วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ คืออีกช่วงเวลาแห่งการรอคอยของนาซาที่จดจ่อกับการลงจอดของยาน "ฟินิกซ์" หุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารซึ่งจะเสาะหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตบนดาวแดง
วันอาทิตย์ที่ 25 พ.ค.51 นี้เป็นอีกช่วงเวลาที่องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) รอคอยกับการลงจอดของยานฟินิกซ์มาร์ส (Phoenix Mars) บริเวณขั้วเหนือของดาวแดง
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ยานสำรวจดาวอังคารที่มีแขนกลสำหรับขุดเจาะนี้ เล็งจะลงจอดบริเวณขั้วเหนือ ซึ่งยังไม่เคยสำรวจมาก่อน และเป็นแหล่งสะสมของน้ำแข็งที่เชื่อว่าฝังอยู่ใต้พื้นผิวดาวอังคาร
ทั้งนี้หลังจากทะยานออกจากแหลมคานาเวอรัล (Cape Canaveral) รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางปีที่แล้วยานฟินิกซ์ได้เดินทางเป็นระยะทางประมาณ 680 ล้านกิโลเมตรเพื่อลงจอดยังเป้าหมายในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้
"มันคล้ายกับความตื่นเต้นของวันแรกๆ มีความตื่นเต้นมากมายแต่ก็ยังมีความตื่นกลัวอยู่บ้าง" เอ็ด เซดิวีย์ (Ed Sedivy) ผู้จัดการโครงการจากบริษัทล็อคฮีดมาร์ติน (Lockheed Martin) ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างยานฟินิกซ์กล่าว
แม้ว่ายานฟินิกซ์จะขาดเครื่องมือในการตรวจจับสัญญาณของสิ่งมีชีวิตต่างดาว ทั้งที่มีอยู่ในตอนนี้หรือที่เคยมีในอดีต แต่ยานสามารถศึกษาน้ำแข็งที่ละลาย และมามองหาสัญญาณขององค์ประกอบอินทรีย์ที่ในแผ่นดินน้ำแข็งได้ เพื่อประเมินว่าบริเวณดังกล่าวจะมีชีวิตอุบัติขึ้นได้หรือไม่ ทว่าก่อนที่ยานนักธรณีนี้จะขุดเจาะแผ่นดินของดาวแดงได้ ก็ต้องผ่านชั้นบรรยากาศของดาวอังคารลงไปให้ได้ก่อน
สำหรับอุปกรณ์หลักของยานนี้ คือแขนกลยาว 2.4 เมตรที่ทำจากอลูมิเนียมและไททาเนียม สามารถขุดลึกลงไปได้ราว 60 เซนติเมตร เมื่อแขนกลขุดลงไปพบน้ำแข็ง ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ลึกตั้งแต่ไม่กี่เซนติเมตร ลงไปถึงหลายสิบเซนติเมตร สว่านที่อยู่ปลายแขนจะเจาะน้ำแข็งให้แตก จากนั้นก็นำดินและน้ำแข็งไปใส่เตาอบแล้วทำให้ระเหยเป็นไอเพื่อวิเคราะห์หาองค์ประกอบอินทรีย์ซึ่งเป็นโครงสร้างของสิ่งมีชีวิต
ครั้งสุดท้ายตามรายงานของเอพีระบุว่า นาซาทดลองหาสารอินทรีย์ในการตามล่าสิ่งมีชีวิตต่างดาวเมื่อปี 2519 โดยยานแฝดไวกิง (Viking) แต่ก็ไม่มีข้อสรุปของการพบสัญญาณสิ่งมีชีวิตแต่อย่างใด
อีกหนึ่งภาระกิจของยานฟีนิกซ์ คือการตรวจสอบน้ำแข็งใต้พื้นดาวอังคารว่า เคยละลายเมื่อดาวอังคารร้อนกว่าและชุ่มช่ำมากกว่านี้หรือไม่ หากพบการทับถมของเหลือหรือทรายก็อาจเป็นหลักฐานการไหลของน้ำในอดีต
