เอ่ยถึง "ชาร์ลส ดาร์วิน" ต้องนึกถึงเรือบีเกิล เกาะกาลาปากอส และทฤษฎีวิวัฒนาการ แต่สถานที่อีกแห่งหนึ่ง ที่มีอิทธิพลต่อผลงานและความคิดอันสะเทือนวงการวิทยาศาสตร์ของดาร์วินก็คือ "บ้าน" ของเขาเอง ที่ดาร์วินพำนักอาศัย หลังกลับจากการเดินทางรอบโลก และทำการค้นคว้าทดลองอยู่ที่นั่นจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.51 ที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดงานเสวนา คุยกัน...ฉันท์วิทย์ เรื่อง "200 ปี รำลึก ชาร์ลส ดาร์วิน กับ 150 ปี แห่งตำนานทฤษฎีวิวัฒนาการ" ซึ่งจะถึงวาระดังกล่าวในปี 2552 โดยมีนายปีย์ชนิตว์ เกษสุวรรณ หรือปีย์ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาร่วมเล่าประสบการณ์ จากการไปเยือนพิพิธภัณฑ์บ้านชาร์ลส ดาร์วิน (Charles Darwin) ที่ประเทศอังกฤษเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ในระหว่างที่เขาไปร่วมประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
นายปีย์ชนิตว์ เล่าว่า หลายคนมักคิดว่า ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินเกิดขึ้นจากการค้นพบ ระหว่างที่เขาเดินทางรอบโลกไปกับเรือหลวงบีเกิล (HMS Beagle) ในเวลา 5 ปี ซึ่งดาร์วินได้ร่วมเดินทางไปกับเรือหลวงบีเกิลในฐานะนักธรรมชาติวิทยา เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2373 ในขณะที่เขามีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น
ทว่าที่จริงแล้ว หลังจากนั้นดาร์วินยังต้องศึกษาค้นคว้า และทำการทดลองเพื่อยืนยันแนวความคิดของเขาอยู่นานเกือบ 20 ปี และทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นที่บ้านของเขาเองที่ ดาวน์ วิลเลจ (Downe Village) ในเมืองเคนท์ (Kent) ประเทศอังกฤษ ห่างจากกรุงลอนดอนไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 60 ไมล์
บ้านของดาร์วินเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ตั้งอยู่บนเนื้อที่ราว 10 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเขาซื้อเอาไว้หลังกลับจากการเดินทางไปกับเรือบีเกิลในปี 2385 ในราคา 4,000 ปอนด์ บริเวณโดยรอบบ้านมีทั้งทุ่งหญ้า คอกม้า แปลงปลูกดอกไม้ ผัก ผลไม้ ทั้งสำหรับบริโภคและทำการทดลอง ซึ่งบางครั้งลูกๆ ของเขาก็มาร่วมเรียนรู้ด้วย
จากบันทึกของภรรยาคู่ชีวิตระบุไว้ว่า ดาร์วินคิดว่าตนเองติดเชื้อโรคมาจากอเมริกาใต้ และรู้สึกไม่ค่อยสบายอยู่เสมอ เขาจึงมักไม่ค่อยเดินทางไกลหรือออกไปไหน นอกจากไปร่วมประชุมที่มหาวิทยาลัยบ้างเป็นครั้งคราว
ดาร์วินมักตื่นประมาณ 7 โมงเช้า และออกเดินไปตามทางเดินโรยกรวดข้างคอกเลี้ยงม้าเพื่อเรียบเรียงความคิดก่อนจะเริ่มทำงาน ระหว่างทางก็แวะสังเกตและศึกษาธรรมชาติละแวกนั้น ทั้งต้นไม้ใบหญ้าและแมลงหรือสัตว์ต่างๆ
ช่วงสายจะขลุกอยู่ที่แปลงปลูกพืชรอบบ้าน และในเรือนกระจก เพื่อบันทึกผลการทดลอง และเอนหลังพักผ่อนในห้องนั่งเล่น เคล้าเสียงเปียโนของภรรยา ก่อนที่จะลงมือเขียนบันทึกในห้องทำงานของเขาที่เต็มไปด้วยตำราหลายแขนง เช่น ธรณีวิทยา คณิตศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และมีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์อีกหลายชิ้น รวมถึงตัวอย่างสิ่งมีชีวิต ก้อนดิน แร่ธาตุ
ส่วนช่วงบ่าย หลังอาหารกลางวัน ดาร์วินจะใช้เวลาอยู่ในห้องบิลเลียด เพื่ออ่านหนังสือพิมพ์ และโต้ตอบจดหมายกับเพื่อนพ้องนักวิทยาศาสตร์ด้วยกัน อาทิ โจเซฟ ฮุกเกอร์ (Joseph Hooker) ผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์เมืองคิว ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านพฤกษศาสตร์ของดาร์วิน, อัลเฟด รัสเซล วอลเลซ (Alfred Russell Wallace) ผู้ที่มีแนวความคิดเรื่องวิวัฒนาการเช่นเดียวกับเขา, ชาร์ลส ลีเยล (Charles Lyell) โธมัส เฮนรี ฮักซ์เลย์ (Thomas Henry Huxley)
