ทิ้งทวน ครม.วาระสุดท้าย ขิงแก่อนุมัติยุทธศาสตร์แก้โลกร้อน พร้อมอนุมัติใช้ภาพถ่ายดาวเทียมทำทางเดินของสัตว์ระหว่างเขตอนุรักษ์ ป้องกันคนเข้าคุกคาม ด้านรักษาการ รมว.นักวิทย์ ชี้จะช่วยให้สัตว์พัฒนาสายพันธุ์ที่ดีขึ้น เนื่องจากลดการผสมพันธุ์กันเองในวงจำกัด
ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ม.ค.51 ณ ทำเนียบรัฐบาล นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาโลกร้อนแล้ว เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยต้องรับมือให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีชื่อเต็มว่า "ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" มีระยะดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ.2551 -2555) นำเสนอที่ประชุม ครม.โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลักคือ 1. การสร้างความสามารถในการปรับตัวและลดความล่อแหลมต่อผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ 2.การสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน
3.การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4.การสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 5.การเพิ่มศักยภาพของบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 6.การพัฒนาการดำเนินงานในกรอบความร่วมมือกับต่างประเทศ
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รักษาการ รมว.ทส.กล่าวด้วยว่า ทส.ยังได้รับอนุมัติแผนการจัดทำแนวเส้นทางการเดินของสัตว์ป่าในแหล่งที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคาม โดยใช้ดาวเทียมกำหนดพิกัดกันแนวพื้นที่ทางเดินของสัตว์ป่าไว้ 2 -3 กม.จากชุมชน ไม่ให้คนรุกล้ำเข้าไปได้ โดยจะอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที
เบื้องต้น แผนดังกล่าวจะนำร่องในเขตป่าอนุรักษ์แนวตะวันตก เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร -ห้วยขาแข้ง ตลอดจนถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำพาชี จ.ราชบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จ.ลพบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา
ศ.ดร.ยงยุทธ ชี้แจงก่อนหน้านี้ด้วยว่า การจัดทำแผนดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่านานาชนิดด้วย เนื่องจากสัตว์ป่าในเขตอนุรักษ์ต่างๆ จะสามารถไปมาหาสู่และผสมพันธุ์กันในกลุ่มสัตว์ที่กว้างขวางขึ้น มีการพัฒนาสายพันธุ์สัตว์ป่าดีขึ้น และลดการผสมพันธุ์กันของกลุ่มสัตว์ในวงจำกัด ซึ่งจะส่งผลต่อการเสื่อมถอยของคุณภาพสายพันธุ์สัตว์ป่าในที่สุด