xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ทำประชาพิจารณ์ไข้หวัดใหญ่ ปรับสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อเสนอ ครม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ประชาพิจารณ์แผนแม่บทเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ก่อนปรับปรุงเป็นแผนปฏิบัติงานแม่บทฉบับสมบูรณ์ เสนอความเห็นชอบ ครม.

วันนี้ (4 ก.ค.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดการประชุมการประชาพิจารณ์แผนปฏิบัติการแม่บทการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับหน่วยงานในคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติงานแม่บทขึ้นซึ่งให้แนวทาง และรายละเอียดที่จำเป็นเพิ่มเติม โดยแผนแม่บทดังกล่าว มีเนื้อหา 3 ส่วน คือ 1.ความเป็นมาและการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทยที่ผ่านมา 2.ระบบการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งได้เน้นการดำเนินงานแบบบูรณาการ และได้เสนอเป็นนโยบายและแผนการเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติแห่งชาติ 3.แนวทางการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรองรับกับสถานการณ์การระบาดที่มีความรุนแรงระดับต่างๆ ในการจัดทำแผนปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน จะสามารถอ้างอิงทั้งในแง่การดำเนินงาน และงบประมาณจากแผนแม่บทฉบับนี้ได้

นพ.ไพจิตร์ กล่าวด้วยว่า แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นกรอบการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้ทุกหน่วยงานทำแผนปฏิบัติงาน การจัดหางบประมาณเพื่อการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ จะมีการนำเสนอแผนปฏิบัติงานแม่บทให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน จำนวน 300 คน ได้รับทราบและให้ความเห็น เสนอแนะเพิ่มเติมในลักษณะประชาพิจารณ์ก่อนปรับปรุงเป็นแผนปฏิบัติงานแม่บทฉบับสมบูรณ์ ซึ่งจะนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และเผยแพร่แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต่อไป

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในสัตว์ปีกซึ่งติดต่อมาสู่คนได้ โดยเริ่มพบการระบาดครั้งแรกในฮ่องกงเมื่อ พ.ศ.2540 และแพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ถึง วันที่ 19 มิถุนายน 2551 มีรายงานการระบาดในสัตว์ปีกแล้ว 61 ประเทศ และ มีผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนกทั่วโลก 385 ราย เสียชีวิต 243 ราย ใน 15 ประเทศ คือ ประเทศอาเซอร์ไบจัน กัมพูชา จีน สาธารณรัฐจิบูตี อียิปต์ อินโดนิเชีย อิรัก ลาว พม่า ไนจีเรีย ปากีสถาน ไทย ตุรกี เวียดนาม บังกลาเทศ

นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยมีโรคหวัดนกแพร่ระบาดในสัตว์ปีกตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 และในระหว่างปี พ.ศ.2547-2549 มีผู้ติดเชื้อและป่วยรวม 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย ในปี 2550 และปี 2551 ไม่พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดนก ซึ่งเป็นผลมาจากการป้องกันและควบคุมโรคในสัตว์และในคนเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังให้ความสำคัญต่อการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดนก และการเตรียมความพร้อมต่อการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนก โดยถือว่าปัญหาและความเสี่ยงดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ เนื่องจากมีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อประเทศ รัฐบาลจึงได้จัดทำแผนยุทธ์ศาสตร์ของประทศเพื่อรับมือกับโรคดังกล่าว

ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ป้องกัน แก้ไข และเตรียมความพร้อมรับปัญหาโรคไข้หวัดนก และ การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่มีมาแล้ว 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2548-2550) ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2551-2553) โดยฉบับที่ 2 ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 ประกอบด้วยยุทธ์ศาสตร์หลัก 4 ยุทธ์ศาสตร์ ได้แก่ 1.การจัดระบบการผลิต และเลี้ยงสัตว์ปีก 2.การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคทั้งในสัตว์ และคน 3.การเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ 4.ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ประชาชน ภาคธุรกิจ และนานาประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น