ใครๆ ต่างก็หลงใหลในกลิ่นและรสชาติของ "ช็อคโกแลต" ขนมหวานอมตะนิรันด์กาล ที่ทำให้ผู้ประกอบการกวาดเงินเข้ากระเป๋าจนตุงทุกเทศกาลเฉลิมฉลอง แต่ใช่ว่าต้น "โกโก้" อันเป็นที่มาของช็อคโกแลตนั้นจะปลูกแล้วให้ผลง่ายดาย เอกชนผู้ผลิตช็อคโกแลตรายใหญ่เลยจับมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ผุดโครงการ "ถอดรหัสพันธุกรรมช็อคโกแลต" หวังช่วยพัฒนาคุณภาพผลผลิตโกโก้ให้กับเกษตรกรในแอฟริกา
มาร์ส อิงค์ (Mars Inc.) เอกชนรายใหญ่ของโลก ผู้ผลิตช็อคโกแลต "เอ็ม แอนด์ เอ็ม" (M&M) ผุดโครงการ "ช็อคโกแลตจีโนมโปรเจคต์" (Chocolate Genome Project) หรือการถอดรหัสพันธุกรรมของต้นโกโก้ (cocoa) อันเป็นวัตถุดิบในการผลิตช็อคโกแลต ขนมหวานที่คนทั่วโลกชื่นชอบ ซึ่งสำนักข่าวเอพีรายงานว่ากระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (US Department of Agriculture: USDA) จะเป็นผู้ดำเนินการวิจัย และร่วมกับไอบีเอ็ม (IBM) ในการจัดทำฐานข้อมูลและแผนที่จีโนม โดยมาร์สสาขาในมลรัฐเวอร์จิเนียเป็นผู้สนับสนุนทุนวิจัยในครั้งนี้จำนวน 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 335 ล้านบาท)
โครงการถอดรหัสพันธุกรรมต้นโกโก้นี้คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินประมาณ 5 ปี จึงจะเสร็จสมบูรณ์และพร้อมเผยแพร่ข้อมูลต่อไป ซึ่งนักวิจัยจะต้องถอดรหัสจีโนมของโกโก้มากกว่า 400 ล้านยีน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาสายพันธุ์โกโก้ให้มีความต้านทานโรค แมลงศัตรูพืช และความแห้งแล้งอันเกิดจากภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพของผลผลิตให้ดีขึ้น
"หากเรามีข้อมูลจีโนมทั้งหมดของต้นโกโก้ เราก็สามารถศึกษายีนใดที่เราสนใจก็ได้ที่จะช่วยให้เราพัฒนาสายพันธุโกโก้ได้ ส่วนผู้ประกอบการช็อคโกแลตก็อาจจะให้ความสนใจกับยีนที่เกี่ยวกับกลิ่นและรสชาติของช็อคโกแลตเป็นพิเศษ" เรย์ ชเนล (Ray Schnell) นักพันธุศาสตร์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ กล่าว ซึ่งอันที่จริงแล้วในสหรัฐฯ ไม่ได้ปลูกโกโก้เลยแม้แต่น้อย แต่ที่สนใจศึกษาพืชชนิดนี้เนื่องจากว่าในสหรัฐฯ มีอุตสาหกรรมผลิตวัตถุดิบสำคัญในการผลิตช็อคโกแลตเป็นจำนวนมาก เช่น ลูกเกด และแอลมอนด์ เป็นต้น
ด้านโฮเวิร์ด-ยานา ชาพิโร (Howard-Yana Shapiro) ผู้อำนวยการฝ่ายพืชศาสตร์ของมาร์ส เผยว่าโครงการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ทั่วโลก ซึ่ง 70% อยู่ในทวีฟแอฟริกา
ทั้งนี้ โกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปีละประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 23,450 ล้านบาท) ทว่าก็เป็นพืชที่มีโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวนมากมาย และทำให้ผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งโรคที่เกี่ยวกับเชื้อราจะเป็นตัวกำหนดราคาของโกโก้
ชาพิโร ยังบอกอีกว่าหากโครงการนี้เสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะเผยแพร่ข้อมูลการวิจัยทั้งหมดให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งรวมไปถึงบริษัทที่เป็นคู่แข่งทางการค้าด้วย และจะไม่มีการจดสิทธิบัตรข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจุดประสงค์หลักของโครงการนี้คือหาวิธีต่อสู้กับโรคและแมลงที่ทำให้ผลผลิตโกโก้เสียหาย และเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรเป็นหลัก ซึ่งจะทำเกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้นจากผลผลิตโกโก้ที่มีคุณภาพดีขึ้น
อย่างไรก็ดี โครงการถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมของโกโก้อาจเป็นช่องทางนำไปสู่การดัดแปลงพันธุกรรมโกโก้และเกิดเป็นโกโก้จีเอ็มโอขึ้นมาได้ ซึ่งชาพิโรให้คำตอบกับบีบีซีนิวส์ว่า สุดท้ายแล้วข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการวิจัยจีโนมของโกโก้จะได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก ซึ่งเขาเองคงไม่สามารถจะไปควบคุมได้ว่าใครจะนำข้อมูลเหล่านั้นไปทำอะไรบ้าง