หวัดใหญ่-หวัดนก กลายพันธุ์ตลอด แถมมีแค่วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ส่วนหวัดนกยังไม่เป็นผล แม้ยังไม่ระบาดในคน แต่ไทยก็นิ่งเฉยไม่ได้ วัคซีนและข้อมูลพันธุกรรมเป็นสิ่งสำคัญ ต้องเตรียมพร้อมศึกษาและพัฒนาควบคู่กันไป เผื่อวันใดมีเชื้อหวัดพันธุ์ใหม่ออกอาละวาดจะได้มีอาวุธพร้อมรบ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยระหว่างการประชุมนานาชาติด้านไข้หวัดนกประจำปี 2551(Bangkok International Conference on Avian Influenza 2008: Integration from Knowledge to Control) ที่โรงแรมดุสิต ธานี เมื่อวันที่ 23 ม.ค.51 ที่ผ่านมาว่า การป้องกันไข้หวัดนกระบาดที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยวัคซีนเป็นสำคัญร่วมกับมาตรการอื่นๆ ที่ใช้ควบคุมการระบาด
ทว่าตอนนี้ก็ยังไม่มีการผลิตวัคซีนในคนขึ้นมาใช้แต่อย่างใด และวัคซีนยังเป็นเรื่องที่อ่อนไหวอย่างยิ่งในสังคม แต่อย่างไรก็ควรศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมเอาไว้ก่อน
“วิธีป้องกันที่ดีคือควรฉีดวัคซีนไว้ก่อน 1 เข็ม เมื่อมีการระบาดเกิดขึ้นก็ฉีดอีกเข็มหนึ่งกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น หากผลิตวัคซีนเพื่อเก็บไว้รอใช้ตอนระบาดเท่านั้นคงเป็นไปได้ยาก เพราะต้องลงทุนมาก และไม่รู้ว่าโรคนี้จะระบาดในคนเมื่อไหร่ แต่วัคซีนเก็บไว้ได้เพียง 1 ปี เท่านั้น ส่วนเชื้อไวรัสก็มีการปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่ตลอดเวลา วัคซีนที่ผลิตได้ในปีนี้อาจไม่ได้ในปีต่อๆ ไป” ศ.นพ.ยงเปิดเผย
นพ.ยง กล่าวถึงกรณีของไข้หวัดใหญ่ว่าที่ต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันทุกปี เพราะเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ไปจากเดิม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะศึกษาการกลายพันธุ์ของเชื้อในปีที่ผ่านๆ มา และทำนายว่าครั้งต่อไปเชื้อจะกลายพันธุ์ไปเป็นลักษณะไหน เพื่อเตรียมผลิตวัคซีน ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน ในปีต่อไปก็ต้องทำเช่นเดียวกัน และจากการศึกษาการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ในช่วงปี 2549-2550 ก็พบว่ามีความใกล้เคียงกับวัคซีนมากเช่นกัน
นพ.ยง กล่าวต่อว่า เมื่อเชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอด การศึกษาพันธุกรรมของเชื้อจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเขาก็ศึกษาและถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลได้ราว 300–400 สายพันธุ์แล้ว
“เราจำเป็นต้องเก็บข้อมูลทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไว้ เผื่อว่าในอนาคตมีเชื้อไข้หวัดพันธุ์ใหม่ระบาดขึ้น ข้อมูลตรงนี้จะช่วยให้เรารู้ว่ามันเอายีนส่วนไหนจากไวรัสพันธุ์ใดมาพัฒนาเป็นเชื้อพันธุ์พันธุ์ใหม่บ้าง และหาทางควบคุมได้ง่ายขึ้น ซึ่งนับเป็นการเฝ้าระวังวิธีหนึ่ง” นพ.ยืน กล่าว นอกจากนี้เขายังพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยเช่นกัน
นพ.ยงกล่าวเสริมว่า การผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดนกจะต้องใช้ไข่ไก่เพื่อทำให้ติดเชื้อแล้วสกัดเอาเชื้อไวรัสจากส่วนที่เป็นไข่ขาวออกมาทำเป็นวัคซีน ทว่าไข่ที่ใช้จะต้องเป็นไข่ที่จะฟักเป็นตัว ต้องเป็นไข่ปลอดเชื้อและต้องมาจากแม่พันธุ์ปลอดเชื้อที่ถูกเลี้ยงเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ซึ่งไข่ชนิดนี้ไม่ใช่ไข่ไก่ที่ใช้บริโภคกันทั่วไปซึ่งคนส่วนใหญ่มักคิดเช่นนั้น และยังมีราคาแพงถึงฟองละ 200-300 บาท
“การสร้างโรงงานผลิตวัคซีนในตอนแรกอาจจะยังไม่ได้กำไรหรือบางทีอาจจะขาดทุนด้วยซ้ำ ซึ่งเราก็ต้องยอม แต่สิ่งที่เราจะได้จากตรงนั้นคือองค์ความรู้และการพัฒนาศักยภาพของบุคคลากร ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยก็เริ่มสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แห่งแรกแล้ว ซึ่งโรงงานยังต้องมีความพร้อมสามารถเปลี่ยนไปผลิตวัคซีนไข้หวัดนกได้ทันทีหากมีการระบาดเกิดขึ้น"
"อย่างไรก็ดี วัคซีนยังเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อคน ซึ่งสัตว์บางตัวที่ได้รับวัคซีนแล้วอาจเสียชีวิตบ้างตัวหรือสองตัว ขณะที่อีกหลายหมื่นตัวไม่เป็นอะไร คนก็อาจไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ทว่าหากเกิดกรณีเช่นนี้กับคนคงไม่เหมือนกันแน่ ดังนั้นจึงต้องพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ในประเทศด้วยว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน” นพ.ยง กล่าว