เหตุผลที่เลือกเป้าหมายของยานฟินิกซ์อยู่ที่ละติจูดสูงๆ ซึ่งเทียบได้กับกรีนแลนด์หรือตอนเหนือของอลาสกาบนพื้นโลก เพราะหากมีองค์ประกอบของสารอินทรีย์อยู่ก็น่าจะถูกเก็บรักษาไว้ในน้ำแข็ง และนักวิจัยก็ไม่ได้ตั้งความหวังที่จะพบน้ำในรูปของเหลวเนื่องจากบริเวณดังกล่าวหนาวเย็นมาก
"บริเวณขั้วดาวเป็นแหล่งเก็บรักษาที่ยอดเยี่ยม เหมือนคุณเก็บอาหารไว้ในช่องแช่แข็งภายในห้องครัว ดวงดาวก็เก็บรักษาวัสดุอินทรีย์และประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตไว้ภายในน้ำแข็ง" ปีเตอร์ สมิธ (Peter Smith) นักวิจัยหลักของโครงการจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) ในทูซอน กล่าว
ในวันอาทิตย์นี้ยานฟินิกซ์จะพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศของดาวอังคารด้วยความเร็วเกือบ 20,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดย 7 นาทีหลังจากผ่านเข้าไปยานจะอาศับแรงเสียดทานของชั้นบรรยากาศและร่มชูชีพเพื่อชะลอความเร็วลงเหลือ 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และก่อนจะแตะพื้นยานจะจุดระเบิดเครื่องยนต์เพื่อให้ลงจอดอย่างนิ่มนวล
หากทุกอย่างผ่านไปด้วยดีทางศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินบนโลกคาดว่าจะได้รับสัญญาณในช่วงประมาณ 06.53 น.ของวันที่ 26 พ.ค.51 ตามเวลาประเทศไทย
ล่าสุดที่นาซาพยายามลงจอดแบบนุ่มนวลนั้นจบลงที่หายนะ โดยเมื่อปี 2542 ยานมาร์สโพลาร์แลนเดอร์ (Mars Polar Lander) พยายามลงจอดที่ขั้วใต้ของดาวแค่เครื่องยนต์ก็ตายสนิท
การสูญเสียยานสำรวจดาวอังคารอีกลำคือ มาร์สไคลเมทออร์บิเตอร์ (Mars Climate Orbiter) ในยุค "เร็วกว่า ดีกว่า ถูกกว่า" ของนาซา ผลักดันให้องค์การอวกาศแห่งสหรัฐฯ แยกย่อยโครงการสำรวจดาวอังคารอื่นๆ
หากยานฟินิกซ์ประสบความสำเร็จในการลงจอดดาวอังคาร ก็จะเป็นยานสำรวจดาวแดงอีกลำนอกเหนือไปจากสปิริต (Spirit) และออพพอร์จูนิตี (Opportunity) ซึ่งทำงานอยู่แล้ว โดยภายใน 4 ปียานทั้งสองได้สำรวจดาวอังคารเป็นระยะทางกว่า 16 กิโลเมตรและได้พบหลักฐานทางธรณีวิทยาที่บ่งชี้ว่าครั้งหนึ่งไหลผ่านพื้นผิวดาวอังคารในอดีต
อย่างไรก็ดียานฟินิกซ์ถูกออกแบบมาให้ทำงานประจำที่ ส่วนการสื่อสารกับทางโลกนั้นจะส่งผ่านยานของนาซา 2 ลำที่โคจรรอบดาวอังคาร
ทั้งนี้เมื่อถึงพื้นผิวดาวยานฟินิกซ์คอย 15 นาทีก่อนจะคลี่แผงเซลล์แสงอาทิตย์ออก แล้วจะยกเสาตรวจวัดสภาพอากาศแล้วส่งสัญญาณแรกของสิ่งแวดล้อมกลับมายังโลก
จากนั้นอีกหลายซอล (sol) หรืออีกหลายวันของดาวอังคาร (ซึ่งยาวกว่าบนโลกประมาณ 40 นาที) ฟินิกส์จะตรวจสอบเครื่องมือของยานและกางแขนกลออกเพื่อตักดินขึ้นมาพิสูจน์ครั้งแรก ซึ่งปฏิบัติการของยานน้องใหม่นี้มีระยะนาน 90 วัน.