xs
xsm
sm
md
lg

ตาม "นุ่น" - "มาริโอ" เที่ยวมหกรรมวิทย์ฯ 51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิธีเปิดมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2551 ในวันที่ 8 เดือน 8 ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าไบเทค กรุงเทพฯ โดยมีนายวุฒิพงษ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ (คนกลาง) เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.พิชัย สนแจ้ง ผอ.อพวช. (ซ้าย) และ ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (ขวา)


นุ่น-มาริโอ ชวนเที่ยวเกาะกาลาปากอส (จำลอง) ตามรอยชาร์ลส์ ดาร์วิน สำรวจสิ่งมีชีวิตหน้าตาแปลกประหลาด ที่หาดูที่ไหนไม่ได้แล้ว พร้อมชมคอนเสิร์ตจากวงดนตรีหุ่นยนต์ ที่บินตรงมาจากญี่ปุ่น ต่อด้วยความสนุกตื่นเต้นไปกับพายุกระหน่ำ แผ่นดินไหว มหันตภัยจากภาวะโลกร้อน ที่เราต้องเรียนรู้วิธีรับมือ และต้องไม่พลาดกับการสัมผัสโลกใบเดิมด้วยความรู้สึกใหม่ที่ทำให้เราเรียนรู้การใช้ชีวิตและเข้าใจโลกมืดมากขึ้น

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ถือฤกษ์ดีวันที่ 8 เดือน 8 ในปี 2008 (8 ส.ค.51) เปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2551 ณ ไบเทค บางนา พร้อมเปิดตัว "มาริโอ เมาเร่อ" และ "นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา" 2 พรีเซนเตอร์ของงานด้วย ซึ่งมีสื่อมวลชนมากมาย รวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ร่วมสังเกตการณ์และติดตามรายงานข่าว

นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วท. กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีการจัดงานเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์เป็นประจำทุกปี และในปีนี้ได้จัดงานให้ยิ่งใหญ่ และยาวนานกว่าปีที่ผ่านๆ มา เพื่อให้เยาวชน และประชาชนได้มีโอกาสมาร่วมงานกันได้มากยิ่งขึ้น โดยหวังว่างานนี้จะสร้างความตื่นตัวในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนและประชาชนคนไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจติดต่อเข้าชมงานแล้วราว 4-5 หมื่นคนต่อวัน

ด้านมาริโอ เมาเร่อ นักแสดงหนุ่มขวัญใจวัยรุ่น ที่รับหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์ให้งานมหกรรมวิทย์ฯ ประจำปีนี้ เปิดเผยว่า เขาเองก็สนใจวิทยาศาสตร์เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องราวของธรรมชาติ และสัตว์ที่มีรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาด และหวังอยากจะได้เห็นเกาะกาลาปากอส แหล่งรวมสิ่งมีชีวิตแปลกๆ แห่งเดียวในโลก มาริโอยังฝากบอกถึงน้องๆ เยาวชนด้วยว่า อย่าหยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง หาคำตอบอย่างเป็นเหตุเป็นผล ที่สำคัญเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก

ส่วน "นุ่น" ศิรพันธ์ ก็บอกว่าสนใจวิทยาศาสตร์มากเช่นกัน และตัวเองนั้นก็เรียนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว แต่นุ่นก็ยังอดบ่นเสียดายไม่ได้ว่า ตัวเองพลาดโอกาสเรียนวิทยาศาสตร์มาแล้ว เพราะในสมัยนั้นเข้าใจว่า เรียนจบวิทยาศาสตร์แล้วต้องเป็นครูเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันนี้ได้เห็นแล้วว่าวิทยาศาสตร์สามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้มากมาย และยังช่วยประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าได้ จึงอยากให้น้องๆ หันมาสนใจวิทยาศาสตร์กันให้มากๆ

