xs
xsm
sm
md
lg

"ค้างคาวแม่ไก่" หนังสือวิทย์ทำมือน้องๆ ประถม โดนใจพี่ๆ ชมรมนักเขียนไซไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ได้แล้วผู้ชนะรางวัล "หนังสือวิทย์ทำมือ" ของชมรมนักเขียนไซไฟ เรื่อง "ค้างคาวแม่ไก่" โดนใจกรรมการทั้งเนื้อหาและรูปเล่มสวยงาม ประธานชมรมเผย เตรียมเดินหน้าจัดงานต่อที่ขอนแก่น ตามคำเรียกร้อง อวดสายที่ปรึกษารัฐมนตรี ด้านหน่วยงานในกระทรวงร่วมขนผลงานอวดเด็กๆ โดยเฉพาะเรื่องการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้รับความสนใจมากที่สุด

หลังจากเดินทางไปให้ความรู้ เรื่องหนังสือทำมือแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาในจังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เดินทางไปยังโรงเรียนตลาดบางบ่อ จ.ฉะเชิงเทรา อีกครั้ง เมื่อวันที่ 26 ก.ค.51 เพื่อดำเนินโครงการหนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือต่อ ซึ่งมีการประกวดหนังสือทำมือของนักเรียนที่เข้าร่วมจาก 10 โรงเรียน

โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการหนังสือวิทยาศาสตร์ทำมือของ นจวท. ได้แก่ โรงเรียนตลาดบางบ่อ โรงเรียนวัดวังเย็น โรงเรียนวัดแปลงยาว โรงดรียนวัดไผ่แก้ว โรงเรียนวัดสวรรค์นิมิต โรงเรียนทุ่งสะเดาประชาสรรค์ โรงเรียนวัดหนองไม้แก่น โรงเรียนบ้านคลองสอง โรงเรียนวัดวังกะจะ โรงเรียนวัดลาดบัว และโรงเรียนชุมชนวัดหัวสำโรง ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะมีตัวแทนกลุ่มโรงเรียนละ 5-6 คนและมีอาจารย์ที่ปรึกษาอีกคน เพื่อร่วมกันผลิตหนังสือทำมือเข้าประกวด แต่ทั้งนี้โรงเรียนตลาดบางบ่อได้รับสิทธิพิเศษในฐานะโรงเรียนเจ้าภาพจัดส่งกลุ่มประกวดหนังสือได้ 5 กลุ่ม

ผลจากการตัดสินของกรรมการจากชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ปรากฏว่า ตัวแทนกลุ่มจากโรงเรียนตลาดบางบ่อซึ่งผลิตหนังสือทำมือเรื่อง "เรียนรู้ชีวิตค้างคาวแม่ไก่" คว้ารางวัลชนะเลิศ โดยได้รับประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลอีก 1,000 บาท

เดิมทีกรรมการจัดตัดสินให้ผู้ชนะเลิศเพียงรายวันเดียว แต่ภายหลังได้เพิ่มรางวัลรองชนะเลิศ ซึ่งตัวแทนกลุ่มจากโรงเรียนชุมชนวัดหัวสำโรงได้รับรางวัลนี้จากผลงานหนังสือทำมือเรื่อง "น่ารัก น่ารู้ น่าดูสัตว์ทะเล" โดยได้รับประกาศเกียรติคุณพร้อมเงินรางวัลอีก 500 บาท

นอกจากนี้ยังมีรางวัลขวัญใจมหาชนซึ่งวัดจากคะแนนโหวตของผู้มาร่วมงาน ซึ่งโรงเรียนวัดไผ่แก้วได้รับรางวัลไปพร้อมเกียรติบัตรและเงินรางวัล 500 บาท จากผลงานเรื่อง "สัตว์ต่างๆ" และนักเรียน 15 กลุ่มจาก 10 โรงเรียนยังได้รับประกาศเกียรติคุณจากชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ด้วย

