“ครูหยุย” สอน “ครูสมชาย” คิดฟื้นประชานิยมด้านการศึกษาต้องลบภาพข้อผิดพลาดในอดีต เผย 1 อำเภอ 1 ทุน ระบุต้องไม่ใช่ให้ลูกหลานหัวคะแนนพรรค ขณะที่ควรแก้ปัญหาครูขาดแคลนก่อนคิดใช้เงินซื้อคอมพ์ล้านเครื่องแจก ขณะที่ “บุญลือ” ยันต้องซื้อคอมพ์สานต่อแนวคิดลูกพี่ “สรอรรถ” ยันงานนี้ไม่มีโกง
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงนโยบายด้านการศึกษาที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการรับตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการว่าจะมีการฟื้นโครงการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกติดกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) โครงการแจกคอมพิวเตอร์ล้านเครื่อง หรือ One laptop one child และทุนเอื้ออาทรต่างๆ ว่า สิ่งที่ รมว.ศึกษาธิการ แถลงนั้นอยู่ในความคาดหมายอยู่แล้ว เพราะเมื่อรัฐบาลเดิมกลับเข้ามาทำงาน หากไม่รื้อฟื้นโครงการเก่าเขาก็จะเสียหาย แต่หากจะรื้อฟื้นก็ควรจะเอาบทเรียนจากการดำเนินการอันเก่ามาพิจารณาเพื่อประเมินผลก่อน เช่น กรอ.หากทำขึ้นมาแล้วจะส่งผลกระทบต่อคนยากจนหรือไม่ และสามารถแก้ปัญหาเรื่องการจ่ายเงินล่าช้าได้ดีแค่ไหน ซึ่งหากสามารถกระจายทุนไปถึงทุกกลุ่มเป้าหมายได้ก็ดีอย่างยิ่ง
นายวัลลภ กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน หรือโรงเรียนในฝันต่างๆ นั้นก็อยากให้เข้าไปดูแลผู้อำนวยการโรงเรียนด้วยว่า เขามีหนี้สินมากมายแค่ไหน และที่ผ่านมาก็มีการพูดกันตลอดว่า เด็กที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปเรียนต่างประเทศ ไม่ใช่เด็กเก่งอะไร แต่เป็นลูกหลานของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เสียมากกว่า ซึ่งหากจะทำก็ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปด้วย
“สำหรับการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ 1 ล้านเครื่องก็ต้องดูไม่ให้มีการคอรัปชั่นโดยเด็ดขาด และควรจะเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีไม่ตกรุ่น แต่ก็อยากจะฝากว่าปัญหาการศึกษาที่สำคัญคือ คุณภาพครู และการขาดแคลนครู ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะต้องลงทุน แทนที่จะซื้อคอมพ์ล้านเครื่องแจกนักเรียน ทำไมไม่เพิ่มอัตราครู หรือคืนอัตราเกษียณให้เต็มจำนวนจะดีกว่า แม้จะบอกว่าหากทำเช่นนั้นก็จะกลายเป็นงบประมาณที่รัฐจะต้องจ่ายผูกพัน แต่การพัฒนาคนจำเป็นต้องมีครู และบางเรื่องก็ต้องยอมมีค่าใช้จ่ายผูกพัน เช่น ทหาร หมอ และครู เป็นต้น”นายวัลลภกล่าว
นายวัลลภ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ขอฝากให้รัฐบาลดูเรื่องการแยกกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยออกจากกระทรวงศึกษาธิการด้วย เพราะตนเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็น หากโครงสร้างเทอะทะไม่คล่องตัวก็ควรแยกให้อุดมศึกษาเป็นอิสระ ส่วน ศธ.ก็มาทุ่มให้กับการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้าง ศธ.ด้วย เพราะปัจจุบัน ศธ.ยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างที่อุ้ยอ้ายมากเกินไป ทำอย่างไรจึงจะบริหารงานได้คล่องตัวมากขึ้น
ด้านนายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการออกท้วงติงการฟื้นโครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ 1 ล้านเครื่องซึ่งไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ว่า ยืนยันไม่ใช่การฟื้น เพราะเป็นโครงการเดิมของพรรคที่เตรียมการไว้แล้วตั้งแต่สมัยนายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็น รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งขณะนั้นนายสรอรรถ กลิ่นประทุม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที ได้ประชุมที่ ศธ.แล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่ทันได้ซื้อเพราะมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีก่อน
“ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ ในตรา 49-50 ระบุให้ทุกคนมีสิทธิรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีอย่างเท่าเทียมกัน แต่ทุกวันนี้รัฐบาลจัดสรรอะไรให้กับนักเรียนบ้างโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ห่างไกลในชนบท ฉะนั้นเราจึงไม่อาจจะปล่อยตามยถากรรมได้ แต่จะต้องจัดสร้างอุปกรณ์สื่อการเรียนสอนลงไปให้ โดยเราจะทำเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ไม่ให้เกิดปัญหาทุจริตคอรัปชัน”