xs
xsm
sm
md
lg

รามสูรเริ่มสำแดงฤทธิ์ ทำไทยพลาดชม "จันทร์บังอังคาร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาชิกสมาคมดาราศาสตร์ไทยและกลุ่มนักเรียนค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิกกำลังขะมักเขม้นอยู่กับการติดตั้งกล้องโทรทรรคน์ที่ด้านหน้าองค์พระประธานของบริเวณพุทธมณฑล เพื่อเตรียมส่องดูดวงจันทร์บังดาวอังคารให้ชัดถนัดตายิ่งขึ้น ก่อนจะพลาดหวังเพราะฟ้าปิดตั้งแต่ราว 21.00 น.
น่าเสียดาย! พายุรามสูรที่เริ่มก่อตัวในทะเลจีนใต้ทำเมืองไทยฟ้าปิด คนไทยค่อนประเทศพลาดหวังชม "ดวงจันทร์บังดาวอังคาร" ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์หาชมได้ยาก ต้องรอลุ้นอีกที 13 ปี ข้างหน้า บริเวณพุทธมณฑลมีสมาคมดาราศาสตร์เฝ้ารอชมอย่างคึกคัก สุดท้ายต้องเก็บของกลับบ้านอย่างน่าผิดหวัง

เมื่อค่ำคืนวันที่ 10 พ.ค.51 ที่ผ่านมา เวลาเกือบ 22.00 น. ได้เกิดปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์บังดาวอังคาร" อันเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หายาก ที่คนไทยทั่วทั้งประเทศจะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เพราะพายุฝนในทะเลจีนใต้เริ่มส่งอิทธิพลถึงประเทศไทย ทำให้ท้องฟ้าปิด สมาคมดาราศาสตร์ไทยที่หวังชมปรากฏการณ์อย่างแจ่มชัดเหนือท้องฟ้าพุทธมณฑล จ.นครปฐม ต้องพลาดชมไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนในอีกหลายจังหวัดที่มีประชาชนและคนรักดาวเฝ้ารอชมอยู่ก็พลาดหวังไม่แพ้กัน

ทั้งนี้ อาจารย์ประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย พร้อมคณะที่ประกอบด้วยกรรมการสมาคมฯ และนักเรียนดาราศาสตร์โอลิมปิกกว่า 10 ชีวิต ออกเดินทางจากที่ทำการสมาคมฯ ย่านเอกมัย และมุ่งหน้าไปพุทธมณฑลตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 10 พ.ค. เพื่อเฝ้ารอชมปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์บังดาวอังคาร" พร้อมกับเตรียมบันทึกภาพปรากฏการณ์สำหรับเผยแพร่สู่สาธารณะ

อาจารย์ประพีร์ เผยว่า เหตุที่เลือกเฝ้ารอชมปรากฏการณ์ที่บริเวณพุทธมณฑล เนื่องจากเป็นพื้นที่กว้างที่จะสามารถมองเห็นและบันทึกภาพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้าที่มุมเงย 23 องศาได้อย่างชัดเจน ขณะที่ในกรุงเทพฯ จะมีตึกสูงค่อนข้างมาก หรือหากเลือกขึ้นไปชมปรากฏการณ์บนตึกสูง แต่ก็จะไม่สามารถบันทึกภาพได้อย่างชัดเจน เพราะมีแรงสั่นสะเทือนอันเนื่องมาจากการจราจรบนท้องถนน

หลังจากที่ช่วยกันติดตั้งอุปกรณ์กล้องโทรทัศน์เป็นที่เรียบร้อยในช่วงหัวค่ำ ก็เป็นเวลาเดียวกับที่เสี้ยวของดวงจันทร์เริ่มอวดโฉมอยู่บนท้องเหนือศีรษะและค่อนไปทางทิศตะวันตก พร้อมกับดาวอังคารที่ประกบอยู่ไม่ห่าง ทว่าท้องฟ้ากลับไม่ค่อยเป็นใจ ทำให้ดาวอังคารเริ่มดูเลือนลางไป ส่วนดวงจันทร์ก็ผลุบๆ โผล่ๆ อยู่หลังหมู่เมฆเป็นระยะๆ ทำเอาเหล่าสมาชิกคนรักดาวเริ่มใจคอไม่ดี ก่อนที่ทั้งดวงจันทร์และดาวอังคารจะถูกบดบังจนมืดมิดตั้งแต่เวลายังไม่ถึง 21.00 น. แต่ทุกคนก็รอลุ้นกันว่าเมฆจะคล้อยผ่านไปและเผยให้เห็นดวงจันทร์และดาวอังคารทันเวลาหรือไม่

