xs
xsm
sm
md
lg

ยอดเข้าชมมหกรรมวิทย์ทะลุเป้ากว่า 1.2 ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานมหกรรมวิทย์วันสุดท้ายยังมีเยาวชนให้ความสนใจมาร่วมงานมากมายไม่น้อยกว่าวันอื่นๆ
งานมหกรรมวิทย์ 51 ที่ยาวนานถึง 2 สัปดาห์เต็ม ก็สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการแล้ว แม้จะมีเสียงโอดครวญ เรื่องภาวะเศรษฐกิจและน้ำมันแพงอยู่บ้าง แถมยังมีโอลิมปิกมาดึงความสนใจ แต่ยอดเข้าชมงานปีนี้ ก็ทะลุเป้าที่ตั้งเอาไว้อย่างสวยงาม เด็กนักเรียนให้ความสนใจรวมแล้วกว่า 2,000 โรงทั่วประเทศ

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสพูดคุยกับนายสาคร ชนะไพฑูรย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจและการตลาด องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หัวเรือใหญ่ ของการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2551 เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ก่อนที่งานใหญ่แห่งปีของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จะปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ ในค่ำวันเดียวกัน

"ยอดคนเข้าชมงานทั้งหมดในปีนี้ มีอยู่กว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งถือว่ามากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ในตอนแรกคือ 1 ล้านคน แต่ถ้าเทียบกับปีก่อนๆ ก็พอๆ กัน แต่ปีนี้ก็มีนักเรียนมาเที่ยวชมงานมากขึ้น รวมแล้วประมาณ 2,000 โรงเรียน จากทั่วประเทศ มีการกระจายตัวของโรงเรียน ที่มาชมงานมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ มากันเกือบครบทุกจังหวัดเลย" นายสาครกล่าว

"มีโรงเรียนใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา แต่ก็มีบางโรงเรียนที่มาเมื่อปีที่แล้ว แต่ปีนี้ไม่ได้มาร่วมอีก คาดว่าส่วนหนึ่งมาจากปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และปีนี้ก็มีหลายหน่วยงานที่จัดกิจกรรมลักษณะเดียวกัน จึงอาจมีการกระจายตัวไปร่วมกิจกรรมที่อื่นด้วย" นายสาครกล่าว

แม้ปีนี้ ยอดผู้เข้าชมจะไม่แตกต่างจากปีก่อน แต่ยอดเข้าชมเฉลี่ยต่อวันนั้น น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะปีนี้จัดงานยาวนานกว่าปีที่ผ่านๆ มา และยังพบว่าปีนี้คนกรุงเทพฯ มาร่วมงานกันน้อยลง สังเกตได้จากบรรยากาศช่วงเย็นจะค่อนข้างเงียบเหงา

นายสาครบอกว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันในขณะนี้ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากออกไปไหน ประกอบกับช่วงนี้ ตรงกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก หลายคนจึงเลือกดูการถ่ายทอดสดการแข่งขันอยู่กับบ้านมากกว่า

อย่างไรก็ดี เสียงตอบรับจากเยาวชนและประชาชนที่มาร่วมงานในปีนี้ดีมาก ซึ่งนายสาครบอกว่า นิทรรศการที่ผู้เข้าชมงานให้ความสนใจ และชื่นชอบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ, ภาวะโลกร้อน, บทเรียนในความมืด, จักรกลและหุ่นยนต์ และเกาะกาลาปากอส (จำลอง)

โดยเฉพาะบทเรียนในความมืด ที่ได้รับความสนใจมากเกินคาด มีผู้เข้าชมรวมทั้งหมดกว่า 10,000 คน ซึ่งแต่เดิมไม่คิดว่าจะได้รับความสนใจมากขนาดนี้ เพราะคิดว่านิทรรศการนี้ค่อนข้างยากพอสมควร

ส่วนในปีหน้านายสาครบอกว่า ทางทีมผู้จัดงานต้องไปคิดโจทย์ใหม่ว่า จะปรับเปลี่ยนรูปแบบนิทรรศการในส่วนใดบ้าง ให้มีความเหมาะสมและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น  แต่จะมีบางเรื่องที่ยังคงไว้เช่นเดิมแน่นอน เช่น หุ่นยนต์ โดยจะเป็นหุ่นยนต์เรื่องใหม่ๆ ที่น่าสนใจและไม่ซ้ำกับของเดิม เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ยังได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ประจำบูธนิทรรศการ และผู้เข้าร่วมจัดงานบางรายด้วย ซึ่งนายเขมจิต ธนากิจชาญเจริญ นักวิทยาศาสตร์จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ บอกว่า เยาวชนให้ความสนใจเข้ามาชมนิทรรศการของกรมวิทยาศาสตร์บริการมากพอสมควร โดยส่วนหนึ่งเปิดเป็นห้องทดลองนักวิทยาศาสตร์น้อย สำหรับให้เด็กได้เข้ามาสนุกกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 3 ห้องแล็บ โดยมีการทดลองแตกต่างกันออกไป ได้แก่ ตามล่าหาปริมาณด่างในผงซักฟอก, สะอาดใสด้วยสมุนไพรธรรมชาติ และน้ำใสทำไมกระด้าง