จากนั้น ดร.พิชัย สนแจ้ง ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้นำคณะของ รมว.วท. รวมทั้งมาริโอและนุ่น เดินเที่ยวชมไฮไลต์ของงาน อาทิ "ภาวะโลกร้อน" ซึ่งเป็นนิทรรศการที่ให้ความรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาภาวะโลกร้อน และผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมา โดยจำลองเหตุการณ์เสมือนจริงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว พายุฝนกระหน่ำ และน้ำท่วม รวมทั้งเรียนรู้วิธีรับมือภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ

"เทคโนโลยีจักรกลและหุ่นยนต์" ที่จะได้ตื่นตาตื่นใจและเปิดโลกจินตนาการไปกับการแสดงดนตรีโดยนักดนตรีหุ่นยนต์ขนาดเท่าคนจริงๆ ในชื่อวงดนตรีว่า "มิวสิคัลโรบอตแบนด์" (Musical Robot Band) ที่บินตรงมาจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อเปิดคอนเสิร์ตในงานมหกรรมวิทย์ฯ โดยเฉพาะ พร้อมชมเทคโนโลยีการพัฒนาหุ่นยนต์จากประเทศญี่ปุ่นอีกมากมาย

ต่อกันด้วยนิทรรศการ "ความหลากหลายทางชีวภาพ" ที่ชูการผจญภัยบนเกาะกาลาปากอส (จำลอง) ให้เป็นพระเอก เนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปี ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่นี่เราจะได้ตื่นเต้นไปกับสิ่งมีชีวิตรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาด หลากหลายสายพันธุ์ และเรียนรู้เรื่องราวการเดินทางอันน่าตื่นตาของดาร์วิน เมื่อเกือบ 200 ปีก่อน และสิ่งที่เขาค้นพบบนเกาะกาลาปากอส จนเกิดแนวคิดการคัดสรรโดยธรรมชาติ และทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่อธิบายเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตและการปรับตัวเพื่ออยู่รอดในธรรมชาติได้อย่างน่าทึ่ง

รวมไปถึงเรื่องราวเกี่ยวกับทฤษฎีทางพันธุกรรมของเมนเดลที่อธิบายการถ่ายทอดลักษณะต่างๆ จากรุ่นสู่รุ่น การค้นพบดีเอ็นเอเกลียวคู่ที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องพันธุกรรมมากขึ้น และการโคลนนิง เทคโนโลยีที่สร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ให้มีลักษณะเหมือนเดิมได้ทุกประการ รวมทั้งสัมผัสตัวเป็นๆ ของกิ้งกือมังกรสีชมพู ที่ติดอันดับการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกในปี 2550 และชมหิ่งห้อยที่เรืองแสงได้ในเวลากลางวัน ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน

ส่วนใครที่อยากสัมผัสความมืดในรูปแบบใหม่ ต้องไม่พลาด "บทเรียนในความมืด" ที่เราจะได้ทดลองดำเนินชีวิตในโลกแห่งความมืดจากประสบการณ์จริง ได้สัมผัสโลกใบเดิมด้วยความรู้สึกใหม่ผ่านห้องเรียนธรรมชาติ และร้านขายอาหาร ทำให้เราเข้าใจโลกแห่งความมืดมากขึ้น และที่สำคัญยังได้เรียนรู้และฝึกใช้ทักษะการใช้ประสาทสัมผัสทางด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการมองเห็นได้มากขึ้นจากปกติที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงาน อาหาร น้ำ เทคโนโลยีอุบัติใหม่ หรือใครอยากจะสำรวจจักรวาลก็มีนิทรรศการเทคโนโลยีสำรวจอวกาศให้ได้เรียนรู้กันตั้งแต่ "สปุตนิก" ดาวเทียมดวงแรกของโลกที่ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เรื่อยมาจนถึง "ยานฟีนิกซ์" ที่กำลังสำรวจดาวอังคารอยู่ในขณะนี้

รวมทั้งเทคโนโลยีด้านอวกาศและดาราศาสตร์ของไทย ไม่ว่าจะเป็นธีออส ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย กล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร และหอดูดาวแห่งชาติ ที่ใกล้เป็นความจริงแล้วในอีกไม่นานนี้