ด.ช.ธนวุฒิ ธนาธิบดี หรือน้องอะตอม ชั้น ม.4 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และนักเรียนเหรียญทองแดงดาราศาสตร์โอลิมปิกเมื่อปีที่แล้ว ที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เผยว่า ตราบใดที่ยังไม่ถึงเวลาสำคัญพวกเราก็ยังไม่หมดหวังที่จะได้ชมดวงจันทร์บังดาวคาร แต่หากพลาดชมปรากฏการณ์ในครั้งนี้ก็จะเฝ้ารอชมอีกทีใน 13 ปีข้างหน้า หรือปรากฏการณ์คล้ายกันแต่เป็นดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน

"โดยปกติแล้วดวงจันทร์ก็จะมีการเคลื่อนที่ไปบดบังดวงดาวต่างๆ บนท้องฟ้าเป็นประจำในทุกๆ วันอยู่แล้ว แต่สำหรับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะนั้นนานๆ ทีจะเกิดขึ้นสักครั้ง เนื่องจากระนาบการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกและดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์นั้นไม่ตรงกัน อาจอยู่ห่างกันบ้าง เฉียดใกล้กันบ้าง แต่นานครั้งจึงจะมาอยู่ในแนวเดียวกันและบดบังกันพอดี จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและหาชมได้ยาก" น้องอะตอมเผย

"ส่วนความสำคัญทางดาราศาสตร์นั้น ในสมัยก่อนนักดาราศาสตร์จะอาศัยปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ในการคำนวณหาขนาดของดาวเคราะห์ดวงนั้นๆ ได้ โดยเริ่มจับเวลาตั้งแต่ขอบของดวงจันทร์เริ่มสัมผัสกับขอบของดาวเคราะห์จนกระทั่งบดบังจนมิด ซึ่งกินเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น และนำมาคำนวณประกอบกับข้อมูลระยะห่างของดวงจันทร์และดาวเคราะห์กับโลกของเรา" น้องอะตอมอธิบายเพิ่มเติม

เมื่อถึงเวลา 21.56 น. มาถึง อันเป็นเวลาที่ด้านมืดของดวงจันทร์จะเริ่มสัมผัสกับขอบนอกของดาวอังคาร แต่ท้องฟ้าก็ยังคงปิดและไร้ซึ่งแสงดาวใดๆ ทุกคนที่เฝ้ารอคอยก็พลาดหวังไปตามๆ กัน แต่กระนั้นก็ยังไม่หมดกำลังใจและเฝ้ารอดูปรากฏการณ์ช่วงวินาทีสุดท้ายต่อไปเมื่อขอบของดวงจันทร์อีกด้านเคลื่อนพ้นดาวอังคารในเวลา 22.42 น. ถึงแม้ว่าจะรู้อยู่แล้วว่าเป็นไปได้ยากมาก

กระทั่งช่วงเวลาที่รอคอยได้ผ่านพ้นไปภายใต้ท้องฟ้าที่ยังปิดสนิทอยู่เช่นเดิม จนสมาชิกทุกคนเก็บข้าวของเสร็จเรียบร้อยและเตรียมเดินทางกลับสมาคมฯ ในเวลาประมาณ 23.30 น. ก็ยังไม่เห็นแม้แต่แสงจันทร์เล็ดลอดออกมาจากหลังม่านเมฆ

