สธ.สั่งเฝ้าระวังติดเชื้อไข้หวัดนกในคนใกล้ชิด หลังพบไก่ติดเชื้อตายที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ อ.ชุมแสง นครสวรรค์ เผยผลการค้นหาของทีมสอบสวนโรค เบื้องต้นยังไม่พบผู้สัมผัสไก่ป่วย แต่ต้องเฝ้าระวังเข้ม 14 วัน เตือนประชาชนเข้าช่วงตรุษจีน บริโภคไก่และไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้นระบุหวัดนกกลับมาได้ตลอด เหตุกลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว
นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีการตรวจพบไก่เนื้อ ที่เลี้ยงในฟาร์มเลี้ยงไก่ศรีไพรฟาร์ม ตั้งอยู่เลขที่ 30/2 หมู่ 3 ตำบลพิกุล ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ติดเชื้อไข้หวัดนก เอช 5 เอ็น 1 หลังมีไก่เนื้อป่วยตายผิดปกติ ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2551 นั้น ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว สำนักงานควบคุมโรคเขต 8 และสำนักงานสาธารณสุข จ.นครสวรรค์ ได้ลงไปในพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และค้นหาผู้สัมผัสไก่ในฟาร์มทุกคนแล้ว ซึ่งมีพนักงานทั้งประจำและชั่วคราวที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวม 10 คน เบื้องต้นยังไม่พบผู้สัมผัสไก่ในฟาร์มมีอาการป่วยแต่อย่างใด รวมทั้งมีการสอบสวนไปถึงโรงงานที่รับไก่ไปเชือด ขณะนี้ทราบว่ามีเพียง 1 โรงงาน และยังไม่พบผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ได้เฝ้าระวังบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ จะต้องเข้ากระบวนการเฝ้าระวังทันที
นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่อำเภอดังกล่าวไม่เคยมีโรคไข้หวัดนกระบาดมาก่อน มีแต่พื้นที่ใกล้เคียง คือ อ.บรรพตพิสัย เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว แต่เนื่องจากไข้หวัดนกถือเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย จึงสามารถเกิดการระบาดขึ้นได้ เบื้องต้น ทราบว่า ฟาร์มดังกล่าวมีลักษณะฟาร์มกึ่งปิด การติดเชื้ออาจเกิดได้หลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงของการระบาดครั้งนี้ ต้องเป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ ที่จะสอบสวนต่อไป นอกจากนี้ สำหรับโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดนครสวรรค์และพื้นที่ใกล้เคียง มีการสั่งการให้แพทย์ พยาบาล ตรวจสอบประวัติผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ หรือมีปัญหาปอดอักเสบ ปอดบวมโดยละเอียด ให้ซักถามประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก หรืออยู่ในพื้นที่มีสัตว์ปีกป่วยตายทุกราย เพื่อให้การดูแลรักษาได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยทั้งยาต้านไวรัสและห้องแยกปลอดเชื้อ
“ขณะนี้แม้เชื้อจะยังไม่กลายพันธุ์ และไม่ติดต่อจากคนสู่คน แต่ต้องระวังอย่างเต็มที่ไม่ให้มีการติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยทีมเฝ้าระวังจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.เฝ้าติดตามอาการผู้สัมผัสอย่างใกล้ชิดทุกวัน รวมทั้งคนในชุมชนรอบข้าง เป็นเวลา 14 วัน หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามข้อ กล้ามเนื้อ และร่างกาย ไอแห้งๆ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ตาแดง หรือบวม จะส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลทันที และทำตามขั้นตอนคือ ให้ยาต้านไวรัส พิสูจน์โรค และอยู่ในห้องแยกเชื้อ” นพ.ธวัช กล่าว
นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า สำหรับในช่วงเดือนนี้ กำลังเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน ซึ่งประชาชนที่ต้องซื้อเป็ดไก่ ควรสังเกตสัญลักษณ์สติ๊กเกอร์ของกรมปศุสัตว์ หรือหากซื้อตามตลาดสด ควรเลือกซื้อ ไก่ที่มีสีขาวอมเหลืองทั่วทั้งตัว หากมีจุดคล้ำ หรือจ้ำๆ โดยเฉพาะส่วนหัว หงอน และรอบคอ แสดงว่าไก่อาจเป็นเป็นโรค หรืออาจติดเชื้อหวัดนก ส่วนการรับประทาน ประชาชนควรปรุงอาหารให้สุก ทั้งส่วนเนื้อ และไข่ เพราะความร้อนสามารถฆ่าเชื้อหวัดนกได้
“เนื้อไก่และไข่ไก่ที่มีขายตามท้องตลาดขณะนี้ถือว่าปลอดภัย สามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่ต้องทำให้สุก งดรับประทานอาหารที่ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ ขอย้ำเตือนประชาชน หากมีสัตว์ปีกป่วยหรือตาย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรืออสม.ทันที ห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายผิดปกติ มารับประทานอย่างเด็ดขาด อย่าโยนสัตว์ตายลงแม่น้ำ เพื่อร่วมกันควบคุมป้องกันการระบาดของโรคให้สงบโดยเร็วที่สุด ที่สำคัญเด็กคือคนที่ได้รับเชื้อง่ายที่สุด ระวังอย่าให้เด็กเล่นคลุกคลีกับสัตว์ปีกหรือขนของมัน เพราะอาจมีเชื้อไวรัสติดอยู่”นพ.ธวัช กล่าว
นพ.ธวัช กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ เนื่องจากคนสามารถติดเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดนกจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อหรือตาย โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับมูลสัตว์ ปัสสาวะ น้ำมูก น้ำลาย ขน อวัยวะต่างๆ หรือเลือดของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ โดยเชื้อไวรัสจะติดที่มือ สามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ทางปาก จมูก และตา ดังนั้นต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด โดยการสวมถุงมือ หมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ด้วยสบู่ ทั้งก่อนทานอาหาร หลังไอจาม และหลังเข้าห้องน้ำ ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม