นักวิจัยคอร์เนลเผย ญี่ปุ่นเตรียมนำเข้ามะละกอจีเอ็มโอจากฮาวาย เดินเรื่องอีกขั้นตอนเดียวก็แล้วเสร็จพร้อมแจ้งต่อองค์การการค้าโลก เดือน ก.พ. ปีหน้าเริ่มนำเข้าได้ อนาคตมีแนวโน้มปลูกเองด้วย ส่วนมะละกอจีเอ็มโอไทยยังไม่ได้ลงแปลงภาคสนาม นักวิจัยเร่งยื่นเรื่องขออนุญาตภายในปีนี้
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จัดบรรยายพิเศษเกี่ยวกับมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมหรือมะละกอจีเอ็มโอ เรื่อง “Environmental, Food safety Assessment and Experiences on Deregulation of Hawaiian Transgenic Papaya” ณ อาคารไบโอเทค อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา โดยมีวิทยากรคือ ดร.เดนนิส กอนซัลเวส (Dr.Dennis Gonsalves) นักวิจัยผู้พัฒนามะละกอฮาวายดัดแปลงพันธุกรรม จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา และ ดร.ปาริชาติ เบิร์นส คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เข้าร่วมฟังการบรรยายพร้อมกับนักวิจัยและผู้สนใจจำนวนหนึ่ง
ดร.ปาริชาติ ได้ศึกษาในเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพของมะละกอจีเอ็มโอที่ปลูกทดสอบภายในเรือนกระจก โดยศึกษาว่ามะละกอจีเอ็มโอที่ดัดผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ต้านทานโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวน จะมีผลอย่างไรต่อแบคทีเรียในดิน, ไรแดงแอฟริกัน ซึ่งเป็นแมลงศัตรูของมะละกอ และไรตัวห้ำ ซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติของไรแดงแอฟริกัน
ผลการทดลองที่ได้ ไม่พบความแตกต่างของชนิดและจำนวนประชากรของแบคทีเรียในดินบริเวณปมรากมะละกอธรรมดากับมะละกอจีเอ็มโอ ส่วนไรตัวห้ำที่เลี้ยงด้วยไรแดงแอฟริกันที่กินใบมะละกอจีเอ็มโอ ก็ยังคงมีวงจรชีวิตปกติ ไม่แตกต่างจากไรตัวห้ำที่เลี้ยงด้วยไรแดงแอฟริกันที่กินใบมะละกอจีเอ็มโอ
นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาการกระจายของละอองเกสรมะละกอด้วยคอมพิวเตอร์โมเดลและสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อดูว่าจะสามารถใช้จีไอเอสโมเดลลิง (GIS modeling) ทำนายการเคลื่อนที่ของละอองเกสรของมะละกอได้หรือไม่ โดยใช้ข้อมูลขนาดและรูปทรงของละออกเกสรมะละกอ ประกอบกับทิศทางและความเร็วของลมในแต่ละช่วงเวลา เทียบกับการทดลองจริงในแปลง
พบว่าแบบจำลองให้ผลระยะทางการเคลื่อนที่ของละอองเกสรที่แม่นยำ ฉะนั้นจึงสามารถใช้จีไอเอสโมเดลลิงเป็นเครื่องมือในการสังเกตหรือคาดการณ์การปลิวของละอองเกสรมะละกอได้อย่างมีประสิทธิภาพในกรณีที่มีลมเป็นปัจจัยหลัก แต่อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยอื่นที่มีผลร่วมด้วย เช่น แมลง
ด้าน ดร.เดนนิส ได้เผยว่า ได้เริ่มวิจัยมะละกอจีเอ็มโอมาตั้งแต่ปี 2528 และประสบความสำเร็จในปี 2535 ปรากฏว่าในปีถัดไปเกิดปัญหามะละกอในฮาวายได้รับความเสียหายครั้งจากโรคระบาด ทำให้มะละกอจีเอ็มโอจากการวิจัยของเขาถูกนำไปใช้แก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีการทดสอบความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งก็ไม่พบว่ามีอะไรที่แตกต่างไปจากมะละกอปกติ ยกเว้นความสามารถในการต้านทานโรคได้ และมะละกอจีเอ็มโอก็ได้ปลูกเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในปี 2540 และในปี 2554 นี้ ญี่ปุ่นจะเริ่มนำเข้ามะละกอจีเอ็มโอจากฮาวายเป็นครั้งแรกด้วย
