เอ๊ะ! วิวัฒนาการคืออะไร แล้วทำไมสิ่งมีชีวิตบนโลกจึงมีหลากหลายชนิด บางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่บางชนิดเพิ่งค้นพบใหม่ แล้วสิ่งมีชีวิตแรกสุดบนโลกเกิดขึ้นเมื่อไหร่ พันธุกรรมและดีเอ็นเอเป็นอย่างไร แล้วแมมมอธจะกลับมามีชีวิตบนโลกอีกครั้งได้หรือไม่ ถ้าใครอยากรู้คำตอบต้องไปผจญภัยบนเกาะกาลาปากอส (จำลอง) ที่งานมหกรรมวิทย์ปีนี้กันเลย
เนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปี ทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ของ "ชาร์ลส์ ดาร์วิน" (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ของโลกในปี 2552 ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เลยจำลองธรรมชาติบนเกาะกาลาปากอส จากมหาสมุทรแปซิฟิก ในเขตประเทศเอกวาดอร์ ให้คนไทยได้สัมผัสและร่วมผจญภัยตามรอยดาร์วินกันในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2551 ที่ไบเทค บางนา ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ไปสำรวจมาแล้วโดยมีพี่ไก่ น.ส.กนกวรรณ สังข์ทอง เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลนิทรรศการชุดนี้เป็นไกด์พาทัวร์
ก่อนจะไปสู่เกาะกาลาปากอส พวกเราจะได้ทำความรู้จักกับดาร์วิน บุตรชายของนายแพทย์ผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น ซึ่งดาร์วินสนใจเรื่องธรรมชาติ และชอบสะสมเปลือกไข่ของสัตว์ต่างๆ เป็นงานอดิเรกมาตั้งแต่สมัยเด็ก เมื่อเติบโตขึ้นเขาก็ได้เข้าเรียนแพทย์ตามรอยบิดาและปู่ แต่พบว่าไม่ใช่สิ่งที่ตนเองชอบ จึงเปลี่ยนไปศึกษาทางด้านศาสนศาสตร์ และหลังจากนั้นไม่นาน ขณะเขาอายุได้ 22 ปี ก็มีโอกาสได้ร่วมเดินทางรอบโลกไปกับเรือหลวงบีเกิลในฐานะนักธรรมชาติวิทยา
ระหว่างที่เรือเดินทางไปรอบโลก โดยลัดเลาะไปตามชายฝั่งของประเทศต่างๆ ดาร์วินก็ได้พบกับความแปลกใหม่ของสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่หลากหลายในธรรมชาติ และบันทึกไว้เป็นหลักฐาน กระทั่งเดินทางมาถึงหมู่เกาะกาลาปากอส ที่เต็มไปด้วยนานาสัตว์รูปร่างแปลกประหลาดไม่เหมือนที่เคยพบมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเต่ายักษ์ หรือกิ้งก่ายักษ์ ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ดาร์วินเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนกฟินซ์
ดาร์วินค้นพบว่านกฟินซ์บนแต่ละเกาะของหมู่เกาะกาลาปากอสนี้ลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อยตามสภาพแวดล้อมบนเกาะ ทำให้เขาเกิดแนวความคิดว่าสิ่งมีชีวิตจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดได้ จนเกิดเป็นคำว่า "การคัดสรรโดยธรรมชาติ" ที่ธรรมชาติจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ที่เหมาะสมให้ดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้
เมื่อรู้จักดาร์วินกันแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องออกเดินทางไปสำรวจเกาะกาลาปากอสที่มีทั้งเต่ายักษ์หนักกว่า 200 กิโลกรัม กิ้งก่ายักษ์หรืออีกัวน่าทะเล และภารกิจสำคัญของทุกคนบนเกาะนี้คือตามหานกฟินซ์ ซึ่งมีอยู่กว่า 20 ชนิด แอบซ่อนอยู่ตามบริเวณต่างๆ บนเกาะ (จำลอง) ทำให้เรารู้จักนกฟินซ์ชนิดต่างๆ แต่ละชนิดมีลักษณะ พฤติกรรม และที่อยู่อาศัยเป็นอย่างไรบ้าง เช่น นกฟินซ์ที่กินผลไม้เปลือกแข็งจะมีปากใหญ่ ส่วนนกฟินซ์ที่กินลูกไม้จะมีปากเล็กกว่า เป็นต้น
หลังจากสนุกกับการผจญภัยตามรอยดาร์วินแล้ว ที่นี่เรายังได้รับความรู้เรื่องทฤษฎีพันธุกรรมของเมนเดล รวมทั้งสิ่งมีชีวิตในยุคดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่ชีวิตแรกเริ่มบนโลกจำพวกสาหร่ายเซลล์เดียว ต่อมาจนถึงยุคไดโนเสาร์และการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ กระทั่งเข้าสู่ยุคของแมมมอธเมื่อหลายหมื่นปีก่อน รวมไปถึงการค้นพบซากแมมมอธในไซบีเรีย และโครงการศึกษาวิจัยเพื่อหวังโคลนนิงแมมมอธให้กลับมามีชีวิตบนโลกได้อีกครั้ง
สุดท้ายก่อนจะออกจากเกาะกาลาปากอส เรายังได้ทำความรู้จักกับสิ่งมีชีวิตตัวกระจิดริดอย่างหิ่งห้อย "ลูซิโอลา อะควอติลิส" (Luciola Aquatilis) ซึ่งเป็นหิ่งห้อยน้ำจืดชนิดใหม่ที่ค้นพบในประเทศไทย และไม่ธรรมดาเพราะว่ามีวิธีการกะพริบแสงสื่อภาษารักได้ถึง 4 แบบ ใน 4 ช่วงเวลาด้วยกัน ได้แก่ ช่วงแต่งตัว หิ่งห้อยจะกะพริบแสงถี่เป็นจังหวะ, ช่วงหาคู่ กะพริบแสงเร็วและถี่มากขึ้น, ช่วงเกี้ยวพาราสี กะพริบแสงช้าลง และช่วงผสมพันธุ์ มีการกะพริบแสงสว่างมากและจังหวะมืดนานขึ้นเพื่อเตือนภัย
รวมทั้งสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ ของโลกที่เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้อีก 10 ชนิด ซึ่งมีกิ้งกือมังกรสีชมพูของไทยรวมอยู่ด้วย และมีตัวอย่างกิ้งกือมังกรสีชมพูและกิ้งกือชนิดต่างๆ ให้ได้ชมกันด้วย ใครที่อยากลองผจญภัยตามรอยดาร์วินและอยากเห็นหิ่งห้อยและความหลากหลายของกิ้งกือในประเทศไทยก็มาชมกันได้ที่งานมหกรรมวิทย์ ตั้งแต่วันที่ 8-22 ส.ค. 2551 ที่ไบเทค บางนา