xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์แนะใช้วิกฤติเป็นโอกาส สร้างนวัตกรรมใหม่ในยุคเศรษฐกิจพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.อมเรศ ภูมิรัตน (ภาพจาก ไบโอเทค)
อดีตคณบดีคณะวิทย์ มหิดล ชี้พลิกวิกฤติเศรษฐกิจให้เป็นโอกาส ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ใช้ศาสตร์หลายสาขาร่วมกันแก้ปัญหา เลือกโจทย์วิจัยให้ตรงความต้องการของประเทศ หนุนพัฒนาศักยภาพคน เน้นนักวิจัยให้ใช้ความคิดมากกว่าพึ่งพาเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างชาติ

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จัดบรรยายพิเศษเรื่อง "ไบโอเทคจะคงความสำคัญอย่างไรในโลกวิกฤติ" เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี ไบโอเทค เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ณ อาคารไบโอเทค อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากมายรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ โดยวิทยากรได้ชี้ให้เห็นถึงวิธีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้ประสิทธิภาพในยุคเศรษฐกิจถดถอย

ศ.ดร.อมเรศ ภูมิรัตน อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และอดีตคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิกฤติการณ์ถือเป็นโอกาสดีที่จะผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ และในช่วงที่เกิดวิกฤติก็จะเป็นช่วงที่ประชาชนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้มาก จึงกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ได้เป็นอย่างดี การศึกษาวิจัยในยุคที่วิกฤติเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบทั่วโลกในตอนนี้จะต้องพิจารณาว่าจะทำงานวิจัยอย่างไรให้ได้ในแบบเศรษฐกิจพอเพียง

"ประเทศอุตสหกรรมมีการลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์มากกว่าประเทศกำลังพัฒนาประมาณ 10 เท่า จะเห็นได้ว่าประเทศไหนที่มีการอุ้มชูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็จะมีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจตามมา ซึ่งสมัยก่อนประเทศที่มีพื้นที่มาก มีแรงงานเยอะ มีวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จะได้เป็นมหาอำนาจ แต่ในสมัยนี้ไม่ใช่แล้ว ถ้าประเทศไหนดูแลประชากรและพัฒนากำลังคนได้มาก ก็สามารถพัฒนาไปเป็นมหาอำนาจได้ไม่ยาก" ศ.ดร.อมเรศ กล่าวพร้อมกับบอกว่าเทคโนโลยีชีวภาพก็จะเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งที่จะช่วยผลักดันวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยได้

ศ.ดร.อมเรศ กล่าวต่อว่า ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ควรสนับสนุนการใช้กำลังคนมากกว่าพึ่งพาเครื่องมือราคาแพง และอย่าไปกังวลว่าเราจะทำไม่ได้เพราะไม่มีเครื่องมือทันสมัยเหมือนต่างชาติ ถ้าทำไม่ได้เพราะขาดเครื่องมืออุปกรณ์ ก็ต้องคิดหาวิธีอื่นที่สามารถใช้ทดแทนได้ ใช้ความคิดให้มาก พึ่งพาเครื่องมือราคาแพงให้น้อยลง 

ยกตัวอย่างอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Alexander Fleming) ที่ค้นพบเพนิซิลิน โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีราคาแพง แต่ใช้สมอง ใช้ความคิด และการสังเกต โดยเฉพาะความช่างสังเกตนั้นเป็นหัวใจสำคัญของการค้นพบสิ่งที่เป็นประโยชน์มหาศาล

การเลือกโจทย์วิจัยในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ก็เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องพิจารณา เพราะอาจไม่มีงบประมาณมากพอที่จะสนับสนุนได้ทุกงานวิจัย ดังนั้นจึงควรหาจุดเด่นและความต้องการของประเทศเราให้ได้ แล้วทุ่มงบวิจัยไปในเรื่องนั้น ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่มีศักยภาพ เป็นเรื่องที่เราถนัด จึงจะสามารถแข่งขันกับชาติอื่นได้

นอกจากนี้ ศ.ดร.อมเรศ ยังแนะว่าควรสนับสนุนการทำงานวิจัยแบบร่วมมือกันระหว่างนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญสาขาต่างๆ มาร่วมแก้ปัญหาภายใต้โจทย์วิจัยเดียวกัน และควรเน้นคุณภาพของงานวิจัยมากกว่าปริมาณ ส่วนภาคเอกชนก็อาจต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ทุนวิจัย ซึ่งจะเป็นการช่วยฝึกฝนนักศึกษา และยังได้งานวิจัยที่ตรงตามความต้องการด้วย

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลีนิค คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างผลงานวิจัยเกี่ยวกับไข้เลือดออกของนักวิจัยต่างชาติเรื่องหนึ่งที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) ซึ่งข้อมูลที่เขาใช้ในการวิจัยนั้นเป็นข้อมูลในประเทศไทย ฉะนั้นนักวิจัยไทยก็ควรใช้ข้อมูลที่ประเทศเรามีอยู่มากมายให้เป็นประโยชน์ในการวิจัยให้มากยิ่งขึ้น

ส่วน ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโสของไบโอเทค เสนอแนะว่าควรจะมีการประเมินความก้าวหน้าในช่วงที่ผ่านมาว่าสำเร็จมากน้อยแค่ไหน มีอุปสรรคใดเกิดขึ้นบ้าง แล้วพยายามหาทางแก้ไขให้ได้ พร้อมกับจัดทำแผนที่นำทางของช่วงถัดไป โดยเน้นพัฒนาศักยภาพคน สร้างองค์ความรู้ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และใช้เทคโนโลยีชีวภาพร่วมกับวิทยาศาสตร์สาขาอื่นเพื่อให้เกิดการวิจัยแบบบูรณาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (ภาพจาก ไบโอเทค)
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ (ภาพจาก ไบโอเทค)
กำลังโหลดความคิดเห็น