ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการสถานบริการทุกแห่งใน จ.นครสวรรค์ และใกล้เคียง เฝ้าระวังผู้ป่วยทุกวัน หลังพบไก่ติดเชื้อไข้หวัดนกที่ อ.ชุมแสง ขณะนี้มี 13 คน ทุกคนยังสบายดี โดยได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ทั่วประเทศกว่า 2 ล้านเม็ด โรงพยาบาลทุกแห่งมีใช้ครบถ้วน หากพบผู้ป่วยมีไข้ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย ให้กินยาต้านทันที ซึ่งยาให้ผลดีมากภายใน 48 ชั่วโมง
วันที่ 25 ม.ค. นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลชุมแสง และฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ ต.พิกุล อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดไข้หวัดนกในสัตว์รอบที่ 6
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในระบบการดูแลรักษา หากพบการติดเชื้อในคน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สร้างห้องแยกปลอดเชื้อมาตรฐาน สำหรับดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งวัณโรค ครบทุกแห่ง โดยที่โรงพยาบาลชุมแสง มีห้องแยกผู้ป่วย 2 ห้อง
ทั้งนี้ ในการดูแลรักษาผู้ป่วย หรือผู้สงสัยติดเชื้อหวัดนก กระทรวงสาธารณสุขได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ 2 ล้าน 4 แสนเม็ด จัดส่งให้โรงพยาบาลทุกแห่งๆ ละ 100-200 เม็ด หากพบผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก สงสัยติดเชื้อหวัดนกจะให้กินยาต้านไวรัสทันที ติดต่อกัน 5 วัน และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น ซึ่งให้ผลดีมากใน 48 ชั่วโมง ลดการเสียชีวิตอย่างได้ผล ยาดังกล่าวไม่มีขายในร้านขายยา พร้อมทั้งเก็บเสมหะในลำคอผู้ป่วยส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมี 14 แห่งทั่วประเทศ ทราบผลภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยทุกตัวอย่างจะนำมาตรวจยืนยันผล และถอดรหัสพันธุกรรมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไข้หวัดนก
สำหรับความคืบหน้าผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง 13 คน เจ้าหน้าที่ได้ติดตามอาการใกล้ชิดทุกวัน ยังไม่พบรายใดมีไข้ จะเฝ้าระวังต่อจนครบ 14 วัน ขณะเดียวกันได้สั่งการให้สถานบริการทุกแห่งใน จ.นครสวรรค์ รวมทั้งใกล้เคียง เช่น จ.พิจิตร เฝ้าระวังสัตว์ปีกและการป่วยในคน รายงานมิสเตอร์ไข้หวัดนกที่มีทุกจังหวัดทุกวัน แม้ว่าจะไม่พบความผิดปกติใดๆ ก็ตาม
ทางด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดไข้หวัดนกของนครสวรรค์ เน้นหนัก 5 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังการป่วยในสัตว์ปีกและคนทุกหมู่บ้านโดย อสม.อย่างเข้มข้น และให้ความรู้/เตือนให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการชำแหละสัตว์ปีกที่ป่วยตายอย่างผิดปกติ รวมทั้งพื้นที่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ซึ่งเป็นรอยต่อ 2.การตรวจและทำลายสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ เพื่อทำลายแหล่งรังโรคโดยเร็วที่สุด จำกัดวงแพร่ระบาด 3.ให้สถานพยาบาลทุกระดับค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ เน้นที่ผู้ป่วยโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ให้ดูแลใกล้ชิด และซักประวัติการสัมผัสกับสัตว์ปีกทุกรายเพื่อดูว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้หวัดนกหรือไม่ 4.ติดตามเฝ้าระวังการป่วยผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ปีก เพื่อให้การรักษาอย่างรวดเร็ว และ 5.พ่นฉีดยาฆ่าเชื้อแหล่งที่พบการติดเชื้อสัตว์ปีก ทั้งหมดนี้ดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ
สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดนกตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 จนถึงวันที่ 23 มกราคม 2551 ทั่วโลกมีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก รวม 352 ราย เสียชีวิต 219 ราย ใน 14 ประเทศ คือ อาเซอร์ไบจัน กัมพูชา จีน จิบูตี อียิปต์ อินโดนีเซีย อิรัก ลาว ตุรกี เวียดนาม ไนจีเรีย เมียนมาร์ ปากีสถาน และไทย ซึ่งมีผู้ป่วย 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย รายล่าสุดพบเมื่อ 10 สิงหาคม 2549 จนถึงขณะนี้ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่