นายฉัตรชัย เครือเสนา กรรมการบริหารและประชาสัมพันธ์ชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ เผยว่าหนังสือทำมือเรื่องค้างคาวแม่ไก่ของโรงเรียนตลาดบางบ่อได้รับรางวัลเพราะนำข้อมูลจากท้องถิ่นมาใช้ในเนื้อหา เนื่องจากค้างคาวแม่ไก่เป็นสัตว์ในท้องถิ่น และยังมีการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วย

"อีกทั้งการออกแบบหนังสือก็เป็นป๊อปอัพรูปค้างคาว เมื่อเปิดหนังสือก็จะมีค้างคาวตัวเล็กๆ ห้อยไปตามเส้นด้าย การออกแบบหนังสือมีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มเติมจากที่เราได้อบรมให้ความรู้ไป สีสันก็มีความสวยงาม ทั้งเนื้อหาและรูปเล่มถือว่าลงตัว" นายฉัตรชัยกล่าว พร้อมเผยด้วยว่าจะจัดงานลักษณะเดียวกันนี้ที่จังหวัดอื่นๆ ด้วย โดยหลังจากประสัมพันธ์ไปแล้วก็มีหลายโรงเรียนติดต่อเข้ามา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

พร้อมกันนี้ภายในยังมีนิทรรศการจากหลายหน่วยงานภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ อุปกรณ์ตรวจขั้วแม่เหล็กจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ตู้จำลองแสดงความสำคัญของมาตรวิทยาในชีวิตประจำวันจากสถาบันยมาตรวิทยา ขวดโหลเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชพันธุ์ต่างๆ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) เป็นต้น โดยนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เดินทางไปเปิดงานและเยี่ยมชมนิทรรศการในช่วงเช้าด้วย

ทางด้านนายบำรุง ไตรมนตรี ประธานชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ภายหลังการปิดงานว่า งานได้รับความสำเร็จอย่างมาก ทุกคนต่างตื่นเต้นและลุ้นรางวัลกันมาก นอกจากนี้นิทรรศการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็ยังได้รับความสนใจอย่างมาก และเผยว่ารัฐมนตรีมีแนวคิดที่ขยายผลโครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในอนาคต เนื่องจากจะมีการตั้งศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

"งานนี้เป็นการสร้างกระแสล่วงหน้าให้กับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งคนที่ได้รับรางวัลก็จะพัฒนาผลงานเพื่อนำไปแสดงที่งานมหกรรมวิทย์ด้วย ซึ่งก็มีหลายคนกระตือรือร้นอยากไปจำนวนมาก ส่วนโครงการหนังสือทำมือนี้ ครั้งต่อไปจะจัดที่อำเภอพล จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นบ้านของทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีซึ่งเรียกร้องให้ไปจัด โดยจะไปในวันที่ 30 ส.ค.นี้" นายบำรุงกล่าว.
หนังสือทำมือหลากหลายรูปแบบจากโรงเรียนวัดวังเย็น
เด็กนักเรียนประเดิมใช้งานสมุดรับแจก
พืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่นำมาจัดแสดงโดย วว.ได้รับความสนใจจากทั้งครูและนักเรียน
(ซ้าย) อุปกรณ์วัดขั้วแม่เหล็กจากเนคเทค (ขวา) ตู้จำลองแสดงถึงบทบาทมาตรวิทยา วัด-ชั่ง-ตวง ในชีวิตประจำวัน
(ซ้าย) การเป่าแก้วจากกรมวิทยาศาสตร์บริการยังคงได้รับความสนใจเสมอ (ขวา) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์และสมาคมดาราศาสตร์ไทยตั้งกล้องโทรทรรศน์ให้เยาวชนส่งดูท้องฟ้าและดวงอาทิตย์
ของแจก สมุด ดินสอ มีกันทุกบูธ
(ซ้าย) นักเรียนกว่า 500 คนจาก 10 โรงเรียนในจังหวัดฉะเชิงเทราเข้าร่วมงานของชมรมนักเขียนไซไฟ (ขวา) นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง (ยืนซ้าย) เป็นประธานเปิดงานโครงการหนังสือทำมือ
กำลังโหลดความคิดเห็น