"ที่เลือกกิจกรรมดังกล่าวมาเปิดให้เด็กๆ ทดลองทำ เพราะเป็นงานวิเคราะห์ที่ทางกรมฯ ดำเนินการอยู่แล้ว โดยเปิดให้ร่วมสนุกวันละ 7-8 รอบ รอบละประมาณ 36 คน ซึ่งก็เต็มเกือบทุกรอบ ยกเว้นช่วงเย็นที่เด็กๆ อาจต้องเดินทางกลับ ซึ่งเด็กที่มาเข้าร่วมกิจกรรมในส่วนนี้ก็จะได้รู้จักกับเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ สนุกกับการทดลองที่ไม่ยากเกินไป เป็นการกระตุ้นให้เขาได้รู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกและเป็นเรื่องใกล้ตัว" นายเขมจิตบอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ด้าน น.ส.กรรณิการ์ คุ้มวงษ์ นักวิชาการภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เผยว่า มีผู้สนใจเข้ามาชมนิทรรศการของ สทอภ. มากพอสมควร โดยส่วนใหญ่ที่เข้ามาก็อยากรู้จักกับดาวเทียม อยากรู้ว่าดาวเทียมคืออะไร ทำงานอย่างไร ทำอะไรได้บ้าง ดาวเทียมสื่อสารกับดาวเทียมสำรวจทรัพยากรต่างกันตรงไหน เป็นต้น และยังมีภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณทล จากดาวเทียมควิกเบิร์ด (QuickBird) ขนาด 7x7 เมตร ความละเอียด 1:4,000 เมตร มาจัดแสดงด้วย

"คนที่เห็นเริ่มแรกก็จะสงสัยว่า เอ๊ะ! นี่อะไร ก็เข้ามาดูกันใกล้ๆ พอเห็นว่าเป็นภาพถ่ายดาวเทียมที่ครอบคลุมบริเวณที่อยู่ของตัวเอง แต่ละคนก็จะเริ่มหาว่าบ้านของตัวเองอยู่ตรงไหน บางคนก็ถ่ายภาพกลับไปเป็นที่ระลึก ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าสามารถสัมผัสได้และเป็นเรื่องใกล้ตัว" น.ส.กรรณิการ์ เล่ารายละเอียด

ยังมีอีกส่วนหนึ่ง  ที่อยู่คู่กับงานมหกรรมวิทย์มาหลายปีแล้ว นั่นคือร้านขายของเล่น มีทั้งของเล่นทั่วไป และของเล่นวิทยาศาสตร์ที่ดึงดูดความสนใจของเด็กได้ไม่น้อย

นางสุพร ธัมพิพิธ เจ้าของร้านโลกอส (Logos) บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ออกร้านคู่กับงานสัปดาห์วิทย์มาหลายปีแล้ว และเป็นร้านของเล่นเจ้าแรกในงานนี้อีกด้วย ซึ่งของเล่นวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความสนใจจากเด็กๆ มากเป็นพิเศษคือ ลูกข่างไจโรท็อป (Gyro-Top) ที่ทางร้านซื้อชิ้นส่วนมาประกอบและขายเอง ซึ่งลูกข่างไจโรท็อปจัดของเล่นที่ให้ความรู้ในเรื่องของหลักฟิสิกส์ เช่น ความเร็ว, แรง และความสมดุล ซึ่งความเร็วที่มากพอจะทำให้เกิดแรงที่ทำให้ลูกข่างหมุนและทรงตัวอยู่ได้

"สมัยนี้มีของเล่นมากมายที่ช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็กได้ อย่างลูกบิด (รูบิก) ที่มีหลายสีสัน ช่วยในเรื่องพัฒนาการทางสมองให้เด็กได้ฝึกคิดแก้ปัญหา หรือไข่ไดโนเสาร์ที่เด็กจะต้องคิดเหมือนกันว่าจะแกะออกมาเล่นได้ยังไง และจะประกอบเข้าไปใหม่ได้อย่างไร" ป้าสุพร ยกตัวอย่าง

อย่างไรก็ดี นางสุพรบอกอีกว่าปีหลังๆ มานี้ยอดขายตกลงมาก โดยเฉพาะปีนี้ที่ขายได้น้อยกว่าปีที่แล้วอีก ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองซื้อของเล่นให้บุตรหลานน้อยลง และอีกอย่างหนึ่งเป็นเพราะมีร้านค้าลักษณะเดียวกันในงานมากขึ้นด้วย ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น.
นายสาคร ชนะไพฑูรย์
นายเขมจิต ธนากิจชาญเจริญ
น.ส.กรรณิการ์ คุ้มวงษ์ กำลังอธิบายเรื่องแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมให้เด็กที่เข้ามาชม
น.ส.กรรณิการ์ คุ้มวงษ์
นิทรรศการ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ยังเป็นที่สนใจของเด็กๆ อย่างต่อเนื่อง
เยาวชนมุงดูการสาธิตวิธีการสลายม็อบของกระทรวงกลาโหม
มุมนี้ทดลองส่องกล้องดูนกกันเป็นแถว
กำลังโหลดความคิดเห็น