"กีฬาๆ เป็นยาวิเศษ...เอ้าฮ้าไฮ้" หลายคนคงคุ้นเคยกับประโยคนี้เป็นอย่างดี แต่ใครที่อยากออกกำลังกายแต่ไม่รู้จะออกกำลังกายอย่างไรให้ถูกวิธี อยากรู้ต้องไป "มหกรรมวิทยาศาสตร์การกีฬา" 3-4 มิ.ย.นี้
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะจัด "มหกรรมวิทยาศาสตร์การกีฬา 2551" ในวันที่ 3-4 มิ.ย.51เพื่อเอาใจคนรักสุขภาพให้ออกกำลังกายได้อย่างถูกวิธีตามหลักวิทยาศาสตร์ โดยมีการแถลงข่าวจัดงานไปเมื่อวันที่ 8 พ.ค.51 ณ ห้องประชุมรอดโพธิ์ทอง สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงเทพฯ
นายสมบัติ คุรุพันธ์ ผอ.สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ (สพก.) เผยว่าการจัดงานครั้งนี้จะถือเป็นการจัดมหกรรมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาอย่างรอบด้านครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสหาชมได้ยากมากสำหรับผู้สนใจการรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อความเป็นเลิศ เพื่อให้สามารถออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาได้อย่างถูกวิธีเพื่อเสริมสมรรถภาพการทำงานของร่างกาย และไม่เสี่ยงกับการออกกำลังกายแบบลองผิดลองถูกจนมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น
ด้าน ดร.สุวัตร สิทธิหล่อ ผอ.สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา (สวฬ.) หน่วยงานสำคัญในการจัดกิจกรรม เผยว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์การกีฬาจะจัดขึ้น ณ ห้องเอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์บางกะปิ โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็นหลายโซนด้วยกัน ได้แก่ โซนทดสอบสมรรถภาพทางกาย ซึ่งนำอุปกรณ์ทดสอบสมรรถภาพทางกายที่มีความทันสมัยมาให้ทดลองใช้หลายชิ้น อาทิ เครื่องวัดดัชนีมวลกาย เครื่องวัดระบบหายใจ เครื่องวัดปริมาณไขมันในร่างกาย เครื่องวัดความแข็งแรงของแรงบีบมือ และเครื่องวัดความอ่อนตัวของหลังและต้นขา
ไฮไลต์สำคัญยังอยู่ที่โซนการแสดงผลงานประกวดนวัตกรรมวิทยาศาสตร์การกีฬาจากทีมนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ผ่านเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายของการประกวดซึ่งจะมีการตัดสินรอบชิงชนะเลิศเพื่อชิงถ้วยรางวัลจากนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา
ตัวอย่างผลงานที่เข้ารอบเช่น เครื่องช่วยกายภาพบำบัดบริเวณช่วงขาและชุดฝึกการออกตัวจากจุดสตาร์ทควบคุมด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์จากวิทยาลัยการอาชีพดอกคำใต้ จ.พะเยา เครื่องวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาและหลังจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และเครื่องออกกำลังกายจากโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก เป็นต้น
"การไปงานมหกรรมวิทยาศาสตร์การกีฬาครั้งนี้จึงเหมือนไปงานเดียวแต่ได้ 2 อย่างคือได้ทั้งความรู้ที่รอบด้านและยังได้เห็นนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาฝีมือเยาวชนไทย ซึ่งหวังด้วยว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาฝีมือคนไทยเพื่อทดแทนการนำเข้าได้ในอนาคต" ดร.สุวัตร กล่าว
นอกจากโซนกิจกรรมข้างต้นแล้ว ภายในงานยังมีโซนคลินิกกีฬาซึ่งมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำในการออกกำลังกายอย่างปลอดภัย โซนนิทรรศการและงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา โซนเวทีกิจกรรมและวงเสวนาด้านสุขภาพ ตลอดจนโซนแสดงสินค้าด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามากกว่า 30 ประเภท
ขณะที่นายดนัย อุดมโชค นักกีฬาเทนนิสอาชีพในฐานะตัวแทนนักกีฬาที่มีโอกาสใช้บริการวิทยาศาสตร์การกีฬาอย่างต่อเนื่อง เผยว่า ในอาชีพของเขามักจะมีรายการแข่งขันทุกสัปดาห์และหลายครั้งต้องแข่งขันต่อเนื่องหลายวัน วิทยาศาสตร์การกีฬาจึงมีส่วนอย่างมากในการฝึกซ้อมเพื่อให้นักกีฬามีร่างกายที่แข็งแรงและพร้อมกับการแข่งขันในวันต่อไป
"แต่ก่อนจะแปลกใจมากที่เห็นนักเทนนิสต่างชาติ ซึ่งหลังจากผ่านแมตช์หนักๆ มา แทนที่จะพักผ่อนเอาแรงเพื่อเก็บแรงไว้แข่งวันรุ่งขึ้นแต่โค้ชกลับสั่งให้มาปั่นเครื่องปั่นจักรยานอยู่กับที่อีก ต่อมาจึงรู้ว่าเป็นความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาที่เขาต้องมาปั่นจักรยานอยู่กับที่ก็เพื่อสลายกรดแลคติกที่เกิดระหว่างการแข่งขันให้หมดไป" นักเทนนิสชื่อดังยกตัวอย่างประกอบ
ทั้งนี้ สพก.คาดว่าจะมีนักเรียน นิสิต นักศึกษา เครือข่ายกีฬา ตลอดจนประชาชนทั่วไปมาร่วมงานประมาณ 3,000 คน และจะมีการจัดงานต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรืออาจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา 0-2215-7357 สำหรับโรงเรียน มหาวิทยาลัย เอกชน และสถานออกกำลังกายที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อขอชมงานได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดงาน 0-2618-7781-4 ต่อ 107