xs
xsm
sm
md
lg

รอมา 4 ปี "ธีออส" ได้ออกเดินทาง ส่วนวิศวกรไทยเริ่มออกแบบดวงที่ 2 แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานแถลงข่าวการส่งดาวเทียมธีออส หลังจากส่งขึ้นฟ้าไปแล้ว ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (ซ้ายไปขวา) ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์, พลเอก ดร.วิชิต สาทรานนท์, ดร.สุจินดา โชติพานิช และ นายแดเนียล กาลิโน
เพิ่งส่ง "ธีออส" ยังไม่ทันประทับวงโคจร ล่าสุด สทอภ.เผยทีมวิศวกรเริ่มออกแบบดาวเทียมดวงที่ 2 แล้ว แต่จะสร้างหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความต้องการประชาชนและรัฐบาล แจงล่าช้าเพราะปัญหาที่ไม่เคยทราบมาก่อน ฟุ้งมี 10 ประเทศติดต่อให้ประโยชน์ธีออสแล้ว แต่คงได้คืนแค่ครึ่งของต้นทุน ชี้ไม่มีประเทศไหนสร้างดาวเทียมเพื่อความคุ้มทุน

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) จัดแถลงข่าวเรื่องการส่งดาวเทียมธีออส (THEOS) ขึ้นสู่อวกาศ ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในเช้าวันที่ 2 ต.ค.51 ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยสื่อมวลชนอื่นได้เข้าร่วม

ผู้แถลงข่าวประกอบด้วย ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พล.อ.ดร.วิชิต สาทรานนท์ ประธานกรรมการบริหาร สทอภ., ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์ ผอ.สทอภ., และ นายแดเนียล กาลิโน (Daniel Galino) หัวหน้าโครงการวิศวกรโยธา สำนักงานผู้อำนวยการกองสำรวจโลกและวิทยาการ บริษัทแอสเทรียม แซทเทลไลท์ (Astrium Satellites) ประเทศฝรั่งเศสร่วมแถลง

ทั้งนี้ ดาวเทียมธีออสเป็นดาวเทียมที่รับผิดชอบการดำเนินการโดย สทอภ.ซึ่งว่าจ้างให้บริษัท อีเอดีเอส แอสเทรียม (EADS Astrium) ประเเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ดำเนินการสร้าง ภายใต้ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศระหกว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อ 19 ก.ค.47 และได้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 1 ต.ค.51 เวลา 13.37 น. ตามเวลาประเทศไทย จากฐานปล่อยจรวดยัสนี ประเทศรัสเซีย

ดร.สุจินดา โชติพานิช ซึ่งร่วมรับฟังการถ่ายทอดสัญญาณส่งดาวเทียมธีออส จากฐานปล่อยประเทศรัสเซียผ่านรายงานเสียงทางโทรศัพท์ ณ สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวว่า จรวดเนเปอร์ (Dnepr) ได้นำธีออส ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยแรงขับเคลื่อนของจรวดท่อนที่ 1 ซึ่งแยกตัวและตกลงสู่พื้นโลกที่ประเทศคาซัคสถาน เมื่อทะยานขึ้นไปได้ 110 วินาที และสูงจากพื้นโลก 60 กิโลเมตร

จากนั้นจรวดท่อนที่ 2 ได้นำดาวเทียมไปอีก 180 วินาที สู่ความสูง 300 กิโลเมตร ก่อนแยกตัวตกในมหาสมุทรอินเดีย และจรวดส่วนสุดท้าย นำดาวเทียมขึ้นสู่ความสูง 690 กิโลเมตร และธีออสได้แยกตัวออกไปโคจรอิสระ และในเวลา 15.09 น. ของวันที่ 1 ต.ค.51 ตามเวลาประเทศไทย สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียที่เมืองคิรูนา สวีเดนติดต่อกับธีออสได้เป็นครั้งแรก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุึใดจึงไม่แจ้งให้ทราบว่าจะมีการส่งดาวเทียม ก็ได้รับคำชี้แจง จากปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ว่า เพื่อความมั่นใจว่าส่งดาวเทียมได้จริงๆ และเมื่อส่งได้แล้ว ก็รีบแจ้งไปยังผู้สื่อข่าวทันที

