ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยที่นอกจากจะไร้วี่แววสู่อวกาศแล้ว ก็ยังไร้คำอธิบายของการเลื่อนแล้วเลื่อนเล่าที่เหมาะสม ทั้งที่จ่ายค่าจ้างครบตั้งแต่ปลายปี 49 แล้ว ล่าสุด “ผอ.สทอภ.-ปลัดวิทย์” บินตรงสู่รัสเซียหาต้นเหตุส่งดาวเทียม "ธีออส" ไม่ได้ พร้อมทั้งหากำหนดเวลาใหม่ ระบุต้องปรับผู้รับจ้างผลิต 0.1% ของมูลค่าโครงการ 6 พันล้าน
ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เผยว่ายังไม่สามารถส่ง ”ธีออส” (THEOS) ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทยได้สำเร็จตามกำหนด ซึ่งขณะนี้ธีออสตั้งอยู่ที่ฐานปล่อยจรวดในชายแดนประเทศรัสเซียแล้ว แต่เนื่องจากทางอุซเบกิสถานไม่ยินยอมกรณีที่ชิ้นส่วนแรกของจรวดจะตกลงในอาณาเขต
ทั้งนี้เมื่อเลยกำหนดส่งดาวเทียมซึ่งระบุไว้ตามสัญญาคือระหว่าง 19 ก.ค.50-19 ม.ค.51 ผอ.สทอภ.เผยว่า จะปรับบริษัทแอสเทรียม เอส.เอ.เอส.ของฝรั่งเศสซึ่งไทยได้ว่าจ้างให้เป็นผู้สร้างและส่งดาวเทียมด้วยมูลค่า 0.1% ของโครงการที่มีมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาทตามข้อตกลงในสัญญา
ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องระบุว่าจะทราบรายละเอียดถึงสาเหตุของความล่าช้าในการส่งดาวเทียมธีออสที่ชัดเจนขึ้นหลังวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนายชาญชัย เพียรวิจารณ์พงศ์ ผู้อำนวยการโครงการดาวเทียมธีออส สทอภ. เผยว่าเมื่อถึงเวลานั้นทางฝรั่งเศสกลับรายงานมาเพียงว่า ต้องมีข้อตกลงระหว่างรัสเซียกับอุซเบกิสถาน เนื่องจากจรวดท่อนแรกจากการส่งดาวเทียมจะตกในพื้นที่ของอุซเบกิสถาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เคยรับทราบแล้วตั้งแต่ต้นปี
อย่างไรก็ดี ระหว่างวันที่ 23-26 ม.ค.นี้ ดร.ธงชัยพร้อมด้วย ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และวิศวกรรวม 7 คนได้เดินทางไปยังกรุงมอสโกว รัสเซีย เพื่อรับทราบสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งทำให้ไม่สามารถส่งดาวเทียมธีออสได้ และคาดว่าจะทราบรายละเอียดมากขึ้นหลังจากนี้
"เรียนตรงๆ ว่าเรื่องรายละเอียดยังไม่คืบหน้าเท่าไหร่ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องเดินทางไปรัสเซียเพื่อดูข้อเท็จจริง" คำกล่าวของ ผอ.โครงการดาวเทียมธีออสซึ่งไม่ได้ร่วมเดินทางไปด้วย และเขายังอธิบายว่าคณะดังกล่าวไปเพื่อหารือกับรัสเซียถึงวันเวลาที่เหมาะสมในการส่ง เนื่องจากตอนนี้ดาวเทียมก็เตรียมพร้อมที่ฐานปล่อยแล้ว ส่วนสถานีรับสัญญาณก็พร้อมแล้ว
ทางด้าน ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วท. เปิดเผยว่าที่ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเดินทางไปรัสเซีย เนื่องจากเป็นห่วงว่าเกิดความไม่เรียบร้อยขึ้น อีกทั้งต้องมีการเจรจากับอุซเบกิสถาน และขณะนี้ได้เริ่มนับวันคิดค่าปรับกับบริษัทคู่สัญญาของฝรั่งเศสแล้ว
"ทีแรกคิดว่าเป็นหน้าที่ของบริษัทคู่ค้าที่ต้องรายงานความคืบหน้าให้ฝ่ายไทยทราบ แต่ก็คิดว่าไม่เป็นไรเพราะการเดินทางไปดูความเรียบร้อยเองก็ไม่มีอะไรที่เสียหาย แม้จะมีเรื่องค่าใช้จ่ายมาเกี่ยวข้องด้วยเพราะถือเป็นการตรวจดูความก้าวหน้าของงานไปในตัว ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จ่ายค่างวดสุดท้ายแก่บริษัทคู่สัญญาไปตั้งแต่ปลายปี 49 แล้ว" ศ.ดร.ยงยุทธกล่าว
ทั้งนี้ ดาวเทียมธีออสสร้างเสร็จตั้งแต่ต้นปี 2550 และมีกำหนดส่งแรกสุดในเดือน ต.ค.ปีเดียวกันนั้น ทว่าตัวดาวเทียมเพิ่งส่งไปถึงฐานปล่อยจรวดที่รัสเซียเมื่อปลาย พ.ย.50 และกำหนดการส่งดาวเทียมล่าสุดตามที่ได้รับแจ้งจาก สทอภ.คือ 9 ม.ค.51 แต่จนถึงปัจจุบันธีออสก็ยังคงรออยู่ที่ฐานปล่อยจรวดโดยไร้กำหนดขึ้นสู่อวกาศที่แน่นอน.