xs
xsm
sm
md
lg

นึกว่าอยู่ฟรี! สถานีรับสัญญาณ "ธีออส" อาจต้องจ่ายค่าเช่า 37 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางดาราศรี ดาวเรือง รอง ผอ.สทอภ. ชี้ให้ดูจานรับสัญญาณย่านเอส-แบนด์
สทอภ.เผย อาจต้องจ่ายค่าเช่าที่ สถานีรับสัญญาณ "ธีออส" 37 ล้าน แจงไม่เคยทราบมาก่อน เจ้าหน้าที่เพิ่งแจ้งเมื่อ 3 ต.ค.51 แต่เชื่อคุยกันได้ระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกัน พร้อมเผย ยูเครนสนใจตั้งฐานปล่อยจรวดที่ภาคใต้ แต่เรื่องได้ตกไปเพราะต้นทุนสูง และอาจเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ต้อนรับ นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะและสื่อมวลชน ซึ่งเดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อ 15 ต.ค.51 โอกาสนี้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงได้ร่วมเดินทางไปเยี่ยมชมสถานีรับสัญญาณแห่งใหม่ของ สทอภ.ด้วย

ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์ ผอ.สทอภ. กล่าวถึงความคืบหน้าของดาวเทียมธีออส ที่ส่งขึ้นสู่วงโคจรไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค.51 ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ดาวเทียมประทับวงโคจรที่ระดับ 822 ก.ม. และอยู่ระหว่างปรับวงโคจรให้นิ่ง โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีก 10 วันจึงจะเริ่มบันทึกภาพ เพื่อปรับเทียบมาตรฐานกับภูมิศาสตร์ต่างๆ ของโลกได้

"เมื่อวันที่ 6 ส.ค.51 ผมมั่นใจว่า จะส่งดาวเทียมได้ แต่ก็ส่งไม่ได้ พอถึงวันที่ 1 ต.ค. ผมไม่มั่นใจเลยว่าจะยิงได้ แต่กลับยิงได้ เมื่อวันที่ 6 ส.ค.เราเตรียมเลี้ยงฉลองการส่งดาวเทียม จ้างโรงแรมจัดเลี้ยงหมดไปเป็นล้าน แต่ยิงไม่ได้ วันที่ 1 ต.ค.เราเลยไม่บอกให้สื่อมวลชน เพราะกลัวหน้าแตกอีก" ดร.ธงชัยย้ำ เหตุผลที่ไม่แจ้งล่วงหน้า ว่าจะส่งดาวเทียมธีออส ระหว่างกล่าวรายงานรัฐมนตรี

สำหรับสถานีรับสัญญาณดาวเทียมธีออส ตั้งอยู่บนพื้นที่ "ราชพัสดุ" โดยมีพื้นที่ 120 ไร่ และขณะนี้ได้ก่อสร้างอาคารสำหรับควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส พร้อมจานรับสัญญาณย่าน "เอกซ์-แบนด์" (X-Band) ที่มีความถี่ 8 กิกะเฮิร์ตซ์ และจานรับสัญญาณย่าน "เอส-แบนด์" (S-Band) ที่มีความถี่ 2 กิกะเฮิร์ตซ์ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถรับสัญญาณย่านเอกซ์-แบนด์ได้ โดยมีสถานีรับสัญญาณดาวเทียมลาดกระบังทำหน้าที่สำรองในการรับและแปรสัญญาณ

เหตุผลที่ต้องสร้างสถานีรับสัญญาณขึ้นใหม่นั้น ดร.ธงชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องเร่งด่วน  เนื่องจากสถานีรับสัญญาณที่ลาดกระบังนั้น อาจถูกรบกวนจากสัญญาณเรดาห์ของสนามบินสุวรรณภูมิ และขณะนั้น กำลังจะส่งดาวเทียมธีออสแล้ว จึงจำเป็นต้องมีสถานีควบคุมดาวเทียมใหม่ ซึ่งมี 3 ทางเลือกสำหรับสร้างสถานีรับสัญญาณคือ 1.พื้นที่ทหารใน จ.ฉะเชิงเทรา 2.เทคโนธานี จ.ปทุมธานี และ 3.พื้นที่ราชพัสดุใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งสุดท้ายลงตัวที่ชลบุรี

"ตอนนั้น จ.ชลบุรี อนุญาตให้สร้าง แต่เมื่อวันที่ 3 ต.ค.เขาแจ้งว่าต้องจ่ายค่าเช่า 30 ปี 18 ล้านบาท พร้อมค่าธรรมเนียมอีก 18 ล้านบาท และค่ารังวัดอีก 1 ล้านบาท ก็เพิ่งทราบ นึกว่าได้อยู่ฟรี" ดร.ธงชัยกล่าว และบอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ในภายหลังอีกด้วยว่า อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอง คาดว่าระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกันไม่น่าจะมีปัญหา

นอกจากนี้ ผอ.สทอภ.ยังได้กล่าวถึงรายได้ ที่จะได้รับจากดาวเทียมธีออสว่า ภาพถ่ายดาวเทียมที่จำหน่ายในประเทศ ให้แก่ทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน ในราคาภาพละ 5,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่คิดเฉพาะค่าวัสดุ แต่ไม่คิดค่าข้อมูล

ส่วนต่างประเทศจะขายภาพละ 1.35 แสนบาท และหากประเทศใดสนใจตั้งสถานีรับสัญญาณธีออส ต้องลงทุน 1 ล้านยูโรหรือประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งไทยจะได้ส่วนแบ่งจากค่าตั้งสถานีประมาณ 10 ล้านบาท และรายได้จากค่าสัญญาณวินาทีละ 1,866 บาท ซึ่ง 15,000 วินาทีจะมีรายได้ 28 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ดร.ธงชัยเผยด้วยว่า ยูเครนมีความสนใจสร้างฐานปล่อยจรวดดาวเทียมที่ จ.สุราษฎร์ธานี และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดทะเล ทำให้ไม่เป็นปัญหาเรื่องชิ้นส่วนจรวดตกลงพื้นดิน และใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งเหมาะแก่การส่งดวเทียมเข้าวงโคจรได้ง่าย แต่เรื่องนี้ก็ได้จบไปแล้ว เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งยังอาจมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย

ด้านนายวุฒิพงศ์ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ได้มอบภารกิจให้ สทอภ.เผยแพร่ภาพแอนิเมชันการปล่อยดาวเทียม เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนได้เรียนรู้ฟิสิกส์ เรื่องการโคจรของจรวดและการหนีแรงโน้มถ่วง รวมถึงการทำภาพ 3 มิติของพื้นที่สูง-ต่ำเพื่อจัดทำพื้นที่การไหลของน้ำ สำหรับการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำและกำหนดพื้นที่ปลูกป่าด้วย.
นางดาราศรี ดาวเรือง รอง ผอ.สทอภ. ชี้ให้ดูจานรับสัญญาณย่านเอกซ์-แบนด์
ห้องประชุมภายในสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส
สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส
นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง พร้อมคณะและเจ้าหน้าที่ สทอภ. หน้าอาคารควบคุมสัญญาณดาวเทียมธีออสชั่วคราว
นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง และที่ปรึกษาฟังรายงาน
ห้องแสดงนิทรรศการดาวเทียม
กำลังโหลดความคิดเห็น