xs
xsm
sm
md
lg

ค่ำวันที่ 10 พฤษภา....มองฟ้าชม "จันทร์บังดาวอังคาร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส่วนหนึ่งของภาพเคลื่อนไหวจำลองปรากฏการณ์ดวงจันทร์เคลื่อนบดบังดาวอังคาร (จุดสีขาวบนด้านมืดของดวงจันทร์) ในวันที่ 10 พ.ค.51 นี้ จัดทำโดย ปณัฐพงศ์ จันทรวัฒนาวณิช เผยแพร่ในเว็บไซด์สมาคมดาราศาสตร์ไทย
คืนวันเสาร์ที่ 10 พ.ค.นี้ คนไทยทั่วประเทศจะได้มีโอกาสชมปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงเหนือ กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก หากพลาดครั้งนี้อาจต้องรอชมอีกครั้งในอีก 13 ปีข้างหน้า

อาจารย์ประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย เปิดเผยว่า ในคืนวันเสาร์ที่ 10 พ.ค.51 นี้ เวลาประมาณ 22.00 น.จะเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” (occultation) ขึ้นทางขอบฟ้าด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เปิดโอกาสให้คนไทยทั่วประเทศมองเห็นปรากฏการณ์ได้ด้วยตาเปล่า

อย่างไรก็ดี ผู้ชมปรากฏการณ์ในภูมิภาคต่างๆ จะเห็นปรากฏการณ์ในเวลาและตำแหน่งบนท้องฟ้าที่แตกต่างกันไปเล็กน้อย ผู้สังเกตปรากฏการณ์ใน จ.เชียงใหม่ จะได้เห็นปรากฏการณ์เป็นจังหวัดแรกของประเทศในเวลา 21.54 น.

สำหรับผู้สนใจชมปรากฏการณ์ควรเลือกสถานที่ที่ไร้แสงไฟรบกวนและปลอดจากต้นไม้ ตึกอาคาร หรือเมฆบัดบังทัศนียภาพใกล้ขอบฟ้า

ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ อาจเริ่มสังเกตปรากฏการณ์ตั้งแต่ 21.00 น.เป็นต้นไป โดยจะเห็นดาวอังคารเป็นจุดสีส้มแดงอ่อนๆ และเคลื่อนที่น้อยมากเหนือด้านมืดของดวงจันทร์ในคืนขึ้น 6 ค่ำ ก่อนด้านมืดของดวงจันทร์จะค่อยๆ เคลื่อนขึ้นไปสัมผัสกับขอบนอกของดาวอังคารในเวลา 21.56 น. ที่มุมเงย 23 องศา และจะเคลื่อนบดบังดาวอังคารจนมิดในเวลาเพียง 12-13 วินาที

จากนั้นดวงจันทร์จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงค่อยๆ เคลื่อนผ่านดาวอังคาร และเผยให้เห็นดาวอังคารอีกครั้ง แต่เนื่องจากดาวอังคารจะไปปรากฏในด้านสว่างของดวงจันทร์ในตำแหน่งใกล้ขอบฟ้ามากขึ้นจึงอาจไม่เห็นปรากฏการณ์ด้วยตาเปล่า โดยดวงจันทร์จะเคลื่อนผ่านดาวอังคารทั้งดวงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้งในเวลา 22.42 น.ถือเป็นอันสิ้นสุดปรากฏการณ์

ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย นายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการสมาคมฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากประเทศไทยแล้ว หลายประเทศในเอเชียก็มีโอกาสสังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เช่นกัน ได้แก่ ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล พม่า กัมพูชา ดินแดนทิเบต เกาะน้อยใหญ่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศลาวและเวียดนาม รวมไปถึงซีกตะวันตกของมาเลเซียและอินโดนีเซีย
 
นายวรเชษฐ์ เผยอีกว่า ตั้งแต่ปี 2501 เป็นต้นมา ได้เกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคารมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 16 ส.ค.29 คนไทยสามารถเห็นปรากฏการณ์ได้จากทุกจุดทั่วประเทศ โดยปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคารวันที่ 10 พ.ค.นี้จะเป็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ครั้งล่าสุดหลังจากวันที่ 24 ม.ค.45 ที่เกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเสาร์มาแล้ว
 
