xs
xsm
sm
md
lg

สุดพิศวง! จีโนมชี้ "ตุ่นปากเป็ด" เป็นญาติกับคนเมื่อ 170 ล้านปีก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน้าตาของตุ่นปากเป็ด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสุดพิศวงที่มีลักษณะของสัตว์ปีกและสัตว์เลื้อยคลานร่วมอยู่ด้วย (AFP)
รูปร่างน่าตาเหมือนตัวตุ่น แต่มีปากที่เหมือนเป็ด เลยได้ชื่อว่า "ตุ่นปากเป็ด" ทว่าเจ้าสัตว์น่ารักน่าชังตัวนี้ยังสามารถสร้างน้ำนมได้ ออกลูกเป็นไข่เหมือนสัตว์ปีกกับสัตว์เลื้อยคลาน มีพิษเหมือนงู มีพังผืดที่เท้า และอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความพิศวงงงงวย ไม่รู้ว่าที่แท้เจ้าตุ่นปากเป็ดนี้จัดเป็นสัตว์ชนิดไหนกันแน่?

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากนานาประเทศกว่า 100 ชีวิต ทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอีกหลายชาติ ร่วมแรงระดมสมองถอดรหัสพันธุกรรมของ "ตุ่นปากเป็ด" (Platypus) และจัดทำเป็นแผนที่จีโนมเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งแกะรอยค้นหาวิวัฒนาการของสัตว์โลกสุดพิศวงตัวนี้ ที่จะช่วยไขปริศนาวิวัฒนาการของมนุษย์ได้อีกทางหนึ่ง โดยได้รายงานผลการศึกษาลงในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันที่ 8 พ.ค.51

ตัวเหมือนตุ่น ปากเหมือนเป็ด มีพังผืดที่เท้า ออกลูกเป็นไข่เหมือนสัตว์ปีกกับสัตว์เลื้อยคลาน มีพิษเหมือนงู และเลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนมนุษย์เรา เหล่านี้เป็นลักษณะที่รวมอยู่ในตุ่นปากเป็ดตัวเดียว

ด้วยความแปลกประหลาดดังกล่าวนี้นักวิทยาศาสตร์จึงต้องถอดรหัสพันธุกรรมของตุ่นปากเป็ดออกมาศึกษา เพื่อไขข้อข้องใจว่าสัตว์ชนิดนี้มีความเป็นมาอย่างไร โดยใช้ตัวอย่างดีเอ็นเอจากตุ่นปากเป็ดเพศเมียที่ชื่อว่า "เกรนนี" (Glennie) ซึ่งนักวิจัยก็พบว่า ลักษณะต่างๆ ที่แสดงออกมาล้วนเป็นผลมาจากดีเอ็นเอทั้งสิ้น

เจนนี เกรฟส์ (Jenny Graves) ผู้เชี่ยวชาญด้านจีโนมของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัย เปิดเผยต่อสำนักข่าวเอบีซี ของออสเตรเลีย (Australian Broadcasting Corp) และสำนักข่าวเอพีนำมารายงานต่อว่า ลำดับดีเอ็นเอของตุ่นปากเป็ดแสดงให้เห็นเด่นชัดเลยว่า ตุ่นปากเป็ดเป็นการผสมผสานลักษณะของสัตว์ประเภทต่างๆ เอาไว้มากมาย ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ปีก

ที่จริงตุ่นปากเป็ดถูกจัดไว้ในกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mamalia) และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ออร์นิธอรินคัส อะนาตินัส (Ornithorhynchus anatinus) ซึ่งเป็นสัตว์พื้นเมืองของออสเตรเลีย และมีเพียงสปีชีส์เดียวเท่านั้น ทว่ายังมีลักษณะของสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ปีกแฝงอยู่ นั่นคือ มีปากคล้ายเป็ด มีพังผืดที่เท้า และออกลูกเป็นไข่ จึงถูกจัดอยู่ในอันดับโมโนทรีมาตา (Monotremata) ซึ่งเป็นอันดับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นไข่ เช่นเดียวกับอีคิดนา (echidna) หรือตัวกินมดหนาม

