ทีมนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ตื่นเต้นกับหลักฐานภาพถ่ายพื้นผิวดาวอังคาร ที่ได้จากยานสำรวจของนาซา เห็นร่องรอยทะเลสาบโบราณ 3.4 พันล้านปี ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาลึก หนุนความเชื่อที่ว่าเคยมีน้ำบนดาวแดง เผยร่องรอยดินตะกอนที่หลงเหลืออยู่อาจเป็นกุญแจสำคัญของการค้นหาชีวิตบนดาวอังคาร
กาเอตาโน ดี อากีลเล (Gaetano Di Achille) นักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด (University of Colorado) และทีมวิจัย ได้ศึกษาภาพถ่ายพื้นผิวบนดาวอังคารที่ได้จากยาน มาร์ส รีคอนเนสซองซ์ ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) พบร่องรอยคล้ายทะเลสาบอยู่หุบเขาลึกที่บัดนี้ไม่มีน้ำหลงเหลืออยู่แล้ว แต่เชื่อว่าในอดีตอาจเคยมีน้ำไหลตัดผ่านบริเวณหุบเขาดังกล่าวเป็นทางยาวกว่า 50 กิโลเมตร
"นี่ถือว่าเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของแนวชายฝั่งที่อยู่บนพื้นผิวดาวอังคาร และจากการที่สามารถบ่งบอกได้ว่ามันเป็นแนวชายฝั่งทะเลสาบ ประกอบกับหลักฐานทางธรณีวิทยาอื่นๆ ทำให้เราคำนวณขนาดของทะเลสาบได้ ซึ่งน่าจะกินพื้นที่กว้างประมาณ 207 ตารางกิโลเมตร และมีความลึกถึง 500 เมตร ในสมัยที่ยังมีน้ำขังอยู่ เมื่อประมาณ 3.4 พันล้านปีที่แล้ว" ดี อากีลเล กล่าวในเอเอฟพี
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาครั้งนี้ในวารสาร จีโอฟิสิคัล รีเซิร์ช เลตเตอร์ส (Geophysical Research Letters) ฉบับเมื่อเร็วๆนี้ และให้ชื่อบริเวณที่เชื่อว่าเป็นทะเลสาบบนดาวอังคารในอดีตกาลว่า ทะเลสาบเชลบาทานา (Shalbatana lake) ซึ่งมีขนาดพอๆ กับทะเลสาบแชมเพลน (Lake Champlain) ที่อยู่ระหว่างเขตรอยต่อของมลรัฐนิวยอร์กและมลรัฐเวอร์มอนท์ สหรัฐฯ
"การค้นพบนี้ ราวกับว่าเราได้ค้นพบจอกศักดิ์สิทธิ์เลยทีเดียว เพราะไม่เพียงแต่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเคยมีระบบน้ำในทะเลสาบบนดาวอังคารในอดีต แต่เราเคยคิดว่าบนดาวอังคารในช่วงเวลานั้นทั้งหนาวเย็นและแห้งแล้ง แต่ทะเลสาบนี้กลับเกิดขึ้นในขณะที่ช่วงเวลาอบอุ่นบนดาวอังคารค่อยๆ เหือดหายไป" ไบรอัน ฮายเนค (Brian Hynek) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
ทั้งนี้ เดิมทีนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าพื้นผิวบนดาวอังคารที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 4.1-3.7 พันล้านปีก่อน ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ดาวอังคารยังอบอุ่นและชุ่มชื้น ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคแห่งความหนาวเย็นและแห้งแล้งในเวลาต่อมา แต่จากการประเมินร่องรอยของทะเลสาบที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วง 3.4 พันล้านปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่ายุคอบอุ่นของดาวอังคารสิ้นสุดลงช้ากว่าที่เคยเข้าใจกันอย่างน้อยก็ 300 ล้านปี และน้ำในทะเลสาบก็น่าจะระเหยกลายเป็นไอหรือกลายเป็นน้ำแข็งไปจนหมดในระหว่างที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอย่างฉับพลัน
นอกจากนี้ ภาพถ่ายดังกล่าว ยังเผยให้เห็นร่องรอยของน้ำที่กัดเซาะหุบเขา และมีการสะสมของดินตะกอนเกิดเป็นลักษณะคล้ายดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในบริเวณที่ถัดจากทะเลสาบไม่ไกลนัก ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าอาจจะมีร่องรอยบางอย่างที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารที่อาจเคยมีอยู่ในอดีต และน่าสนใจที่จะมีการสำรวจบริเวณนี้อย่างจริงจังในอนาคต เพราะดินตะกอนบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เกิดขึ้นบนโลกนั้นถือได้ว่าเป็นแหล่งสะสมของสารอินทรีย์และสัญญาณอื่นๆของสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างดี
"หากเป็นบนโลก สามเหลี่ยมปากแม่น้ำและทะเลสาบจัดว่าเป็นแหล่งที่สะสมและรักษาสัญญาณชีพของสิ่งมีชีวิตได้อย่างยอดเยี่ยม ถ้าชีวิตเคยเกิดขึ้นจริงบนดาวอังคาร ดินตะกอนปากแม่น้ำก็อาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะปลอล็อคชีวิตในอดีตบนดาวอังคารได้" นักวิจัยกล่าว