ด้านอาจารย์วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดูดาวเจ้าของหอดูดาวบัณฑิต ต.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งหมายมั่นปั้นมือว่าจะร่วมสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนี้ พร้อมบันทึกภาพและจัดทำเป็นคลิปวีดิโอปรากฏการณ์เผยแพร่ ได้อธิบายที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า เกิดจากการที่ตำแหน่งของผู้สังเกตการณ์บนโลก (ไม่ใช่ "ตำแหน่งของโลก" เพราะไม่ใช่ทุกตำแหน่งบนโลกที่เห็นปรากฏการณ์ได้) ตำแหน่งดวงจันทร์ และตำแหน่งของดาวอังคารมาอยู่ในแนวเดียวกันพอดี คล้ายกับการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา แต่สลับกันระหว่างดาวอังคารและดวงอาทิตย์ 
 
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าปรากฏการณ์ประเภทนี้จะเกิดขึ้นเป็นวงรอบ ซึ่งนักดาราศาสตร์สามารถคำนวณการเกิดปรากฏการณ์ได้ว่า จะเกิดขึ้นเมื่อใดด้วยโปรแกรมเฉพาะ  เนื่องจากดวงดาวแต่ละดวงในระบบสุริยจักรวาลต่างมีวงโคจรที่แตกต่างกัน การคำนวณการเกิดปรากฏการณ์จึงต้องอาศัยโปรแกรมที่จัดทำเฉพาะปรากฏการณ์นั้นๆ

อย่างไรก็ดี อาจารย์ประพีร์ นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากและสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แม้จะไม่มีความหมายในเชิงการค้นคว้าวิจัยด้านดาราศาสตร์ แต่ก็เปิดโอกาสให้เยาวชนที่สนใจดาราศาสตร์ใช้เป็นแบบฝึกหัดภาคสนามในการวัดระยะเชิงมุมระหว่างดวงจันทร์และดาวอังคารที่ระยะต่างๆ ได้

นอกจากนี้อาจารย์ประพีร์ แนะนำด้วยว่า ผู้ที่มีกล้องสองตา กล้องสองตาจะช่วยให้เห็นดาวอังคารได้ชัดขึ้นเล็กน้อย ส่วนผู้ที่ต้องการบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ด้วยควรใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 14 นิ้วขึ้นไป โดยควรไปชมกันเป็นหมู่คณะและไม่ควรไปชมในสถานที่เปลี่ยวเพื่อให้ชมปรากฏการณ์ได้อย่างปลอดภัยที่สุด

ส่วนปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” ที่สังเกตเห็นได้ในประเทศไทยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในอีก 13 ปีข้างหน้าในวันที่ 17 เม.ย.64 ซึ่งสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ได้ทั่วประเทศเช่นกัน และจะเกิดปรากฏการณ์อีกครั้งในอีกประมาณ 19 ปีถัดไปในวันที่ 21 มี.ค.83 ที่สามารถเห็นปรากฏการณ์ได้จากทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง

*** ลองชมภาพแอนิเมชันจำลองปรากฎการณ์ "ดวงจันทร์บังดาวอังคาร" ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 พ.ค.51 นี้จากเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย
อาจารย์ประพีร์ วิราพร (ภาพจากสมาคมดาราศาสตร์ไทย)



*** การผ่านกัน หรือการบดบังกันระหว่างเทห์วัตถุบนท้องฟ้าที่เราสามารถสังเกตได้มี 3 แบบคือ


occultation : การบัง
คือการที่ดาวดวงใหญ่เคลื่อนที่มาบังดวงดวงอื่นที่มีขนาดเล็กกว่า ทำให้เทห์ฟ้าที่อยู่เบื้องหลังหายไปบางส่วนหรือทั้งหมด อย่างปรากฏการณ์ ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ต่างๆ


eclipse : อุปราคา คือ การที่แสงจากดาวหนึ่ง ถูกบดบังโดยอีกดาวหนึ่ง หรือที่เรารู้จักว่า "คราส" อย่าง "จันทรคราส" หรือ "จันทรุปราคา" และ "สุริยคราส" หรือ "สุริยุปราคา"


transit : การผ่าน คือ การที่วัตถุขนาดเล็กเคลื่อนที่ผ่านหน้าวัตถุที่ใหญ่กว่า เช่น ดาวพุธหรือดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เราจะเห็นเป็นจุดสีดำขนาดเล็กเคลื่อนที่ผ่านดวงอาทิตย์ไป


อาจารย์วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต
 แผนภาพแสดงปรากฏการณ์ (ภาพจากสมาคมดาราศาสตร์ไทย)
ตารางเวลาและบอกตำแหน่งที่จะสังเกตเห็นปรากฏการณ์แยกตามจังหวัดสำคัญๆ ของแต่ละภาค (ภาพจากสมาคมดาราศาสตร์ไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น