xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ "ดวงดาว" ก็ควบคุมเราอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดวงตะวัน ดวงดาวที่สำคัญต่อชีวิตบนโลก
หลายคนอาจไม่รู้ตัวว่า เราตื่น เรานอนหรือดำเนินชีวิตประจำวันอยู่ภายใต้การควบคุมดวงดาว แม้กระทั่งการกำหนดปีงบประมาณ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับโหราศาสตร์ หากแต่วิถีการโคจรของดวงดาวคือเกณฑ์ในการกำหนด "วัน" และ "เวลา"

"เราอยู่ในมัน เราเลยไม่สำนึก เหมือนปลาไม่สำนึกว่าน้ำสำคัญจนกว่าน้ำหมด" น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โลก และดาราศาสตร์ (ลีซา) กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถึงความสำคัญของดวงดาวที่มีต่อวิถีชีวิต และบอกด้วยว่าวิถีชีวิตคนกรุงที่อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมตั้งแต่เช้าจรดเย็นอาจเห็นภาพไม่ชัด แต่ชาวบ้านในชนบทได้รับอิทธิพลโดยตรงในฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว

"คิดดู โลกควบคุมเราอยู่นะ วัฏจักรเป็นวันเกิดจากโลกหมุนรอบตัวเอง ครบรอบปีเป็นตัวกำหนดตัดปีงบประมาณก็เกิดจากโลกหมุนรอบตัวอาทิตย์ แม้แต่แกนโลกเอียงก็ทำให้เกิดฤดูกาล เพราะหากฝนตกเท่าๆ กัน ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตก็จะมีน้อย โลก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จึงสำคัญกับเรา" ผู้อำนวยการลีซากล่าว

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่าดวงดาวมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตนั่นคือปรากฏการณ์ "ตะวันอ้อมข้าว" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์จะค่อนไปทางทิศใต้ ขึ้นและตกในช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วงฤดูหนาวที่กลางวันสั้นกว่ากลางคืน และเป็นช่วงเวลาเกี่ยวข้าวของชาวนา โดยช่วงเวลานี้แสงแดดมีพลังงานน้อย ต้นข้าวจะตายแต่ได้สร้างเมล็ดไว้สืบพันธุ์ต่อไป

"ตั้งแต่โบราณ ทุกอารยธรรมกราบไหว้ดวงอาทิตย์ คนจีนไหว้พระจันทร์ เราผูกพันกับดวงดาว แต่เราไม่รู้ นาฬิกาที่เราใส่กันก็ได้มาจากดวงอาทิตย์ เวลาครอบชีวิตเราอยู่ เราอยู่ในมันจนเพลิน เลยไม่รู้ตัว เราอาจมองว่าดาราศาสตร์ไกลตัว แต่จริงๆ แล้ว คุณหลับ-นอนก็เกี่ยวกับดวงดาว พระอาทิตย์ขึ้นคุณก็ต้องตื่น และดวงอาทิตย์ยังเป็นแหล่งสร้างอาหารและพลังงานให้กับโลก" นอ.ฐากูรกล่าว

เพื่อให้เด็กๆ ชาวกรุงได้สัมผัสวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับดวงดาว ทางลีซาจึงได้จัดกิจกรรม "ตะวันอ้อมข้าว ดูดาวบนฟาง" ขึ้น ณ โรงเรยนหนองแต้วรวิทย์ อ.แ้ก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เมื่อปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนเพลินพัฒนา กว่า 30 ชีวิต เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปร่วมกิจกรรมในถิ่นอีสาน พร้อมนักเรียนจากโรงเรียนพระกุมารร้อยเอ็ด อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ประมาณสิบกว่าคนเข้าร่วมสังเกตการณ์

สำหรับกิจกรรมที่เยาวชนในกรุงและเยาวชนในท้องถิ่นเจ้าบ้านได้ร่วมกันลงมือ คือ ในช่วงกลางวันเป็นกิจกรรมเกี่ยวข้าวในแปลงนาของโรงเรียนหนองแต่วรวิทย์ และกิจกรรมนวดข้าวที่ได้จากการเกี่ยว ประกอบอาหารโดยใช้กบ ปลาและไข่จากไก่ที่ทางโรงเรียนเลี้ยงไว้ โดยระหว่างกิจกรรมเรียนรู้วิถีชีวิตชนบท คั่นด้วยกิจกรรมวัดเงาแดดเพื่อดูวิถีของดวงอาทิตย์บนฟากฟ้าซึ่งไม่ได้พาดผ่านกลางฟ้า จึงเป็นที่มาของชื่อ "ตะวันอ้อมข้าว" และช่วงค่ำเป็นกิจกรรมดูดาวบนกองฟางที่เหลือจากการนวดข้าว