เนื่องจากไม่มั่นใจ กับประเทศคาซัคสถาน ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องระงับส่งดาวเทียมเมื่อ 6 ส.ค.51 ที่ผ่านมา เพราะคาซัคสถานไม่ยินยอมให้ชิ้นส่วนจรวดท่อนที่ 1 ตกในพื้นที่ โดยในวันดังกล่าวนั้น ทาง สทอภ.ได้แจ้งว่าพร้อมส่งดาวเทียม และได้ติดตั้งธีออสบนหัวจรวด และเติมเชื้อเพลิงแล้ว แต่ต้องระงับการส่งฉุกเฉิน

"เหตุผลคือ ไม่อยากหน้าแตก เพราะการระงับครั้งก่อน สื่อมวลชนก็เล่นเราไปพอสมควร ครั้งก่อนช่อง 9 ถึงกับเอารถถ่ายทอดสัญญาณ ไปจอดที่สถานีรับสัญญาณ อ.ศรีราชา คราวนี้เราก็เลยคุยกับทีมงานว่า เมื่อดาวเทียมขึ้นแล้ว จึงรีบแจ้งสื่อมวลชน" พล.อ.ดร.วิชิตกล่าว

อีกทั้ง การส่งดาวเทียมธีออสครั้งนี้ ไทยได้่รับความยินยอมจากคาซัคสถานเพียงประเทศเดียว ขณะที่ประเทศอื่น ซึ่งรอส่งดาวเทียมจากฐานปล่อยเดียวกันนี้ไม่ได้รับอนุญาต


เมื่อผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันว่า ปกติการระงับส่งดาวเทียมภายใน 24 ชั่วโมง ต้องเป็นเหตุเนื่องจากสภาพอากาศหรือสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่เหตุเรื่องการเจรจาไม่เรียบร้อย ด้าน พล.อ.ดร.วิชิต ตอบว่า ปกติควรจะเป็นอย่างนั้น แต่กรณีนี้ไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะเกิดปัญหาเช่นนี้ และฐานปล่อยจรวดนี้ก็ไม่เคยเกิดปัญหานี้มาก่อน


พร้อมบอกด้วยว่า ความร่วมมือกับแอสเทรียมนี้ราบรื่นอย่างยิ่ง หากแต่ความล่าช้าเป็นเพราะประเทศอื่น โดยจากสถานการณ์การเมืองและข่าวเรื่องการยิงทำลายดาวเทียมโจรกรรมของสหรัฐฯ ซึ่งมีเชื้อเพลิงที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต ทำให้ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ตกของชิ้นส่วนจรวดนำส่งธีออสไม่ยินยอม ซึ่ง สทอภ.ไม่อาจทำอะไรได้

พอ.อ.ดร.วิชิตระุบุว่า เลือกบริษัทแอสเทรียมให้สร้างดาวเทียมให้ เนื่องจากเป็นบริษัทที่ดีที่สุด และรัฐบาลฝรั่งเศสให้การสนับสนุน โดยในความร่วมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือหลายด้าน อาทิ ทุนจำนวน 24 ทุน สำหรับศึกษาทางด้านอวกาศระดับปริญญาตรี-โท-เอก ซึ่งหาที่เรียนไม่ง่าย และยังได้ภาพถ่ายดาวเทียมจากดาวเทียมสปอตของฝรั่งเศสเป็นเวลา 3 ปี สำหรับข้อมูลดาวเทียมปีละ 20,000 วินาที ซึ่งปกติต้องซื้อข้อมูล 15,000 วินาทีในราคา 17 ล้านบาท เป็นต้น

สำหรับวิศวกรกว่า 20 คนที่ได้รับทุนในโครงการธีออสนั้น ดร.วิชิตกล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ประจำอยู่ที่สถานีควบคุม และรับสัญญาณดาวเทียม อ.ศรีราชา โดยมีทีมวิศวกรพี่เลี้ยงจากประเทศฝรั่งเศสจำนวน 17 คนมาร่วมถ่ายทอดความรู้ เกี่ยวกับการควบคุมดาวเทียม โดยไทยไม่ต้องจ่ายเงินเดือนให้กับวิศวกรฝรั่งเศส เพราะอยู่ในงบของโครงการดาวเทียมธีออส 6,400 ล้านบาทอยู่แล้ว

