เปิดเวทีประชาพิจารณ์ปฏิรูปการศึกษารอบสองเวทีแรก ผู้ปกครองเสนอตั้งศาลการศึกษา เปิดช่องให้พ่อแม่ฟ้องร้องได้ กรณีโรงเรียนสอนบุตรหลานไม่มีคุณภาพ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ พร้อมเสนอปรับสัดส่วนหลักสูตรท้องถิ่นให้สูงขึ้น ด้าน “ยงยุทธ” เผยพอใจผู้ปกครอง ท้องถิ่นตื่นตัวร่วมแสดงความเห็น
นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นและสรุปแนวทางการปฏิรูปการศึกษารอบสอง สำนักงานสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยภายหลังการประชาพิจารณ์แนวทางการปฎิรูปการศึกษารอบสอง ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในการประชาพิจารณ์ดังกล่าวได้แบ่งแนวทางการรับฟังความคิดเห็นออกเป็น 9 ประเด็น ตามที่ สกศ.ได้กำหนดไว้ ได้แก่
1.การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพผู้เรียน 2.การผลิตและพัฒนาครูคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา 3.การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา 4.เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา 5.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษาและการมีส่วนร่วม 6.กฎหมายการศึกษา 7.การเงินเพื่อการศึกษา
8.การผลิตและพัฒนากำลังคน และ 9.การศึกษาตลอดชีวิต โดยสิ่งที่ต้องการรับฟังความเห็นมากที่สุด คือ การปฎิรูปการศึกษารอบสองที่จะดำเนินการนั้นเพื่ออะไร ซึ่งเวทีประชาพิจารณ์เห็นว่า ประเด็นสำคัญที่สุด ได้แก่ การจัดการศึกษาที่นำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ มีข้อเสนอที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบการเงินที่มีการกระจายงบประมาณไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่าจะสามารถให้ อปท.เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา หรือนำงบประมาณในส่วนของ อปท.มาใช้ในการศึกษา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่การปฎิรูปการศึกษารอบสองต้องให้ความสำคัญด้วย
“นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอให้ตั้งศาลการศึกษา เนื่องจากระบบศาลในปัจจุบันยังไม่มีศาลที่จะพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นทางการศึกษาโดยเฉพาะ ซึ่งหากมีศาลดังกล่าวผู้ปกครองก็สามารถที่จะส่งเรื่องหรือคดีความที่เกี่ยวกับการศึกษาเข้าสู่ศาลการศึกษาได้โดยตรง รวมถึงในกรณีที่สถานศึกษาไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพให้กับลูกหลาน เช่น เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ผู้ปกครองก็สามารถส่งฟ้องศาลได้ ซึ่งจะช่วยให้มีการพัฒนาด้านการศึกษามากขึ้น อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่จะต้องนำไปหารือกันต่อไป”
นายยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า เวทีประชาพิจารณ์ยังได้เสนอด้วยว่า เนื้อหาของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรจะมีเนื้อหาท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่กำหนดสัดส่วนหลักสูตรแกนกลางต่อหลักสูตรท้องถิ่นไว้ที่ 70 : 30 มีผู้เสนอให้ปรับเป็น 50 : 50 ซึ่งก็มีผู้เห็นแย้งว่า ในรายวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับชุมชนหรือท้องถิ่นก็อาจเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้นได้ แต่ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การปรับสัดส่วนหลักสูตรท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นก็อาจไม่เหมาะสม ทั้งนี้ การเปิดเวทีประชาพิจารณ์ที่ จ.เชียงใหม่ ถือเป็นครั้งแรก ส่วนตัวค่อนข้างพอใจกับความตื่นตัวของผู้ปกครองและชุมชน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและหลากหลาย
ซึ่งหลังจากนี้ สกศ.จะเปิดเวทีประชาพิจารณ์ที่ จ.สงขลา วันที่ 22 ก.พ.ที่บีพี สมิหลา บีช รีสอร์ท จ.ขอนแก่น วันที่ 25 ก.พ.ที่โซฟิเทล ราชา ออคิด และภาคกลาง รวมถึง กทม.วันที่ 11 มี.ค.ที่ รร.รอยัลริเวอร์ โดยจะเร่งรวบรวมประเด็นการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สองให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้