หลังจากนั้นก็พักผ่อนร่วมกับครอบครัวจนถึงราว 3 ทุ่มจึงเข้านอน ดูเหมือนดาร์วินใช้ชีวิตเรียบง่ายและธรรมดาเหมือนคนทั่วไป แต่ที่แตกต่างคือความช่างสังเกตในธรรมชาติรอบตัว และพยายามค้นคว้าเพื่อหาคำตอบ งานทดลองของดาร์วินมีทั้งสังเกตความหลากหลายของกล้วยไม้ ดอกพริมโรส ดอกลิ้นมังกร ศึกษาการเคลื่อนไหวและเติบโตของยอดอ่อนของพืช ดูการเคลื่อนไหวและการตอบสนองของไส้เดือน ทดลองผสมพันธุ์นกพิราบ สังเกตพฤติกรรมและรูปร่างของม้าและวัว
จากการศึกษาอยู่ภายในบริเวณโดยรอบบ้านเกือบค่อนชีวิต ดาร์วินจึงได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต และปัจจัยที่ทำให้ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเขาได้ตีพิมพ์เรื่องเหล่านี้ออกมาเป็นหนังสือ "ดิ ออริจิน ออฟ สปีชีส์" (The Origin of Species) ในปี 2402
ช่วงเวลาหลายปีหลังจากที่ดาร์วินเสียชีวิต บ้านหลังนี้ก็ถูกขายและเปลี่ยนเจ้าของไปหลายครั้ง กระทั่งผู้ครอบครองคนสุดท้ายค้นพบเอกสารที่บ่งบอกว่าบ้านหลังนั้นเป็นของดาร์วินมาก่อน จึงได้บูรณะและปรับเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์ในปี 2472 และต่อมาจึงอยู่ในความดูแลของรัฐบาลอังกฤษ จนถึงปี 2540 รัฐบาลประกาศให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และล่าสุดในปี 2550 องค์การยูเนสโกก็ได้คัดเลือกบ้านของดาร์วินให้เป็นมรดกโลก
ปัจจุบันบ้านของดาร์วินก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง ที่ชาวอังกฤษให้ความสนใจไปเที่ยวชมมากมาย โดยได้มีการจำลองให้เหมือนกับขณะที่ดาร์วินใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ทั้งห้องหับต่างๆ ภายในตัวบ้าน เรือนกระจก และแปลงปลูกพืชรอบบ้าน ที่มีการจำลองการทดลองของดาร์วินเอาไว้ด้วย เช่น ชุดทดลองการตอบสนองของไส้เดือน เป็นต้น
ส่วนทางเดินโรยกรวดข้างคอกเลี้ยงม้า (Sand walk) ที่ดาร์วินออกเดินเป็นประจำทุกเช้าก็ถูกเรียกขานว่า "ธิงกิง พาธ" (Thinking Path) หรือ หนทางนักคิด พร้อมกับเปิดให้ผู้เข้าชมได้เดินผ่านด้วย ไม่แน่ใครที่ได้เดินผ่านไปตามทางนี้แล้วอาจเกิดแนวความคิดทฤษฎีเขย่าโลกเหมือนอย่างดาร์วินบ้างก็เป็นได้
ปัจจุบันดาร์วินได้กลายเป็น 1 ใน 3 ของสัญลักษณ์แห่งดาวน์วิลเลจไปแล้ว ส่วนทุ่งหญ้ารอบบ้านของเขาก็ได้รับการยกฐานะให้เป็นธนาคารสมองของชุมชน หรือดาวน์ แบงก์ (Downe Bank) และทางมูลนิธิ เคนท์ ไวด์ไลฟ์ ทรัสต์ (Kent Wildlife Trust) ได้จัดเส้นทางเดินสำรวจสิ่งมีชีวิตรอบบ้านไว้ 3 เส้นทาง สำหรับผู้ที่ไปเยี่ยมชมเพื่อเปิดโลกการศึกษาธรรมชาติและซึมซับการเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเช่นเดียวกับดาร์วิน
นายปีย์ชนิตว์ บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์อีกว่าสิ่งที่เขาเรียนรู้ได้จากการไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านดาร์วินคือ การสนใจสังเกตและศึกษาในเรื่องใกล้ตัว ซึ่งหลายคนมักมองข้ามไป ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ช่วยจุดประกายความคิดได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการทำงานร่วมกัน หรือแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การทำงานเป็นผลสำเร็จได้
เนื่องในโอกาสที่ปี 2552 เป็นปีที่ครอบรอบวันคล้ายวันเกิด 200 ปี ของดาร์วิน และครบรอบ 150 ปี ของทฤษฎีวิวัฒนาการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดกิจกรรม "เปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ" เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้เปิดโลกวิทยาศาสตร์น่ารู้ผ่านหลากหลายกิจกรรม ทั้งค่ายวิทยาศาสตร์ นิทรรศการ อบรมเชิงปฏิบัติการ บรรยายพิเศษ และพบปะพูดคุยกับสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ของไทยอย่างใกล้ชิด
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานดังกล่าวได้ตลอดปี 2552 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สวทช. โทรศัพท์ 02-564-7000 ต่อ 1430, 1483-4 หรือ www.nstda.or.th
(ภาพประกอบข่าวจาก นายปีย์ชนิตว์ เกษสุวรรณ)