xs
xsm
sm
md
lg

ร่องรอยแห่งวิวัฒนาการ "หอยมรกต" เกาะตาชัย เทียบคล้าย "นกฟินช์" แห่งกาลาปากอส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา กับหอยทากสปีชีส์ แอมฟิโดรมัส แอตริคาโลสซัส (Amphidromus atricalossus) (ขวา) และหอยมรกต (ซ้าย) ที่เป็นสปีชีส์ย่อย และพบเฉพาะที่เกาะตาชัย จ.พังงา เท่านั้น
ขณะที่ "กาลาปากอส" มี "นกฟินช์" ให้ดาร์วินศึกษาวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต ทว่าเมืองไทยก็มี "หอยมรกต" ให้เรียนรู้เหมือนกัน หลังพบสปีชีส์ย่อย และลักษณะประชากรที่เริ่มมีความแตกต่างไปจากสปีชีส์เดิม อีกตัวอย่างของการศึกษาวิวัฒนการ ส่วนหนึ่งของนิทรรศการและกิจกรรมเพื่อร่วมฉลองครบ 200 ปี "ชาร์ลส์ ดาร์วิน" ที่บ้านวิทย์สิรินธรตลอดปี 52 พร้อมตัวอย่างพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์อีกหลากหลายชนิด

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เตรียมจัดกิจกรรม "เปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร" ซึ่งเป็นการร่วมฉลองในวาระครบรอบ 200 ปี "ชาร์ลส์ ดาร์วิน" นักธรรมชาติวิทยาผู้ให้กำเนิด "ทฤษฎีวิวัฒนาการ" โดยแถลงข่าวข่าวไปเมื่อวันที่ 12 ก.พ.52 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ซึ่งมีนักวิชาการหลายสาขา มาให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและการวิวัฒนาการ

โดยเฉพาะหอยมรกต ที่พบเฉพาะในประเทศไทย และเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นการวิวัฒนาการได้เทียบเท่ากับนกฟินช์บนเกาะกาลาปากอส ซึ่งมีสื่อมวลชนมากมายให้ความสนใจร่วมงาน รวมทั้งทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์"

ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หอยต้นไม้หรือหอยทากในสกุล แอมฟิโดรมัส (Amphidromus) มีเปลือกสวยงาม และพบเฉพาะในป่าแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น จึงได้รับสมญานามว่า "อัญมณีแห่งป่า" (Gems of the forest) ซึ่งหอยทากในสกุลนี้ มีอยู่ประมาณ 80 ชนิด ทั่วโลก โดยพบในประเทศไทยถึง 1 ใน 4 และจากการศึกษาวิจัยพบว่าหอยสกุลนี้มีมาตั้งเกือบ 35 ล้านปีมาแล้ว

"หอยทากสกุลนี้น่าสนใจมาก เพราะแม้อยู่ในสปีชีส์เดียวกัน ประชากรกลุ่มเดียวกัน แต่ก็มีความหลากหลายและแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งสี และการเวียนของเปลือกหอย โดยมีทั้งเวียนซ้ายและเวียนขวาอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นลักษณะที่ถูกกำหนดโดยพันธุกรรม และเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้หอยชนิดนี้อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากความแตกต่างนี้ทำให้หอยบางส่วน สามารถรอดชีวิตจากผู้ล่าบางชนิดในบางพื้นที่ได้ และขยายพันธุ์ได้ต่อไป" ศ.ดร.สมศักดิ์ อธิบาย

นอกจากนี้ ศ.ดร.สมศักดิ์ยังได้ยกตัวอย่างว่า งูบางชนิดเลือกกินเฉพาะหอยทากเวียนขวา ทั้งนี้เป็นเพราะความถี่ของซี่ฟันข้างขวามากกว่าข้างซ้าย จึงทำให้หอยทากเวียนซ้าย มีโอกาสรอดมากกว่า ส่วนในพื้นที่ที่ผู้ล่าถนัดล่าหอยเวียนซ้าย ก็จะทำให้มีประชากรหอยเวียนขวาอยู่มากว่าเช่นกัน

นอกจากนี้ ดร.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้คณะวิจัยของเขาสำรวจพบหอยมรกต (นามพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี) บนเกาะตาชัย นอกชายฝั่ง จ.พังงา และจากการศึกษาพบว่า หอยมรกตที่พบ เป็นหอยสปีชีส์ใหม่ คือ แอมฟิโดรมัส แอตริคาโลสซัส คลาสซิอาเรียส (Amphidromus atricalossus classiarius) ซึ่งเป็นสปีชีส์ย่อยของหอยสปีชีส์ แอมฟิโดรมัส แอตริคาโลสซัส (Amphidromus atricalossus) ที่พบบนแผ่นดินใหญ่