ทั้งนี้ ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ นักวิจัยไบโอเทค ที่เข้าร่วมฟังบรรยายในครั้งนี้ด้วย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นมีการนำเข้าพืชจีเอ็มโอเพื่อเป็นอาหารสัตว์เท่านั้น เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง แต่สำหรับมะละกอจีเอ็มโอนี่จะถือเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นจะนำเข้าพืชจีเอ็มโอเพื่อการบริโภคโดยตรง
เดิมทีญี่ปุ่นนำเข้ามะละกอจากฮาวายอยู่แล้ว แต่ในระยะหลังเกษตรกรในฮาวายปลูกมะละกอจีเอ็มโอเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มะละกอไม่จีเอ็มโอเริ่มมีน้อยลงญี่ปุ่นจึงเริ่มพิจารณาอนุญาตให้นำเข้ามะละกอจีเอ็มจากฮาวาย โดยได้มีการตรวจสอบความปลอดภัยในด้านต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอนและสำรวจความคิดเห็นของประชาชนด้วยในทุกขั้นตอน โดยในขณะนี้เหลือเพียงการทำประชาพิจารณ์ในขั้นสุดท้ายที่กำลังจะเสร็จสิ้นในเร็วๆนี้ และหลังจากนั้นญี่ปุ่นก็จะต้องแจ้งต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าจะมีการนำเข้ามะละกอจีเอ็มโอจากฮาวาย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มนำเข้าได้ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2554 เป็นต้นไป
ส่วนประชาชนในญี่ปุ่นก็ยังมีสิทธิที่จะตัดสินใจเลือกเองว่าจะบริโภคมะละกอจีเอ็มโอหรือไม่จีเอ็มโอ เพราะกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นพิจารณาว่าจะกำหนดให้มีการติดฉลากเพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคด้วย และนอกจากนั้นยังมีแนวโน้มด้วยว่าญี่ปุ่นอาจจะปลูกมะละกอจีเอ็มโอด้วยในอนาคต โดยอาจเริ่มที่โอกินาว่าเป็นแห่งแรก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับเกษตรในพื้นที่ด้วย
ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นจัดเป็นประเทศที่ปฏิเสธพืชจีเอ็มโอมากเป็นอันดับต้นๆ แต่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ของญี่ปุ่นอาจส่งสัญญาณบางอย่าง ซึ่งดร.บุญญานาถ แสดงความเห็นว่า อาจไม่ทำให้การวิจัยพืชจีเอ็มโอในไทยเปลี่ยนไปมากนัก เนื่องจากวิจัยกันมามากและนานแล้ว เพียงแต่ประเทศไทยยังมีคอขวดที่ยังผ่านไปไม่ได้ง่ายๆ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่งแซงหน้าไทยไปแล้ว
"การตัดสินใจนำเข้ามะละกอจีเอ็มโอของญี่ปุ่นนั้นดำเนินบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ น่าจะเป็นตัวอย่างให้ประเทศไทยในการเตรียมตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ ถ้าญี่ปุ่นยอมรับที่จะนำเข้ามะละกอจีเอ็มโอ ก็แสดงว่ามีตลาดสำหรับมะละกอจีเอ็มโอ แล้วถามว่าประเทศไทยจะเข้าช่วงชิงตลาดนี้ด้วยหรือไม่ ถ้าจะไทยจะทำ ก็ต้องทำการทดสอบภาคสนามก่อน แล้วจึงจะสามารถไปสู่เชิงพาณิชย์ได้" ดร.บุญญานาถ กล่าว
อย่างไรก็ดี ดร.บุญญานาถ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่มีการทดลองพืชจีเอ็มโอภาคสนามเกิดขึ้นในไทย แต่นักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ก็กำลังร่วมกับจัดทำกรอบการวิจัยภาคสนามเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการขออนุญาตทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอภาคสนาม คาดว่าน่าจะยื่นเสนอได้ภายในปีนี้ แต่ไม่รู้ว่าจะผ่านการพิจารณาหรือไม่ และหากได้รับการอนุมัติก็จะต้องมีการประชาพิจารณ์ก่อนจึงจะเริ่มดำเนินการทดลองได้