"ตอนนี้วิศวกรของไทยกำลังเริ่มออกแบบดาวเทียมดวงที่ 2 แล้ว แต่จะสร้างหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนและรัฐบาล ส่วนอนาคต จะยังคงร่วมมือกับแอสเทรียม เพื่อสร้างดาวเทียมอีกหรือไม่ ไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการสร้างดาวเทียมดวงต่อไป ว่าต้องเป็นดาวเทียมที่สร้างโดยคนไทยหรือเปล่า" พล.อ.ดร.วิชิตกล่าว

ด้านความสนใจของต่างชาติต่อข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมธีออสนั้น พล.อ.ดร.วิชิต กล่าวว่า ขณะนี้มีติดต่อกันเข้ามากถึง 10 รายแล้ว ทั้งติดต่อขอซื้อภาพถ่ายและติดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมธีออส อาทิ จีน ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เป็นต้น โดยกำหนดขายภาพขาว-ดำ ขนาด 2x2 เมตร ในราคาประมาณแสนบาท และค่าติดตั้งสถานีรับสัญญาณตกประมาณ 60 ล้านบาท

ส่วนหน่วยงานในประเทศไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนจะคิดแค่ราคาวัสดุเท่านั้น โดยคาดว่าน่าจะตกอยู่ที่ประมาณพันบาท ซึ่งเมื่อคำนวณความคุ้มทุนทั้งหมดแล้ว คาดว่า จะได้ผลตอบแทนทางตรงกลับมา ไม่ถึงครึ่งของต้นทุนดาวเทียม แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีประเทศไหน ที่สร้างดาวเทียมขึ้นมาเพื่อความคุ้มทุนอยู่แล้ว

สำหรับภาพแรกของดาวเทียมธีออส จะบันทึกในวันที่ 3 ต.ค.51 ที่ระดับความสูง 690 กิโลเมตร เพื่อทดสอบการทำงานของกล้องบันทึกภาพ โดยจะบันทึกภาพของกรุงเทพฯ และ จ.ภูเก็ต

ทั้งนี้ พอ.อ.ดร.วิชิตเผยว่า ที่เลือก 2 แห่งนี้ เพื่อให้เป็นภาพประวัติศาสตร์การบันทึกภาพแรกของดาวเทียมธีออส จากนั้นวันที่ 4 ต.ค.51 จะมาประมวลผลที่สถานีรับสัญญาณลาดกระบัง และวันที่ 14 ต.ค.51 จะบันทึกภาพอีกครั้งหนึ่งที่ระดับความสูง 822 กิโลเมตร แต่จะเริ่มบันทึกภาพเพื่อจำหน่ายได้ในเดือน ธ.ค.51

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้ถามไปยังนายแดเนียล กาลิโน ตัวแทนจากแอสเทรียมถึงปัญหาความล่าช้าในการส่งดาวเทียมธีออส ซึ่งเขาได้ให้คำตอบว่า ความล่าช้าในการส่งดาวเทียมเป็นเรื่องปกติ และธีออสก็ไม่ใช่กรณีแรก โดยก่อนหน้านี้ แอสเทรียมเคยส่งดาวเทียมให้มาเลเซีย ซึ่งมีความล่าช้้าถึง 2 ปี  พร้อมยืนยันว่าฐานปล่อยจรวดยัสนี เป็นฐานปล่อยจรวดที่ดีสุด สำหรับดาวเทียมขนาดเล็กอย่างธีออส และไม่เคยมีปัญหาทำนองนี้มาก่อน

ธีออสเป็นดาวเทียมขนาดเล็กมีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม และมีระยะห่างจากโลกเมื่อส่งขึ้นไปโคจรที่ระดับ 822 กิโลเมตร โคจรรอบโลกทั้งสิ้น 369 วงโคจร ซึ่งระยะทางระหว่างวงโคจรแต่ละวงเท่ากับ 105 กม. โดยจะโคจรมาที่จุดเดิมทุกๆ 26 วัน และสามารถถ่ายภาพได้ครอบคลุมทั่วโลก บันทึกภาพด้วยระบบเดียวกับกล้อง (Optical System) ความละเอียดของภาพขาวดำ 2 เมตร และมีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี.
พลเอก ดร.วิชิต สาทรานนท์ กับแบบจำลองดาวเทียมธีออส
นายแดเนียล กาลิโน ตัวแทนจากแอสเทรียม
อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทย์ กอบแก้ว อัครคุปต์ ก็มาร่วมในงานแถลงนี้ด้วย (ภาพทั้งหมดจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ)
กำลังโหลดความคิดเห็น