอในไทยเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติ และอาจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนของนักวิจัย แต่คดีมะละกอจีเอ็มโอที่ผ่านมา เป็นไปได้ว่าศาลตัดสินบนพื้นฐานที่คิดว่านักวิจัยดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ใจ" นายวิฑูรย์ ตั้งข้อสังเกต และกล่าวต่อว่า

การละเลยต่อการจัดการการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอ อาจทำให้มีการปนเปื้อนจีเอ็มโอลุกลามไปยังพืชอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นอย่างไร แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาต่อสุขภาพของประชาชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ จึงจะต้องติดตามและดำเนินการเรื่องนี้กันต่อไปอย่างชักช้าไม่ได้

ขณะเดียวกัน นายเจริญ คัมภีรภาพ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า จีเอ็มโอ เสมือนเป็นรหัสคำที่บ่งบอกถึงการปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ ที่นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าไปทำงานได้ถึงในระดับเซลล์ จีเอ็มโอเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์จะออกแบบสิ่งมีชีวิตอย่างไรก็ได้

" แต่จะมองเพียงแค่มิติทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอที่ได้นั้นเป็นสินค้า เมื่อเป็นสินค้าก็เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม และคงไม่มีใครคิดทำจีเอ็มโอกับต้นไม้ใบหญ้าที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจแน่นอน แต่จะมุ่งเน้นไปที่สินค้าทางวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็คือพืชอาหารที่เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่เกิดจากการคัดเลือกและปรับปรุงโดยเกษตรกรมานานหลายร้อยหลายพันปี" นายเจริญ กล่าว

"วิธีการทางวิทยาศาสตร์และการใช้วิทยาศาสตร์มันคนละเรื่องกัน เหมือนอย่างระเบิดปรมาณู ถ้าคนไม่กดสวิตซ์ให้มันระเบิด มันก็ไม่ระเบิด แต่หากเป็นจีเอ็มโอ เมื่อปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมแล้วจะมีวิธีควบคุมมันได้หรือไม่?" นายเจริญ กล่าวเปรียบเทียบ

"ไทยเผชิญหน้ากับจีเอ็มโอท่ามกลางความไม่มีพื้นฐานความรู้, ไม่มีข้อมูลข่าวสาร, ในระบบการเมืองที่ล้มเหลว และฝากฝีฝากไข้เรื่องความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ไว้กับตุลาการที่ศึกษากฎหมายตั้งแต่ยุคสมัยโรมัน เมื่อนักนิติศาสตร์ไม่รู้ว่าจีเอ็มโอคืออะไร และจะต้องเอากฎหมายใดมาจับ กฎหมายไทยเองก็ยังไม่รู้จักจีเอ็มโอ" อาจารย์ด้านกฎหมายแจงและต่อว่า

"พืชจีเอ็มโอมีระบบทรัพย์สินทางปัญญารองรับ ทั้งเรื่องสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และความลับทางการค้า แต่สังคมและสิ่งแวดล้อมกลับไม่มีสิ่งใดมารองรับหากเกิดปัญหาจากพืชจีเอ็มโอ ขาดทั้งความรู้ ข้อมูลข่าวสาร เครื่องมือและองค์กรที่จะจัดการ ซึ่งยังไม่มีงานวิจัยไหนในผืนพิภพนี้พิสูจน์ได้ว่าจีเอ็มโอปลอดภัยจริง เพราะต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์ยาวนานมาก"

"จากกรณีการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังไร้ระเบียบ เมื่อเกิดเรื่องขึ้นมาก็ไม่มีเครื่องมือไหนปกป้องสังคมได้ ส่วนสิ่งที่มีอยู่เดิมก็ไร้ประสิทธิภาพที่จะจัดการเรื่องนี้ได้" นายเจริญ กล่าวถึงบทเรียนที่ไทยได้รับจากเหตุการณ์การปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอในสิ่งแวดล้อม

อาจารย์จาก ม.ศิลปากร ชี้ทางออกสำหรับปัญหาจีเอ็มโอในไทยว่า ต้องปฏิรูปกฎหมายสำหรับพิจารณาในเรื่องเทคโนโลยีขั้นสูงแทนกฎหมายโรมันที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ต้องมีศาลสิ่งแวดล้อมที่แยกออกจากศาลยุติธรรม มีกระบวนการพิจารณาพิเศษที่ศาลต้องรับฟังข้อมูลจากองค์กรสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับศาลขององคืการการค้าโลก (WTO)

สุดท้าย ต้องมีมาตรการทางกฎหมายควบคุมพืชจีเอ็มโอโดยยึดหลักป้องกันไว้ก่อน แต่ที่ผ่านมามาตรการทางกฎหมายของไทยส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบเกิดเรื่องแล้วจึงแก้ไข และที่สำคัญคือต้องมีมาตรการทางสังคม ซึ่งจะเกิดผลมากที่สุด คือต้องให้ประชาชนมีความรู้ในเรื่องพืชจีเอ็มโอและรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน และหวังว่าการเมืองใหม่จะผลักดันให้มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาถ้าจะปกป้องฐานทรัพยากรอาหารของไทย
น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล
นายเจริญ คัมภีรภาพ (ซ้าย) อาจารย์ด้านกฎหมายจาก ม.ศิลปากร และนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น