สทอภ. เผยภาพแรก "ธีออส" บันทึกเพื่อทดสอบกล้อง แต่ถ่ายได้แค่ "ภูเก็ต" จากจะถ่าย "กรุงเทพฯ" ด้วย เนื่องจากเมฆปกคลุมมากมาย แต่ผู้บริหารย้ำยังใช้ประโยชน์ดาวเทียมได้ โดยเฉพาะหน้าหนาว ไม่มีเมฆบัง พร้อมเริ่มบันทึกภาพ ใช้งานจริงได้ ธ.ค.นี้ วอนคนไทยร่วมใช้ประโยชน์ดาวเทียมมากๆ จะได้คุ้ม และเจ้าหน้าที่จะได้ทำงานเต็มที่
หลังการแถลงข่าวถึงการส่งดาวเทียม "ธีออส" (THEOS) ขึ้นฟ้าได้สำเร็จเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้จัดการวิทยาศาสตร์พร้อมด้วยสื่อมวลชนอีกหลายฉบับได้มุ่งหน้าสู่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กรุงเทพฯ ซึ่งจัดแถลงข่าวเผยภาพแรกของดาวเทียมธีออส เมื่อบ่ายวันที่ 6 ต.ค.51
ทั้งนี้ สทอภ.แจ้งว่าธีออสเริ่มบันทึกภาพแรกในวันที่ 3 ต.ค.51 โดยเลือกบันทึกภาพกรุงเทพมหานครและ จ.ภูเก็ต อย่างไรก็ดีภาพที่นำมาเผยแพร่นั้นเป็นภาพที่บันทึกได้เฉพาะ จ.ภูเก็ต
ภายในการแถลงข่าว พลเอก ดร.วิชิต สาทรานนท์ ประธานกรรมการบริหาร สทอภ. ชี้แจงว่า ภาพที่บันทึกได้เมื่อวันที่ 3 ต.ค.นั้น เป็นภาพดิบ ที่ยังไม่สามารถเผยแพร่แก่สื่อมวลชน ในวันที่บันทึกภาพได้ทันที เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการแปลข้อมูลซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และในวันดังกล่าว สภาพท้องฟ้าในกรุงเทพมหานครปกคลุมไปด้วยเมฆ 100% จึงไม่สามารถบันทึกภาพไว้ได้ ขณะที่ จ.ภูเก็ต มีเมฆปกคลุม 60% แต่ก็ยังคงบันทึกภาพบางส่วนได้
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ดาวเทียมธีออสไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เมื่อเกิดฝนตกใช่หรือไม่นั้น พลเอก ดร.วิชิตได้ตอบว่า ธีออสไม่สามารถถ่ายภาพเมื่อมีเมฆปกคลุม เนื่องจากใช้ระบบถ่ายภาพทางแสง (Optical)
แต่ทาง สทอภ.ก็ได้ซื้อภาพถ่ายดาวเทียมเรดาร์แซท (SADARSAT) ของแคนาดา ที่สามารถถ่ายภาพทะลุเมฑได้ ซึ่งจะช่วยเสริมการใช้งานธีออสเมื่อมีเมฆบดบัง โดยตั้งงบสำหรับซื้อภาพจากดาวเทียมดังกล่าวปีละ 30-40 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภาพที่บันทึกได้นั้น ประธานบอร์ด สทอภ. กล่าวว่า ยังไม่สามารถนำไปใช้งานได้ เนื่องจากเป็นเพียงภาพทดสอบ ที่บันทึกในระดับต่ำกว่าวงโคจรจริง โดยคาดว่าใช้เวลาอีกประมาณ 10 วัน ธีออสจะเข้าสู่วงโคจรที่ระดับ 822 กิโลเมตร และอาจใช้เวลาอีกราว 1 เดือนจึงจะผลิตภาพสำหรับใช้งานได้ต่อไป โดยในช่วงที่จะใช้งานดาวเทียมธีออสได้เต็มที่มากที่สุด คือช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะเดือน ธ.ค. และวันที่ไม่มีเมฆบดบัง ซึ่งภาพที่ใช้งานได้ต้องมีเมฆไม่เกิน 10%
"อยากเร่งให้ผู้ใช้งานภาพถ่ายดาวเทียม ใช้ประโยชน์ดาวเทียมธีออสอย่างเต็มที่ และสทอภ.ก็พร้อมอบรมการใช้งานให้ ถ้าเราได้ทำงานเต็มที่ 100% จะแฮปปี้มาก แต่ถ้าหากไม่มีใครใช้เลย จะเสียไปเปล่าๆ วันหนึ่งไม่รู้เท่าไหร่" พลเอก ดร.วิชิตกล่าว
สำหรับคู่แข่งของดาวเทียมธีออส ปัจจุบันมีดาวเทียมจากไต้หวันและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ความละเอียดราว 2 เมตรเช่นกัน แต่เป็นดาวเทียมที่มีลักษณะวงโคจรต่างไปจากดาวเทียมของไทยซึ่งโคจรในแนวเหนือ-ใต้ ขณะที่ดาวเทียมของคู่แข่งโคจรในลักษณะบิดเบี้ยว เพื่อให้มองเห็นพื้นที่บางส่วนได้ทุกวัน
พลเอก ดร.วิชิต ระบุข้อดีของการตั้งสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออสที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ว่า สถานีตั้งอยู่ปากท่อสายเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งสามารถส่งภาพถ่ายดาวเทียมให้ลูกค้าต่างประเทศได้ทันที ขณะเดียวกันก็มีสถานีรับภาพที่เมืองคิรูนา สวีเดน ซึ่งจะโหลดข้อมูลการบันทึกภาพของกล้องบนธีออส ทำให้ความจำกล้องไม่เต็มและสามารถบันทึกภาพต่อไปได้ โดยธีออสมีความจำอยู่ 51 กิกะไบท์หรือบันทึกภาพได้ประมาณ 100 ภาพ
ปัจจุบัน สทอภ.กำลังทยอยส่งเจ้าหน้าที่ ไปศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมอวกาศ โดยทุนจากความร่วมมือในการสร้างดาวเทียมธีออสจำนวน 24 ทุน โดยก่อนหน้านี้ พลเอก ดร.วิชิตระบุว่า สำนักงานยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นวิศวกรด้านเทคโนโลยีอวกาศ เนื่องจากในเมืองไทยไม่ใครศึกษาทางด้านนี้ และไม่สถาบันใดเปิดสอน และมีเพียงเจ้าหน้าที่ทางด้านเทคโนโลยีภาพถ่ายระยะไกล หรือรีโมตเซนซิง (Remote Sensing).