xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเจ้าภาพประชุมหวัดนก-นักวิจัยดัตช์มุ่งทำวัคซีนให้พอใช้ทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.โรเบิร์ต จี เวบสเตอร์
นักวิจัยทั่วโลกกว่า 500 ชีวิต เข้าร่วมประชุมไข้หวัดนกวันแรกคึกคัก รมว.วิทย์ หวังนักวิจัยไทยได้ความรู้ใหม่ทุกหน่วยงานในประเทศร่วมมือต้านไข้หวัดนก ต่างชาติยินดีร่วมงานวิจัย ส่วนนักวิทย์ที่พบเชื้อหวัดนกในคนกำลังเร่งวิจัยวัคซีนให้ได้ผลและมีพอสำหรับทุกคน บ้างก็ศึกษาการแพร่กระจายของเชื้อโดยนกอพยพ

ศูนย์พันธุวิศวกรรมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาและเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนกว่า 20 หน่วยงานจัดการประชุมนานาชาติด้านไข้หวัดนกประจำปี 2551 ในชื่องาน Bangkok International Conference on Avian Influenza 2008: Integration from Knowledge to Control ระหว่างวันที่ 23 – 25 ม.ค. ณ โรงแรมดุสิต ธานี โดยมีศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และมีนักวิจัยกว่า 500 คน จาก 40 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม

ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า โรคไข้หวัดนกถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งระบาดในสัตว์ปีกเมื่อไม่กี่ปีมานี้ และเชื้อมีการกลายพันธุ์จนสามารถแพร่จากสัตว์สู่คนได้แล้ว และไม่แน่ว่าอาจกลายพันธุ์อีกจนสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ แต่อย่างไรก็ดี การที่เชื้อจะแพร่จากคนสู่คนได้นั้นยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมอีกหลายจุด อาจะถึง 10 จุด และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี ทว่าเชื้อไวรัสก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เร็วพอสมควร ฉะนั้นเราจึงประมาทไม่ได้

“การระบาดของเชื้อไข้หวัดนกไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่ยังกระทบถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น การตลาด การท่องเที่ยว และเราก็ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ดีนัก ดังนั้นเราจึงต้องมาคุยกันถึงโรคอุบัติใหม่นี้ว่าอะไรเป็นจุดสำคัญให้เชื้อเกิดการเปลี่ยนจนแพร่เข้าสู่คนได้ เพื่อที่จะหาทางยับยั้งไม่ให้เข้ามาระบาดในหมู่คน หาวิธีผลิตวัคซีนป้องกันโรคในคน พัฒนาระบบเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

รมว.กระทรวงวิทย์ยังกล่าวต่อว่า ประเทศไทยจะได้ความรู้ใหม่ด้านไข้หวัดนกมากขึ้นจากการประชุมร่วมกับนานาชาติครั้งนี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สามารถนำไปต่อยอดเพื่อสู้รบกับเชื้อไข้หวัดนกได้ต่อไป และอาจนำไปสู่ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศและความร่วมมือด้านงานวิจัยและเทคโนโลยีระหว่างประเทศด้วย

สำหรับไฮไลต์ของงานในวันนี้เป็นการบรรยายในหัวข้อการศึกษาการติดเชื้อไข้หวัดนกในนกป่า นกอพยพ และพยาธิวิทยาของไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนก โดย ศ.โรเบิร์ต จี เวบสเตอร์ (Robert G. Webster) ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา โรงพยาบาลวิจัยในเด็กเซนต์จูด (St. Jude Children’s Research Hospital) สหรัฐฯ และการบรรยายพิเศษของ ศ.อัลเบิร์ต ดี เอ็ม อี ออสเตอร์ เฮาส์ (Albert D.M.E. Osterhaus) จากศูนย์วิจัยทางการแพทย์อีรามุส (Erasmus Medical Center) ประเทศเนเธอแลนด์ ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเชื้อไวรัสเอช5เอ็น1 (H5N1) ในมนุษย์ครั้งแรกเมื่อปี 2540 ที่ประเทศฮ่องกง

รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รอง ผอ.ไบโอเทค กล่าวว่า ศ.เวบสเตอร์ เน้นศึกษาด้านการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อไข้หวัดนกโดยนกอพยพ ซึ่งเมื่อก่อนไม่ค่อยมีใครสนใจศึกษานกอพยพมากนัก ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์จึงยังขาดความรู้ในด้านนี้และยังต้องศึกษาอีกมาก

“ศ.เวบสเตอร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเชื้อไข้หวัดนกถึงยังไม่แพร่เข้าสู่ทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งจากการศึกษาเขาก็พบว่านกอพยพจากเอเชียมีการนำพาเชื้อไข้หวัดนกเข้าไปสู่อลาสกาเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งก็ต้องศึกษาต่อไปว่ามีกลไกอย่างไร และในอนาคตนกเหล่านี้อาจจะนำเชื้อไข้หวัดนกเข้าสู่อเมริกาเหนือก็เป็นได้ นอกจากนี้ประชาชนทีเดินทางหรือขนย้ายสัตว์ปีกข้ามแดนก็อาจมีส่วนทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้เหมือนกัน” รศ.นพ.ประสิทธิ์ อธิบาย

รศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังกล่าวต่อถึงหัวข้อที่ ศ.เฮาส์ บรรยายว่า ทีมวิจัยของ ศ.เฮาส์ กำลังศึกษาวัคซีนป้องกันเชื้อไข้หวัดนกในคนอยู่ ซึ่งมีประเด็นอยู่ที่ว่าวัคซีนที่ผลิตได้อาจไม่เพียงพอต่อประชากรทั่วโลกกว่า 6 พันล้านคน และต้องใช้เวลาผลิตนานพอสมควร

“ศ.เฮาส์ ทดลองใช้สารแอดจูแวนท์ (adjuvant) ร่วมกับวัคซีน พบว่าช่วยลดปริมาณการวัคซีนได้ถึง 1 ใน 4 ส่วนโดยที่วัคซีนยังให้ผลดีดังเดิม นั่นหมายความว่า ปริมาณวัคซีนที่เคยใช้ได้เพียง 1 คน ก็จะสามารถใช้ได้ถึง 4 คน แต่อย่างไรก็ดี แอดจูแวนท์เป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ใช้ ซึ่ง ศ.เฮาส์ ก็คิดว่าคงไม่นำมาใช้ในวัคซีนของคน จึงต้องวิจัยต่อไปอีกว่าควรทำอย่างไรให้ได้วัคซีนปริมาณเพียงพอและสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี” รศ.นพ.ประสิทธิ์ เผย

รอง ผอ.ไบโอเทค ยังกล่าวต่อว่า มีวัคซีนบางชนิดที่ผลิตและใช้ในต่างประเทศแล้วแต่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยควรเตรียมแนวทางและกระบวนการสำหรับการขออนุญาตให้ใช้วัคซีนในประเทศไทยได้ เพราะไม่แน่ว่าต่อไปอาจจำเป็นต้องใช้ เช่น กรณีของไข้หวัดนก ซึ่งหากเกิดการระบาดขึ้นจริงๆ แล้วจึงค่อยมีการขออนุญาตใช้ อาจไม่ทันการ เพราะไม่ใช่ว่าขออนุญาตแล้วจะใช้ได้ทันทีทันใด ยังต้องมีกระบวนการตรวจสอบอีกมากมาย อย่างไรก็ดี ในเร็วๆ นี้จะมีการหารือร่วมกันภายในประเทศอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็กำลังดำเนินการเรื่องมาตรการนี้อยู่
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์
ศ.อัลเบิร์ต ดี เอ็ม อี ออสเตอร์ เฮาส์
รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์
กำลังโหลดความคิดเห็น