ส่วนใครที่สนใจเรียนรู้โลกยุคดึกดำบรรพ์ หรือลองสวมบทบาทเป็นนักธรณีวิทยาขุดค้นซากไดโนเสาร์ล้านปีก็ได้ในงานนี้ นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมและนิทรรศการน่าสนใจให้พวกเราได้เรียนรู้อีกมากมาย

น้องๆ เยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจเปิดประสบการณ์แปลกใหม่ในโลกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถเข้าชมงานมหากรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2551 ได้ตั้งแต่วันที่ 8-22 ส.ค.51 เวลา 09.00-20.00 น. ที่ไบเทค บางนา โดยในวันที่ 11 สค.51 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี จะเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ ในช่วงเช้า โดยเฉพาะวันนี้จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมงานได้ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป
3 หนุ่ม 3 มุม ประชันกันบนเวทีเปิดมหกรรมวิทยาศาสตร์ จากขวาไปซ้าย นายวุฒิพงษ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร, ดร.พิชัย สนแจ้ง ผอ.อพวช. และ มาริโอ เมาเร่อ พรีเซ็นเตอร์ของงาน
ใครอยากสัมผัสประสบการณ์เหมือนอยู่ในอวกาศ ต้องทดลองเล่น ห่วงอวกาศ เครื่องเล่นสนุกๆ จากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
มุมนักโบราณคดีน้อย ขุดค้นซากดึกดำบรรพ์
โซนพลังงาน ทั้งอิทธิพลและผลกระทบของโลกร้อน พายุที่มารุมเร้า
พายุที่มีกำลังแรงขึ้นทุกวัน ก่อตัวจากการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย
ตัวอย่างบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ค่ายวิทยาศาสตร์ถาวรที่น้องๆ เยาวชนจะได้ใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ได้อย่างเต็มที่ ของจริงตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการต้นปีหน้า
มหกรรมวิทย์ก็มีคอนเสิร์ตด้วย แต่วงนี้มีแต่หุ่นยนต์
สัมผัสสิ่งมีชีวิตหน้าตาประหลาดได้ที่ กาลาปากอส
ถ้าใครอยากสัมผัสโลกใบเดิมในมุมมอง ต้องมาลองทดสอบกับ บทเรียนในความมืด
ฮาร์ดดิสก์สูงอายุ ผลิตตั้งแต่ปี 1970 นำมาโชว์พร้อมฮาร์ดดิสก์รุ่นอื่นๆ
อยากรู้ว่า ดาวเทียมธีออส ที่ส่งขึ้นวงโคจรไม่สำเร็จเสียที หน้าตาเป็นอย่างไร มาดูโมเดลเท่าของจริงได้ที่งานนี้
แบบจำลองกล้องดูดาว ที่จะติดตั้งบริเวณหอดูดาวแห่งชาติ ดอยอินทนนท์
ร่วมสำรวจรอยเท้าทางนิเวศ ว่าการสร้างขยะและบริโภคอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ละท่านต้องมีโลกสำรองไว้กี่ใบจึงจะพอ
บ้านนี้มีแต่นาโน ตั้งแต่โซฟาที่ใช้ผ้าต้านแบคทีเรีย สีทำความสะอาดตัวเอง เครื่องซักผ้า และสุขภัณฑ์ที่นำเทคโนโลยีนาโนมาใช้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า
 เชื้อเพลิงทางเลือกจากโตโยต้า มีตัวอย่างให้ดูทั้ง บี-5 และ บี-100 จากปาล์มน้ำมัน และสบู่ดำ
นิทรรศการอวกาศ เล่าเรื่องราวการบุกเบิกอวกาศตั้งแต่เริ่มต้น และมนุษย์อวกาศคนแรกของโลก ชาวรัสเซีย ยูริ กาการีน
เทคโนโลยีอวกาศยุคปัจจุบัน ที่เดินทางไกลไปสำรวจถึงดาวอังคาร
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ยกกล้องดูดาวขนาดกลาง ประเภทต่างๆ มาให้ลองส่องชมกัน
นิทรรศการแนวทาง การทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อันเป็นตัวอย่างสู่การพัฒนาเทคโนโลยี
กำลังโหลดความคิดเห็น