xs
xsm
sm
md
lg

แยกกระทรวงอุดมศึกษาเสียงยังแตก! รอมติทปอ.กลางเดือนหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แยกกระทรวงอุดมศึกษานักวิชาการยังเห็นต่าง มีทั้งที่เห็นด้วยเพราะเชื่อว่าจะทำให้การบริหารงานอุดมศึกษาคล่องตัวขึ้น และไม่เห็นด้วยเพราะภาพรวมการศึกษาขณะนี้ไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ระบุขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลชุดนี้ โดยต้องรอมติ ทปอ.กลางเดือน ก.พ.นี้ก่อน หากเห็นด้วย ประธานทปอ.รับจะประสานเสนอรัฐบาลใหม่เอง


จากที่ รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) จะเสนอขอแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ออกจากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เพื่อตั้งเป็นกระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัย โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ ทปอ.ในวันที่ 16 ก.พ.นี้ ซึ่งหาก ทปอ.มีมติเห็นชอบก็จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ต่อไปนั้น

รศ.ปฐม ปฐมธนพงศ์ ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อดีตประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย(ปอมท.) กล่าวว่า การแยกกระทรวงอุดมศึกษาเป็นเรื่องที่ดี จะทำให้การบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยมีความคล่องตัว แต่ต้องดูรอรัฐบาลใหม่ว่ามีความเห็นอย่างไร ซึ่งการผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย เพราะถ้ารัฐบาลสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็ไม่จำเป็นต้องแยกกระทรวง เพราะเมื่อออกนอกระบบแล้ว จะมีเพียงเรื่องงบประมาณเท่านั้นที่จะผูกกับรัฐบาล จึงไม่จำเป็นต้องมีกระทรวงใหม่

ดร.สว่าง ภู่พิพัฒน์วิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.)พิบูลสงคราม ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎแห่งประเทศไทย (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า หาก สกอ.จะเป็นเหมือนทบวงมหาวิทยาลัยเดิม หรือแยกเป็นกระทรวงอุดมศึกษาฯ จะทำให้มหาวิทยาลัยมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการและไม่อุ้ยอ้ายเหมือนที่อยู่กับ ศธ.ในเวลานี้ แต่ต้องดูรัฐบาลใหม่ว่าจะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่

ซึ่งหากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกันหมดก็ยิ่งจำเป็นต้องแยกกระทรวง เพราะเมื่อออกนอกระบบแล้วการบริหารงานจะไม่เหมือนราชการ ต้องมีหน่วยงานดูแลเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตามตนจะนำเรื่องแยกกระทรวงอุดมศึกษาฯ เข้าหารือในการประชุม ทปอ.มรภ.ในช่วงต้นเดือน ก.พ.นี้

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดี มรภ.สวนดุสิต กล่าวว่า สำหรับรัฐบาลนี้คิดว่าเรื่องการแยกกระทรวงคงทำได้ยาก เพราะรัฐบาลต้องทำเรื่องที่มีความสำคัญและได้รับปากประชาชนไว้ก่อน เช่น เรียนฟรี 12 ปี หรือปัญหาการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่โดยส่วนตัวยังไม่อยากให้แยกกระทรวง เพราะตอนนี้ภาพรวมของการศึกษาไทยกำลังเริ่มมีความสัมพันธ์สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหากมีการแยกกันไปแล้วต้องกลับมาทำงานประสานกันอีกก็คงทำได้ยากกว่าอยู่ร่วมกระทรวงเดียวกัน

“ที่สำคัญขณะนี้ตำแหน่งรัฐมนตรีมีเพียง 35 ตำแหน่ง หากมีการเพิ่มกระทรวงก็ต้องมีการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีเพิ่มก็จะยิ่งเป็นปัญหาขึ้นไปอีก”

ด้านคุณหญิงกัลยา โสภณพานิช นายกสภามรภ.สวนดุสิต กล่าวว่า หากคิดจะแยกกระทรวงจริงจะต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ เพราะหากขอแยกเพื่อทำงานวิจัยโดยเฉพาะก็ต้องคิดทำงานวิจัยเพื่อด้านอื่น ๆ ด้วย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมามหาวิทยาลัยจะทำงานวิจัยเพื่อความรู้อย่างเดียวโดยไม่ค่อยมองไปถึงภายนอก อีกทั้งทุกวันนี้ก็มีสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติที่ทำงานด้านการวิจัยอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าจะแยกกระทรวงก็ต้องชี้แจงเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอ

กำลังโหลดความคิดเห็น