เหตุผลที่เลือกจัดกิจกรรมที่โรงเรียนหนองแต้วรวิทย์นั้น นอ.ฐากูร เล่าที่มาว่า ได้มีโอกาสแวะไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายลีซา ซึ่งหนองแต้วรวิทย์ก็เป็นหนึ่งในเครือข่าย และได้เห็นการทำเกษตรเพื่อเลี้ยงตัวเองของโรงเรียน ต่างไปจากแปลงเกษตรสาธิตที่เคยเห็นในโรงเรียนอื่นๆ โดยโรงเรียนปลูกข้าวปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ ปลาดุก หมูป่า ไว้เป็นอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน ซึ่งสิ่งที่ขึ้นชื่อมากคือ "การเลี้ยงกบ" จึงเกิดความประทับใจและอยากให้เรื่องนี้ถ่ายทอดออกไป

"ปกติเราเห็นแปลงเกษตรในโรงเรียนเป็นเพียงแปลงสาธิต หรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมชุมนุม แต่สำหรับที่นี่ทำเพราะควมจำเป็น ทำเพื่อความอยู่รอด กิจกรรมของโรงเรียนนี้จะต่างไปจากที่อื่น พอถึงเวลา 11 โมง เป็นเวลาที่พี่ ป.5-6 จะทำอาหารให้น้องๆ กิน อีกมุมหนึ่งคืออยากให้เด็กกรุงเทพฯ รู้ว่าเขาสบายมาก เรียนอย่างเดียว ขณะที่เพื่อนๆ ในชนบทต้องดิ้นรนและทำอาหารให้น้องกิน" นอ.ฐากูรเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ด้าน นางสุทธิลักษณ์ ตรีเศียร ครูใหญ่โรงเรียนหนองแต้วรวิทย์ เผยกับผู้จัดวิทยาศาสตร์ว่า โรงเรียนมีนักเรียนระดับอนุบาลและประถมรวม 69 คน และมีอาจารย์ 4 คน ซึ่งเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารของโรงเรียนในปี 2541 โรงเรียนขาดแคลนทุกอย่าง เธอจึงเริ่มพัฒนาโรงเรียนให้มีโรงอาหาร ห้องสมุดและสหกรณ์ โดยอาศัยแนวคิด "เกษตรทฤษฎีใหม่" และยึดแนวทางปฏิบัติในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่มาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนทุนพระราชทาน

"เราต้อง "ระเบิดจากข้างใน" ให้ได้ใจเด็ก ครู และชาวบ้านที่รอบข้าง ทำให้เขาเห็นว่าเราทำได้ แล้วเขาก็จะมาช่วย" นางสุทธิลักษณ์หรือครูเรียวกล่าวถึงแนวทางพัฒนาโรงเรียนให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่เดือดร้อนจากงบช่วยเหลือค่าอาหารกลางวันที่โรงเรียนได้รับ 10 บาทต่อนักเรียน 1 คน โดยเริ่มแรกใช้งบส่วนตัวสำหรับสร้างแหล่งอาหารกลางวัน ทั้งเลี้ยงปลาในบ่อดิน เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงกบ และปลูกข้าวบนพื้นที่ 3 ไร่เพื่อเป็นเสบียงอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน

ครูเรียวบอกว่า โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการครุวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีงานวิจัยเรื่องป่าชุมชน ส่วนการเรียนการสอนทางด้านดาราศาสตร์นั้นใช่สื่อของลีซา ทั้งนี้จากการเป็นเจ้าบ้านจัดกิจกรรมตะวันอ้อมข้าว ดูดาวบนฟางร่วมกับลีซานี้ ทำให้ครูใหญ่แห่งโรงเรียนประจำตำบลเล็กๆ ในชัยภูมิได้ตระหนักชัดขึ้นว่า วิถีชีวิตของคนเรานั้นมีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับดวงดาว โดยเฉพาะดวงอาทิตย์

"ดวงอาทิตย์เป็นดวงดาวที่เห็นบ่อยๆ และวิถีชีวิตคนชนบทก็จะเห็นได้บ่อยว่า ดวงดาวซึ่งในที่นี้คือดวงอาทิตย์นั้นมีผลต่อวิถีชีวิตของเกษตรกร อีกทั้งฤดูกาลและดวงอาทิตย์ก็มีผลต่อการเพาะพันธุ์กบด้วย ถ้าไม่มีแดดแค่ 3 วัน ก็จะไม่มีไข่เลย ลูกอ๊อดก็จะน๊อคตาย เราต้องใช้สายยางเปิดน้ำใส่บ่อให้เกิดออกซิเจน เพื่อพยุงชีวิตเสบียงอาหารของเด็กๆ ไว้" ครูใหญ่โรงเรียนหนองแต้วรวิทย์กล่าว

