บรรยากาศแห่งความโศกเศร้ายังคงตราติดอยู่ในดวงใจไทยทุกดวง กับข่าวการสูญเสียสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไปอย่างไม่มีวันกลับ เมื่อช่วงเช้าตรู่วันที่ 2 ม.ค.51 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยที่ทรงให้การเกื้อหนุนเสมอมา
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ตัวเองในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เชื่อว่าประชาชนคนไทยทุกคนย่อมรู้สึกเสียใจมากกับข่าวการสิ้นพระชนม์อย่างแน่นอน และยิ่งกับคนในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งรู้สึกเสียใจเป็นทวีคูณ เนื่องจากทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยมาก
ทั้งนี้ การที่พระองค์ทรงศึกษาด้านเคมีเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ พระองค์จึงทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ในสายพระโลหิตอย่างเต็มพระองค์ นอกจากนั้นแล้ว พระองค์ยังทรงมีพระเมตตาเปี่ยมล้น โดยเฉพาะกับเยาวชนไทย ที่ทรงส่งเสริมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ซึ่งหลังจากพระองค์ทรงพระกรุณาให้การสนับสนุนเมื่อปี 2532 เป็นต้นมาแล้วก็ปรากฎความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี เพื่อสนองพระกรุณาธิคุณและสืบสานพระปณิธานในพระองค์ ศ.ดร.ยงยุทธเองขอสนับสนุนให้มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ยังคงการสนับสนุนเยาวชนอย่างต่อเนื่องสืบไป
โดยเฉพาะสิ่งที่อยากเห็นอีกประการหนึ่งคือ การส่งเสริมตัวแทนเยาวชนไทยที่เข้าแข่งขันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศได้เลือกศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์แล้วนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาประเทศชาติ จากปัจจุบันที่ตัวแทนเยาวชนหลายรายยังเลือกเรียนสาขาอื่นอยู่มาก โดยในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังจัดเตรียมกิจกรรมไว้อาลัยต่อการสูญเสียครั้งนี้ด้วย
ส่วนอดีตตัวแทนเยาวชนไทยแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกวิชาการประจำปี 2533 ผู้มีโอกาสสนองงานในพระองค์อย่าง ดร.ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย นักวิจัยจากรั้วมหิดล เผยว่า รู้สึกช็อคเมื่อทราบข่าวและเสียใจ แต่ก็เชื่อว่าพระองค์จะทรงพระเกษมสำราญในสวรรคาลัยอย่างแน่นอน
นักวิจัย ม.มหิดล เผยด้วยว่า จากการที่มีโอกาสสนองงาน ทรงมีพระเมตตาต่อบุคคลรอบข้างเสมอมา เช่น เพื่อนตัวแทนเยาวชนไทยรายหนึ่งที่ไม่ยอมศึกษาต่อปริญญาเอกเสียที พระองค์ก็ทรงกระตุ้นให้เรียนต่อเสมอๆ เพราะทรงอยากเห็นเขามีความก้าวหน้าในชีวิตมากขึ้น
"ส่วนตัวผม การได้ไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศเป็นโอกาสที่ดี ได้มองเห็นโลกภายนอก จุดประกายให้มีความสนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้น จากที่ตั้งใจจะเป็นนักวิจัยตั้งแต่ต้น พอมาร่วมการแข่งขันก็ทำให้อยากเป็นมากขึ้นไปอีก และเพื่อสนองพระกรุณาธิคุณ ผมตอนนี้ก็คงจะช่วยเป็นอีกหนึ่งมือเล็กๆ ในการพัฒนาประเทศ เช่น การทำงานวิจัยด้านเคมีทฤษฎีที่ทำอยู่ให้มีความก้าวหน้า" ดร.ยุทธนากล่าว
เช่นเดียวกับนายปฐมพล แสงอุไร นักศึกษาชั้นปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้แทนคอมพิวเตอร์โอลิมปิกวิชาการปี พ.ศ.2548 เผยถึงความทรงจำว่าประทับที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระพี่นางเธอฯ ถึง 2 ครั้งเนื่องในโอกาสที่ได้เป็นผู้แทนแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติว่า พระองค์ตรัสให้กำลังใจว่า ให้มีความตั้งใจและพยายาม
อีกทั้งทรงมีพระดำรัสต่อไปว่าอยากให้ประเทศไทยมีนักวิจัยเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาประเทศ ซึ่งจากการเข้าเฝ้าฯ ทำให้มีความตั้งใจในการเรียนมากขึ้นตามที่ทรงต้องการ
ขณะที่นายรักพงษ์ กิตตินราดร นักศึกษาปี 3 สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตผู้แทนไทยเข้าแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกวิชาการปี พ.ศ.2546 และคว้าเหรียญเงินมาครองได้ ซึ่งมีโอกาสได้รับพระเมตตาและทรงมีพระปฏิสันฐานด้วยในโอกาสเข้าเฝ้าฯ เปิดเผยว่า รู้สึกตกใจเมื่อได้ทราบข่าว แม้จะได้เตรียมใจรับมาบ้างแล้ว เนื่องจากได้ติดตามข่าวพระอาการอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี นายรักพงษ์ กล่าวว่า ตัวเองในฐานะผู้แทนเยาวชนที่ได้รับพระเมตตาจากพระองค์ซึ่งเป็นองค์ประธานมูลนิธิ สอวน.ก็อยากขอแสดงความเสียใจที่เราได้สูญเสียบุคคลสำคัญคนหนึ่งของประเทศไป โดยพระองค์ทรงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเยาวชนที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เข้าถึงเนื้อหาวิชาที่เข้มข้น เป็นการเปิดโอกาสการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มนี้
ในเวลาเดียวกัน พระองค์ยังทรงผลักดันมูลนิธิ สอวน.ให้เกิดประโยชน์แก่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนทุกๆ ภูมิภาคทั่วประเทศด้วย ซึ่งหากเป็นไปได้แล้วก็อยากร้องขอให้ทางมูลนิธิฯ ยังคงดำเนินการสืบต่อไปเช่นกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เยาวชนรุ่นหลังที่ตามๆ มาด้วย
"ในฐานะที่พวกผมได้รับโอกาสนี้มาจากพระองค์ ได้รับโอกาสที่ได้เรียนรู้พัฒนาตัวเองจนเป็นผู้มีความสามารถก็จะนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติมากที่สุด ก็จะทำอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ เพื่อสนองพระกรุณาธิคุณในพระองค์ท่าน และทำเพื่อประเทศชาติ ซึ่งวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด" ตัวแทนไทย ผู้ได้รับคำแนะนำจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ให้รู้จักการค้นคว้าอย่างถ้วนทั่วทั้งตำราไทยและตำราเทศกล่าวย้ำ