เงียบหายไปเสียนานหลังจากสร้างความฮือฮาให้วงการ ด้วยเรื่องเสื้อม่อฮ่อมนาโนเมื่อช่วงก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมา แต่ "วุฒิพงศ์" ไม่ได้หายไปไหน เพราะล่าสุด รมว.วิทย์ คนดัง เผยให้เห็นหน้ากันอีกครั้งผ่านทางรายการ “หมายเหตุประเทศไทย” ทางช่อง NBT พร้อมดึง ศธ. เข้าร่วมแก้ปัญหาการศึกษาวิทย์ในไทย เตรียมผุด 4 โครงการใหญ่
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งจดหมายข่าวรายงานมาว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค.51 นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้สนทนาในรายการ “หมายเหตุประเทศไทย” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยเอ็นบีที (NBT) โชว์วิสัยทัศน์เป็นห่วงระบบการศึกษาไทย ที่ยังขาดแคลนครูด้านวิทยาศาสตร์ ล่าสุดหารือและเสนอโครงการให้กระทรวงศึกษาเตรียมดำเนินการอีก 4 เรื่องรวด
นายวุฒิพงศ์กล่าวในรายการ “หมายเหตุประเทศไทย” ช่วงหนึ่งว่า ปัจจุบันระบบการศึกษาของไทยโดยเฉพาะในโรงเรียน ที่สอนตั้งแต่ระดับประถมจนถึงระดับมัธยม ยังขาดครูที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อีกจำนวนมาก ประมาณเกินครึ่งของโรงเรียนทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 หมื่นกว่าโรงเรียน
ด้วยความเป็นห่วงดังกล่าว ล่าสุดจึงได้หารือกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเสนอโครงการความร่วมมือ 4 เรื่อง ประกอบด้วย การจัดทำ CD สื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ ขณะนี้ได้ตั้งงบประมาณไปแล้วคาดว่าใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 6 เดือน
การอบรมครูวิทยาศาสตร์ช่วงปิดภาคเรียน โดยทีมอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะจัดเตรียมหลักสูตรการอบรมและประสานกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ คาดว่าสามารถอบรมครูได้ปีละ 1.2 หมื่นคน พร้อมมอบประกาศนียบัตรหลังจบหลักสูตร โดยกระทรวงศึกษาฯ สนับสนุนงบประมาณ
การจัดตั้งห้องแล็บวิทยาศาสตร์ อำเภอละ 1 แล็บ โดยใช้งบดำเนินการประมาณ 2-3 ล้านบาทต่อแล็บ ซึ่งกระทรวงศึกษาฯ ยินดีนำไปพิจารณา และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จะเข้าไปช่วยในด้านรูปแบบและองค์ความรู้ที่เข้าใจได้ง่าย
เรื่องสุดท้าย คือ การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ โดยเตรียมจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ โดยอีก 2 ปีข้างหน้า อาจจะสร้างศูนย์นิทรรศการวิทยาศาสตร์ขึ้นที่เทคโนธานี ตำบลคลองห้า จ.ปทุมธานี
นอกจากนี้ นายวุฒิพงศ์ยังได้พูดถึงโครงการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่มีคุณลักษณะเด่นเฉพาะ สามารถทนต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ เช่น พันธุ์ป้องกันน้ำท่วม ป้องกันโรคไหม้ หรือมีโฟร์เลทสูง เป็นต้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องแล้ว.