xs
xsm
sm
md
lg

ชี้อนาคต 20 ปีศึกษาชาติ ต้องเน้นความเป็นเลิศ ดึงภาค ปชช.ร่วมพัฒนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการแนะการศึกษาไทยใน 20 ปีข้างหน้า ต้องสร้างให้เด็กใช้สติปัญญา สร้างนวัตกรรมใหม่ แข่งขันกับนานาชาติได้ ระบุ ต้องหลุดพ้นจากเงื่อนไขเดิมๆ ที่ทำให้การศึกษาชาติไม่พัฒนา ชี้อีก 20 ปีข้างหน้า ทิศทางการศึกษาไม่ขึ้นอยู่กับยุโรป และอเมริกา แต่จะเป็นอินเดียและจีน
รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์
รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เชิญนักวิชาการมาร่วมรับฟัง และให้ข้อเสนอแนะในการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “ภาพการศึกษาไทยในอนาคต 10-20 ปี ข้างหน้า” ซึ่ง สกศ.สนับสนุนให้ น.ส.พิณสุดา สิริธรังสี อาจารย์ประจำ มธบ.ทำการศึกษาวิจัย โดยมีนักวิชาการเข้าร่วมประมาณ 50 คน

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้นำเสนอว่าในอนาคต 10-20 ปีข้างหน้านั้น สภาพเศรษฐกิจและสังคมของไทยจะเปลี่ยนแปลงไปมากเข้าสู่สังคมของการแข่งขัน ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นสังคมที่พึ่งตนเองได้อย่างพอเพียง ดังนั้น การจัดการศึกษาของไทยก็ต้องเปลี่ยนตาม โดยต้องสร้างเด็กให้มีความรู้ ความสามารถสูงขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศก็จะต้องเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาการศึกษามากขึ้นด้วย

ดังนั้น การจัดการศึกษาในอนาคตจะต้องเน้นความเป็นเลิศเป็นหลักใหญ่ และต้องพัฒนาสติปัญญา ให้เด็กใช้มันสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ครูและท้องถิ่นจะต้องเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาการศึกษามากขึ้นด้วย

รศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวว่า ตนได้ให้ข้อเสนอแนะไปว่า อีก 20 ปีข้างหน้า จะเป็นยุคหลังโลกาภิวัตน์ ซึ่งจะเป็นสังคมที่ต้องใช้สติปัญญา และเด็กต้องรู้จักคิดวิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น การเรียนการสอนต้องสนับสนุนกระบวนการให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง ขณะที่แหล่งทรัพยากรทางการศึกษา และแหล่งเรียนรู้ก็ต้องหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะแหล่งเรียนรู้ที่มาจากชุมชน

ขณะเดียวกัน บทบาทด้านการบริหารจัดการการศึกษาก็ต้องเป็นเครือข่ายใหม่ ไม่ใช่อาศัยจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว โดยอาจมาจากองค์กรในชุมชน หรือภาคเอกชน ส่วนสื่อการเรียนการสอนต้องมองการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียด้วยกันด้วย ไม่ใช่นำเข้าสื่อจากตะวันตกเท่านั้น

ขณะที่นายวิจิตร ศรีสอ้าน อดีต รมว.ศึกษาธิการ แนะว่า การศึกษาในอนาคตต้องเป็นไปเพื่อการแข่งขันกับนานาชาติให้มากขึ้น เพราะหากประเทศใดมีความสามารถสูง คิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ก่อนก็จะได้เปรียบ ที่สำคัญต้องพัฒนาให้เด็กเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ จะพัฒนาเฉพาะด้านเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้

ส่วน ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เสนอว่า การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีไม่ควรถูกมองแยกส่วนออกไป แต่ต้องเป็นการศึกษาที่สัมพันธ์กับสังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ นักวิชาการคนอื่นๆ ได้ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาในอนาคตจะไม่ขึ้นอยู่กับอเมริกา หรือยุโรปอีกต่อไป แต่จะเปลี่ยนมาเป็นอินเดีย และจีนที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“อีก 20 ปีข้างหน้าการศึกษาไทยควรจะต้องรุกไปข้างหน้า และมีภาพการศึกษาใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่งานวิจัยที่นำเสนออกมานั้น ผู้วิจัยเสนอเงื่อนไขเดิมๆ ที่จะทำให้การศึกษาไทยประสบความสำเร็จ เช่น นักการเมืองที่เข้ามาบริหารงานจะต้องมีส่วนร่วม และมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาการศึกษา ผู้ประกอบอาชีพครูต้องเสียสละ และภาคเศรษฐกิจต้องให้การสนับสนุนทรัพยากร ซึ่งใน 20 ปีข้างหน้าเราต้องคิดถึงเงื่อนไขใหม่ๆ

“อาทิ การพัฒนาการศึกษาต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ลดความคาดหวังกับครูลงแต่เน้นตัวเด็กให้มากขึ้น หากเรายังติดในเงื่อนไขเดิมๆ การพัฒนาจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่ง สกศ.จะสรุปสาระงานวิจัยดังกล่าว พร้อมข้อเสนอแนะของนักวิชาการ เพื่อนำไปวางแผนพัฒนาการศึกษาไทยในอนาคตต่อไป” รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มธบ.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น