xs
xsm
sm
md
lg

พบแร่ "คาร์บอเนต" ในชั้นหินบนดาวแดง ส่อแววมีสัญญาณชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพพื้นผิวบนดาวอังคารบริเวณ Nili Fossae จากยาน MRO ซึ่งพบมีแร่คาร์บอเนต (ที่เห็นเป็นสีเขียว) อยู่ในชั้นหินที่โผล่ขึ้นมาเหนือผิวดิน แสดงให้เห็นว่าบริเวณดังกล่าวน่าจะเคยมีสภาพที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต (National Geographic/NASA)
ยานสำรวจดาวอังคารของนาซาพบแร่ "คาร์บอเนต" อีกแล้ว คราวนี้เจออยู่ในชั้นหินที่โผล่เหนือพื้นดินเป็นครั้งแรก เริ่มมีความหวังพบสัญญาณชีวิตดาวเคราะห์เพื่อนบ้าน นาซาเล็งส่งยานลำใหม่ไปสำรวจแถบนั้นแบบเจาะลึกทันที

ยานสำรวจดาวอังคาร มาร์ส รีคอนเนสซองซ์ ออร์บิเตอร์ หรือเอ็มอาร์โอ (Mars Reconnaissance Orbiter: MRO) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) สำรวจพบแร่คาร์บอเนต (carbonate) อยู่ปะปนกับชั้นหินแข็งของดาวอังคาร ซึ่งเอเอพีรายงานว่าได้มีนำเสนอเรื่องดังกล่าวในการประชุมของสมาพันธ์ธรณีฟิสิกส์อเมริกัน (American Geophysical Union) ที่ซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.51 ที่ผ่านมา และตีพิมพ์ลงในวารสารไซน์ (Science) ด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ เคยมีการตรวจพบแร่คาร์บอเนต ปะปนอยู่ในฝุ่นบนดาวอังคารมาแล้ว และเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมายานฟีนิกซ์ (Phoenix) ก็พบสัญญาณแร่คาร์บอเนตอยู่ในดินแถบขั้วโลกเหนือของดาวอังคาร จนกระทั่งล่าสุดภาพถ่ายพื้นผิวบนดาวอังคารจากยานเอ็มอาร์โอเผยให้เห็นแร่คาร์บอเนตปะปนอยู่กับชั้นหินแข็งที่โผล่ขึ้นมาเหนือพื้นผิวของดาวอังคารเป็นครั้งแรกในบริเวณนีลี ฟอสซี (Nili Fossae) ทางด้านตะวันตกของหลุมไอซิดิส (Isidis) ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าครั้งหนึ่งสิ่งแวดล้อมบนดาวอังคารอาจเคยเป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิต

ทั้งนี้ แร่คาร์บอเนตจะเกิดขึ้นในที่ที่มีการปรากฏของน้ำและเกิดปฏิกิริยากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเมื่อพบคาร์บอเนตในชั้นหินบริเวณ นีลี ฟอสซี แสดงว่าบริเวณดังกล่าวไม่ได้มีสภาพโหดร้ายทารุณเหมือนกับบริเวณอื่นบนดาวอังคาร ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุเพิ่มเติมว่าชั้นหินบริเวณนี้น่าจะเกิดขึ้นเมื่อราว 3.6 พันล้านปีมาแล้ว

"สิ่งมีชีวิตอาจดำรงอยู่ได้ยากในสภาพแวดล้อมที่เป็นกรดสูง หรือที่มีความเค็มมากๆ แต่ถ้าหากว่าบริเวณนั้นมีน้ำที่มีสภาพเป็นกลางแล้วล่ะก็ น่าจะเอื้อต่อจุลชีพทั้งหลายมากกว่าอยู่แล้ว และบริเวณดังกล่าวก็อาจมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับชีวิตแรกบนดาวอังคารจริงๆ ก็ได้" เบธานี เอห์ลแมน (Bethany Ehlmann) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) เมืองพรอวิเดนซ์ มลรัฐโรดไอส์แลนด์ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีนิวส์

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าแร่คาร์บอเนตที่พบบนดาวอังคารนั้นเป็นแมกนีเซียมคาร์บอเนต (magnesium carbonate) ขณะที่คาร์บอเนตที่พบบนโลกส่วนใหญ่พบอยู่ในชั้นดินตะกอนใต้ทะเล เหมือนอย่างปูนขาวและชอล์ก ซึ่งเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต (แคลเซียมคาร์บอเนต)

ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจดาวอังคารครั้งก่อนๆ มักพบร่องรอยว่าในอดีตบนดาวอังคารน่าจะมีน้ำที่มีความเป็นกรดสูง และมีเกลือละลายอยู่มาก ซึ่งคาร์บอเนตละลายได้อย่างรวดเร็วในสารละลายที่มีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ต่ำ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าคาร์บอเนตที่เกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงยุคเริ่มต้นของดาวอังคารอาจมลายหายไปได้อย่างง่ายดาย และอธิบายได้ว่าทำไมจึงพบแร่คาร์บอเนตบนดาวอังคารได้ยากเย็นนัก

ทว่าบริเวณ นีลี ฟอสซี ไม่เป็นเช่นนั้น และกลายเป็นจุดที่น่าสนใจในการค้นหาสัญญาณของชีวิตบนดาวอังคาร์ขึ้นมาทันที และในการส่งยาน มาร์ส ไซน์ แล็บบอราตอรี (Mars Science Laboratory: MSL) ไปสำรวจดาวอังคารเป็นลำถัดไป นาซาก็วางแผนจะให้ไปสำรวจที่บริเวณ นีลี ฟอสซี อย่างละเอียดอีกทีหนึ่ง จากแต่เดิมที่ยังไม่ได้สนใจบริเวณดังกล่าวมากนัก ซึ่งมีกำหนดออกเดินทางยังไม่แน่นอน แต่น่าจะภายในปี 2554

"ถ้าคุณสามารถรักษาสภาพของแร่คาร์บอเนตให้อยู่บนพื้นพิวได้ ก็แสดงว่าสารประกอบที่มีความสัมพันธ์กับธาตุคาร์บอนก็สามารถอยู่ได้ในบางสภาวะที่เกิดขึ้นบริเวณนั้น ซึ่งหมายความว่าที่แห่งนั้นเป็นที่ที่เหมาะมากที่จะค้นหาหลักฐานของสิ่งมีชีวิตในอดีต" ริชาร์ด ซูเรก (Richard Zurek) นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการเอ็มอาร์โอ ชี้แจงเพิ่มเติม
กำลังโหลดความคิดเห็น