ภายหลังกิจกรรม 2 วัน 2 คืนที่นักเรียนเมืองกรุงและเด็กชนบทได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยการค้างคืนที่โรงเรียน ด.ญ.สุทธินี ระจิตตานนท์ นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนหนองแต้วรวิทย์ บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถึงสิ่งที่ได้รับว่า ได้รู้จักกับปรากฏการณ์ตะวันอ้อมข้าว ซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อน และบอกด้วยปกติทางโรงเรียนจะจัดกิจกรรมเกี่ยวข้าวใน "วันพ่อ" ของทุกปี แต่ปีนี้กิจกรรมเกี่ยวข้าวปีนี้เริ่มขึ้นในโอกาสพิเศษเนื่องจากการเข้าค่าย

ส่วน ด.ญ.ศุภากร ศุภผลถาวร นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนเพลินพัฒนาและนักเรียนลีซา กล่าวว่าชอบธรรมชาติภายในโรงเรียนหนองแต่วรวิทย์มาก ต่างจากในกรุงเทพฯ ซึ่งเต็มไปด้วยมลพิษและมีผู้คนมากมาย โดยสิ่งที่ประทับใจเป็นที่สุดคือหมูป่าที่โรงเรียนเลี้ยงไว้ ซึ่งหากทำได้อยากนำกลับบ้านด้วย ส่วนความสำคัญของดวงดาวเธอบอกว่าดวงดาวมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตหลายๆ อย่าง ที่เห็นได้ง่ายๆ คือนาฬิกาที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ก็เป็นผลพวงมาจากดวงดาว

ทางด้าน ด.ช.ปฏิพาน เจริญสุข นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนหนองแต้วรวิทย์ เผยว่าได้เรียนรู้เรื่องการโคจรของดวงอาทิตย์ วัดเงาของแสงแดดเพื่อดูแนวเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ และที่สำคัญคือได้รู้ว่า "มันร้อน" ส่วน ด.ช.ปรินทร ธรณี นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนพระกุมารร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งมาร่วมสังเกตการณ์กล่าวว่า ปกติชอบดูดาวด้วยตัวเองที่บ้านอยู่แล้ว และเล่าเรื่องดวงดาวให้น้องฟัง ซึ่งในการ์ตูนกลายเรื่องมีเรื่องราวเกี่ยวกับดาวอยู่ด้วย เช่น การ์ตูนเรื่องเซนต์เซย่า ที่ทำให้เขาได้รู้จักดาวหงส์ ดาวม้าบินและดาวแอนโดรมิดา เป็นต้น

"ดวงอาทิตย์ให้แสงสว่างกับโลก ให้ฤดูกาล เรื่องนี้ผมรู้อยู่แล้ว ซึ่งดวงดาวและธรรมชาติมีความสัมพันธ์ต่อกันทุกอย่าง ถ้าไม่มีดวงดาว โลกก็อยู่ไม่ได้ แต่ผมก็เพิ่งทราบเกี่ยวกับเรื่องตะวันอ้อมข้าวนี่แหละ" ปรินทรกล่าว

...อย่างไรก็ดี ท้ายสุด "วัน" และ "เวลา" ได้นำพาให้กิจกรรมร่วมระหว่างเยาวชนที่มีความแตกต่างกันทั้งถิ่นที่อยู่ วัฒนธรรมท้องถิ่นและวิถีชีวิตสิ้นสุดลง ตอกย้ำว่า "ดวงดาว" ควบคุมการดำเนินชีวิตของเราอยู่ทุกวัน...
ผู้ใหญ่สอนวิธีเกี่ยวข้าวให้หนูน้อยจากเมืองกรุง
ผู้เฒ่าสอนวิธีมัดกองข้าวให้นักเรียน
นอ.ฐากูร เกิดแก้ว
นวดข้าวหลังเกี่ยว
วัดเงาแดดเพื่อดูการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตยืบนท้องฟ้าว่า อ้อมข้าว จริงหรือไม่
นอนดูดาวบนกองฟาง
ด.ช.ปฏิพาน เจริญสุข
ด.ช.ปรินทร ธรณี
ด.ญ.ศุภากร ศุภผลถาวร
นางสุทธิลักษณ์ ตรีเศียร ครูใหญ่โรงเรียนหนองแต้วรวิทย์
กำลังโหลดความคิดเห็น