“อภิสิทธิ์” จี้ “ครูสมชาย” เร่งสางปัญหาครู ลดหนี้และยกงานธุรการออกจากครูเพื่อลดภาระงาน ขอให้สานต่อโครงการการศึกษาภาคใต้ที่ทำร่วมกับมาเลเซียจากรัฐบาลชุดก่อน เชื่อหากใช้การศึกษาเป็นตัวนำจะแก้ปัญหาความไม่สงบได้ ประกาศจับตาใกล้ชิดหวั่นใช้ครูเป็นฐานเสียง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เงา กล่าวว่า ตนจะติดตามนโยบายรัฐบาลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในประเด็นด้านการศึกษา และอยากฝากไปถึง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รมว.ศึกษาธิการ และ รมช.ศึกษาธิการ อีก 2 คน คือ อยากให้เน้นการแก้ไขปัญหา และลดภาระงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยให้พิจารณาระบบสะสางงานการบริหาร ยกงานธุรการออกจากภารกิจของครูให้หมด เพื่อคืนครูให้แก่นักเรียน
นอกจากนั้น อยากให้สานต่อแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการได้จัดทำไว้ ซึ่งตนได้มีโอกาสพบกัน รมว.ศึกษาธิการ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งระบุว่า มาเลเซียก็ประสบปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ ที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ทางตอนใต้ของไทยเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นการนำประสบการณ์ และปัญหาการจัดการศึกษาที่เคยเกิดขึ้นในมาเลเซียมาเป็นแนวทางในการเรียนการสอนให้กับเยาวชนในภาคใต้ให้เห็นผลต่อไป
ด้าน นายชินวรณ์ บุญเกียรติ กรรมการบริหาร ปชป.ในฐานะ รมช.ศึกษาธิการเงา กล่าวว่า อยากฝากให้รัฐบาลสนใจ และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาครู ที่ยังมีปัญหาสำคัญอยู่ 3 ส่วน คือ ปัญหาขาดแคลนครู ที่ ครม.จะต้องมีนโยบายให้ชัดเจนในการคืนอัตรากำลัง ให้สอดรับกับปัญหาขาดแคลนครูที่หมักหมมมานาน ปัญหาครูที่สอนไม่ตรงวุฒิ ซึ่งหากมีปัญหานี้อยู่การพัฒนาการศึกษาก็จะเกิดผล และปัญหาหนี้สินครู ที่เกี่ยวพันกับคุณภาพชีวิตครูโดยตรง โดยระดับนโยบายจะต้องเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหา และแก้ไขให้ตรงจุด นอกจากนั้น จะต้องนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดผลต่อเด็ก ซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพการศึกษา โดยเรื่องเร่งด่วนที่รัฐจะต้องดำเนินการคือจัดให้การเรียนฟรีเกิดขึ้นจริง ซึ่งรัฐควรจัดงบประมาณรองรับให้เพียงพอ กับนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และต้องดำเนินการให้ได้ภายในภาคเรียนที่ 1/2551
“การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้จัดเป็นปัญหาเร่งด่วนทางการศึกษาของชาติ หากรัฐบาลใช้การศึกษาเป็นตัวนำในการแก้ปัญหาในพื้นที่ ผมเชื่อมั่นว่า จะทำให้ปัญหาคลี่คลายได้เร็วขึ้น และจะเป็นการเปิดโลกการศึกษาให้กว้างขวาง ซึ่ง ศธ.จะต้องปรับปรุงโรงเรียนของรัฐให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน นอกจากนี้ จะต้องเพิ่มศักยภาพให้กับมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาท้องถิ่น และขอเตือนว่า หากนักการเมืองเข้ามาเพียงเพื่อใช้ครูเป็นฐานทางการเมือง การแก้ปัญหาทางการศึกษาก็จะไม่สัมฤทธิ์ผล และนักการเมืองเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากข้าราชการครูเช่นกัน” นายชินวรณ์ กล่าว