น้องปริ๊นท์ น.ส.วิชวรรณ สกุลสุพิชญ์ ชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และนักเรียนดาราศาสตร์โอลิมปิกเหรียญเงินปีล่าสุด หนึ่งในคณะนักเรียนที่มาร่วมชมปรากฏการณ์ครั้งนี้เผยว่า ส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าผิดหวังมากแต่อย่างใด เนื่องจากก่อนมาร่วมกิจกรรมก็ศึกษาข้อมูลสภาพอากาศมาบ้างแล้ว ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาก็พยากรณ์ไว้แล้วว่าช่วงนี้จะมีพายุเข้า มีเมฆฝนปกคลุมท้องฟ้า จึงเตรียมใจไว้แล้วว่าอาจไม่ได้ชมปรากฏการณ์ที่หวัง แต่เพียงแค่ได้มาร่วมกิจกรรมภาคสนามพร้อมกับเพื่อนๆ นักเรียนดาราศาสตร์โอลิมปิกด้วยกันก็คุ้มค่าแล้ว และครั้งหน้าหากมีโอกาสก็จะมาร่วมกิจกรรมลักษณะนี้อีกเช่นกัน

ด้านอาจารย์ประพีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า น่าเสียดายที่พลาดชมปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคารในครั้งนี้ แต่ในเมื่อเป็นกฏเกณฑ์ของธรรมชาติและเราก็ไม่อาจฝ่าฝืนได้ และการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ก็มักเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยครั้ง เราก็ต้องยอมรับได้ เมื่อครั้งนี้ไม่ได้เห็น ครั้งหน้าก็ยังมีโอกาสอีกเช่นกัน

อย่างไรก็ดี นักดูดาวในหลายพื้นที่ของประเทศไทยก็อาจผิดหวังไม่แพ้กัน ซึ่งอาจารย์ประพีร์บอกว่ามีรายงานมาว่าในหลายพื้นที่ของประเทศไทยก็ท้องฟ้าปิดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา และเชียงใหม่ ซ้ำบางท้องที่ก็อาจมีฝนตกร่วมด้วย แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะมีใครในท้องที่ไหนโชคดีได้เห็นดวงจันทร์บังดาวอังคารกันบ้าง

สำหรับใครที่พลาดชมปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคารเมื่อคืนวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา สามารถชมภาพแอนิเมชันจำลองปรากฏการณ์ได้ที่เว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย และปรากฏการณ์เดียวกันนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 17 เม.ย. 2564 หรือในอีก 13 ปีข้างหน้า
ช่วยกันอย่างขยันขันแข็ง




ถึงแม้จะอดเห็นปรากฎการณ์จันทร์บังดาวอังคารกันทั่วประเทศ แต่เรามีคลิปดาวอังคารใกล้ดวงจันทร์ ในวันที่มีปรากฎการณ์ดังกล่าวมาฝาก จากหอดูดาวบัณฑิต โดยวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต และวิษณุ เอื้อชูเกียรติ ผู้บันทึกภาพและจัดทำออกมาเป็นคลิป


อาจารย์ประพีร์ชี้ชวนให้ผู้ร่วมคณะดูดวงจันทร์บนท้องฟ้าที่เริ่มปรากฏให้เห็นในช่วงใกล้ค่ำ
 ดวงจันทร์เสี้ยวที่ยังพอมองเห็นช่วงพลบค่ำเหนือองค์พระประธาน ก่อนจะถูกบดบังด้วยหมู่เมฆจนมืดมิดก่อนหน้าเวลาเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคารประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า
กล้องโทรทรรศน์ขนาด 14 นิ้ว ตัวนี้ทีมงานเตรียมมาสำหรับบันทึกภาพวินาทีที่ดวงจันทร์เคลื่อนบดบังดาวอังคาร แต่แล้วก็ต้องพลาดหวังเพราะฟ้าปิด
เหล่านักเรียนดาราศาสตร์โอลิมปิกยังสนุกสนานกับการปรับโฟกัสของกล้อง เตรียมส่องจันทร์บังอังคารเต็มที่
ส่องดูดาวเพลินๆ ก่อนถึงเวลาชมจันทร์บังอังคาร
กำลังโหลดความคิดเห็น