"ประชากรของหอยมรกต มีเปลือกเวียนซ้ายทั้งหมด ในขณะที่สปีชีส์เดิม มีทั้งเวียนขวาและเวียนซ้าย และยังมีขนาดเล็กกว่าสปีชีส์เดิมด้วย เมื่อศึกษาอวัยวะภายในก็พบว่ามีอวัยวะสืบพันธุ์สั้นลงและมีรายละเอียดต่างกัน จึงทำให้ไม่สามารถผสมพันธุ์กับสปีชีส์เดิมได้อีกต่อไป และฟันของหอยมรกตก็แตกต่างไปจากสปีชีส์เดิม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหอยมรกต เริ่มมีวิวัฒนาการแยกออกจากสปีชีส์เดิม" ดร.สมศักดิ์อธิบาย

หอยมรกตนี้เป็นตัวอย่างของการศึกษาวิวัฒนาการ ได้เช่นเดียวกับนกฟินช์บนหมู่เกาะกาลาปากอส ที่ดาร์วินเคยศึกษาเมื่อเกือบ 200 ปีมาแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญด้านหอย อธิบายต่อว่า หลักฐานทางธรณีบ่งชี้ว่าเกาะตาชัยเริ่มแยกออกจากแผ่นดินใหญ่เมื่อประมาณ 4,000 ปีที่แล้ว จากการที่น้ำทะเลสูงขึ้น และท่วมภูเขาบนแผ่นดินใหญ่เกิดเป็นเกาะน้อยใหญ่ นับแต่นั้นมาหอยมรกตก็เริ่มถูกตัดขาดจากสปีชีส์เดิม โดยมีน้ำทะเลคั่น และเริ่มวิวัฒนาการให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมบนเกาะตาชัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

คาดว่าในอีกไม่กี่ร้อยหรือพันปีข้างหน้า หอยมรกตอาจแยกเป็นสปีชีส์ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ หากไม่สูญพันธุ์ไปเสียก่อน เพราะเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 47 ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรหอยมรกตไม่น้อย และหอยมรกตอาจตายได้ทันทีเมื่อถูกน้ำทะเล

"หอยมรกต" เป็นหนึ่งในไฮไลต์ที่จะจัดแสดงภายในงานเปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ ที่จะเริ่มจัดขึ้นที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ในวันที่ 12 มี.ค. 52 นี้ และยังมีตัวอย่างพืชและสัตว์อีกมากมายให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต พร้อมด้วยนิทรรศการประวัติชีวิตและผลงานของดาร์วิน ทฤษฎีวิวัฒนาการหลังยุคดาร์วิน มหันตภัยของมนุษยชาติและการสูญพันธุ์ รวมทั้งกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ เช่น ค่ายหุ่นยนต์ปลา ค่ายวิศวกรรมการบิน และค่ายประชุมสุดยอดนักวิวัฒนาการรุ่นเยาว์ เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.52 เป็นต้นไป โดยจะมีนิทรรศการให้ชมได้ตลอดทั้งปี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-564-6700 ต่อ 1430, 1483-4 โทรสาร 02-564-6700 ต่อ 1482 หรือ www.nstda.or.th
หอยมรกตที่พบบนเกาะตาชัย เป็นหอยสปีชีส์ย่อยของสปีชีส์ที่พบบนแผ่นดินใหญ่ โดยคาดว่าในอีกไม่กี่ร้อยหรือพันปีข้างหน้าอาจวิวัฒนาการเป็นสปีชีส์ใหม่อย่างเต็มตัว
เปลือกหอยมรกตจากเกาะตาชัย (ซ้าย) และเปลือกหอยทากในสปีชีส์เดียวกันที่พบในป่าของประเทศไทย
นักวิชาการหลายคนมาร่วมแถลงข่าวการจัดกิจกรรมของบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร เพื่อร่วมฉลองครบรอบวันเกิด 200 ปี ชาร์ลส์ ดาร์วิน
ไซยาโนแบคทีเรีย สิ่งมีชีวิตชนิดแรกสุดของโลกที่เกิดขึ้นเมื่อราว 3,500 ล้านปีก่อน
หม้อข้าวหม้อแกงลิง พืชกินแมลง อีกหนึ่งความน่าทึ่งของวิวัฒนาการ (ภาพจาก สวทช.)
หุ่นยนต์ปลา การเลียนแบบวิวัฒนาการในธรรมชาติเพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ (ภาพจาก สวทช.)
กำลังโหลดความคิดเห็น