ส่วนข้อมูลจากสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าจีโนมของตุ่นปากเป็ดประกอบด้วย 2.2 พันล้านคู่เบส ที่บรรจุยีนเอาไว้ 18,500 ยีน ผลจากการวิเคราะห์จีโนมของตุ่นปากเป็ด พบว่ามีโครโมโซมเพศถึง 10 คู่ ขณะที่มนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ มีโครโมโซมเพศเพียง 2 คู่เท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าตุ่นปากเป็ดเคยอยู่ในสายวิวัฒนาการที่มีบรรพบุรุษร่วมกันกับมนุษย์เรา ก่อนที่จะแยกสายออกไปเมื่อประมาณ 165-170 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มแรกๆ ที่แยกสายวิวัฒนาการออกไปจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มอื่นๆ ทำให้ตุ่นปากเป็ดยังคงพกพาเอาลักษณะของสัตว์ปีกและสัตว์เลื้อยคลานติดตัวออกไปด้วย

"เมื่อเปรียบเทียบจีโนมของตุ่นปากเป็ดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ จะเห็นได้ว่าในจีโนมของตุ่นปากเป็ดยังคงอนุรักษ์ยีนเอาไว้ตลอดการวิวัฒนาการ" คำอธิบายของริชาร์ด วิลสัน (Richard Wilson) จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Washington University) หนึ่งในทีมวิจัย

นอกจากนี้ ตุ่นปากเป็ดยังอยู่อาศัยได้ทั้งบนบกและในน้ำ เมื่อออกหาอาหารใต้น้ำประสาทสัมผัสทางตา หู และจมูกของมันจะทำงานโดยอาศัยการรับสัญญาณสนามไฟฟ้าที่เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อของเหยื่อ โดยมีตัวรับสัญญาณซ่อนอยู่บริเวณปาก และที่เท้าหลังของมันยังมีเดือยพิษที่คล้ายกับเขี้ยวพิษของงูของงูอีกด้วย

ทั้งนี้ ตุ่นปากเป็ดพบได้ทั่วไปทางตะวันออกของออสเตรเลีย อาหารตามธรรมชาติคือหนอน ตัวอ่อนแมลง และสัตว์จำพวกกุ้งฝอย ลำตัวมีขนาดยาวประมาณ 50 เซนติเมตร น้ำหนักราว 2 กิโลกรัม และมีอายุเฉลี่ยราว 17 ปี

"แรกเห็นลักษณะของตุ่นปากเป็ดก็อาจจะนึกว่านี่เป็นผลของวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ลักษณะที่แปลกประหลาดนี้กลับทำให้จีโนมของตุ่นปากเป็ดนั้นมีค่าจนอาจประเมินราคาไม่ได้เลย ถ้าหากว่ามันสามารถนำทางให้เราเข้าใจกระบวนขั้นของวิวัฒนาการสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเมื่อหลายล้านปีก่อนได้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร แยกออกจากสัตว์เลื้อยคลานเมื่อไหร่" ความเห็นของฟรานซิส เอส. โคลลินส์ (Francis S. Collins) ผอ.สถาบันวิจัยพันธุกรรมมนุษย์แห่งชาติ (National Human Genome Research Institute) สหรัฐฯ ซึ่งให้ทุนสนับสนุนโครงการทำแผนที่จีโนมตุ่นปากเป็ด

หากสนใจศึกษาข้อมูลรหัสพันธุกรรมของตุ่นปากเป็ดก็สามารถเข้าไปค้นหาได้ที่ www.ncbi.nih.gov/Genbank
ตุ่นปากเป็ดน่ารักน่าชังและน่าพิศวง (Reuters)
ลักษณะอันแปลกประหลาดของตุ่นปากเป็ด เป็นผลมาจากดีเอ็นเอนี่เอง (Reuters)
ตุ่นปากเป็ดกำลังแหวกว่ายอยู่ใต้น้ำภายในสวนสัตว์แห่งหนึ่งในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย (AP)
ดีเอ็นเอของตุ่นปากเป็ดจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สืบสาวข้อมูลวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมย้อนกลับไปในอดีตได้ไกลมากขึ้นอีก (Reuters)
กำลังโหลดความคิดเห็น