xs
xsm
sm
md
lg

โอ้โห! สุดยอดการค้นพบระดับโลก "กิ้งกือมังกรสีชมพู" อยู่ในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพราะมีสีชมพูสดใสโดดเด่น เจ้ากิ้งกือมังกรชนิดที่ถูกค้นพบใหม่จึงได้ชื่อว่า กิ้งกือมังกรสีชมพู กิ้งกือตัวจิ๋วสีสันจัดจ้านที่พบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก (ภาพจาก ไบโอเทค)
โอ้โห! “กิ้งกือมังกรสีชมพู” สัตว์ตัวจิ๋วแต่แจ๋ว เพราะสร้างชื่อให้ประเทศไทยด้วยการติดอันดับโลกของสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ในโลก นักวิจัยเผยพบในไทยเพียงแห่งเดียว แต่ไม่ระบุจังหวัด หวั่นถูกมนุษย์จับไปขายต่างชาติที่พิสมัยสัตว์แปลกพิสดาร หวังคนสนใจกิ้งกือไส้เดือนมากขึ้นเพราะเป็นสัตว์หน้าดินที่มีประโยชน์ยิ่ง

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) แถลงข่าวสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของไทยที่ติดอันดับโลกเป็นครั้งแรก จากการค้นพบ "กิ้งกือมังกรสีชมพู" (Shocking Pink Millipede) โดยกลุ่มสมาชิกชมรมคนรักกิ้งกือ และศึกษาวิจัยจนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติโดยคณะวิจัยของ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2551 ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนอื่นๆ ได้ร่วมในงานแถลงด้วย

ศ.ดร.สมศักดิ์ เปิดเผยว่า คนทั่วไปมักไม่ค่อยชอบและไม่สนใจสิ่งมีชีวิตจำพวกกิ้งกือและไส้เดือน และมีไม่น้อยที่สัตว์เหล่านี้ถูกคนส่วนใหญ่เหยียบตายอย่างไม่ใยดี เพราะไม่เป็นคุณค่าและประโยชน์ของพวกเขา อีกทั้งบางส่วนยังเข้าใจผิดว่ากิ้งกือกัดคนได้ แท้ที่จริงแล้วไม่มีกิ้งกือชนิดไหนที่กัดคนจนเป็นอันตรายได้ อีกทั้งกิ้งกือไส้เดือนเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก จึงเกิดการรมกลุ่มเป็นชมรมคนรักกิ้งกือและพยายามเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปให้เห็นความสำคัญของกิ้งกือด้วย ซึ่งศ.ดร.สมศักดิ์ ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกและอุปนายกของชมรม

กิ้งกือมังกรสีชมถูกค้นพบโดยสมาชิกในชมรมคนรักกิ้งกือเมื่อเดือน พ.ค. 2550 พบในบริเวณป่าเขาหินปูนแถบภาคกลางตอนบนต่อกับภาคเหนือตอนล่าง และพบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก เมื่อ ศ.ดร.สมศักดิ์ นำมาศึกษาวิจัยภายใต้โครงการวิจัยกิ้งกือและไส้เดือนดิน และร่วมกับ ศ.เฮนริค อิงฮอฟ (Henrik Enghoff) ผู้เชี่ยวชาญด้านกิ้งกือมือหนึ่งของโลกแห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก พบว่าเป็นกิ้งกือชนิดใหม่ของโลกและให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เดสโมไซเตส เพอร์พิวโรเซีย (Desmoxytes purpurosea) และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ ซูแทกซา (Zootaxa) ตั้งแต่ปี 2550

กระทั่งเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2551 สถาบันไอไอเอสอี (International Institute for Species Exploration: IISE) มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (Arizona State University) สหรัฐฯ ประกาศให้กิ้งกือมังกรสีชมพูเป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อันดับที่ 3 ของโลก รองจากการค้นพบปลากระเบนไฟฟ้าในแอฟริกาและการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ปากเป็ดอายุ 75 ล้านปี ในสหรัฐฯ ซึ่งได้อันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ

เหตุที่ได้ชื่อว่ากิ้งกือมังกรสีชมพูนักวิจัยอธิบายกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนว่า เพราะอยู่ในวงศ์กิ้งกือมังกรหรือพาราดอกโซโซมาติดี (Paradoxosomatidae) และมีสีชมพูสดใสแบบช็อคกิงพิงค์ (shocking pink) และมีลักษณะโดดเด่นด้วยลวดลายและปุ่มหนามคล้ายมังกร พบได้ในป่าที่มีความชุ่มชื้นสูงและอุดมสมบูรณ์ เมื่อโตเต็มวัยจะมีลำตัวยาวประมาณ 7 ซม. มีจำนวนปล้องราว 20-40 ปล้อง และสามารถขับสารพิษประเภทไซยาไนด์ออกมาจากต่อมขับสารพิษข้างลำตัวเพื่อป้องกันตนเองจากศัตรูธรรมชาติจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู

อย่างไรก็ดี ศ.ดร.สมศักดิ์ เตือนว่าสารไซยาไนด์ที่กิ้งกือมังกรสีชมพูขับออกมามีปริมาณน้อยเกินกว่าที่จะเป็นอันตรายต่อคนได้ แต่ทางที่ดีก็ควรป้องกันไว้ก่อนโดยไม่ไปแตะต้องหากพบเห็นในธรรมชาติ

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถามย้ำอีกครั้งว่าสถานที่ค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพูแห่งแรกอยู่ในจังหวัดใด นักวิจัยบอกว่าไม่อยากระบุให้ชัดเจน เนื่องจากกังวลว่ากิ้งกือชนิดนี้จะถูกรบกวนจากกลุ่มบุคคลที่ลักลอบจำหน่ายสัตว์แปลกประหลาดหายาก ศ.ดร.สมศักดิ์ บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่ากิ้งกือมังกรสีชมพูนี้ถูกตั้งราคาขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตไว้ประมาณ 30 ยูโร หรือราว 1,500 บาท

ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าการค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพู นักวิจัยในโครงการวิจัยกิ้งกือและไส้เดือนดิน เคยพบกิ้งกือชนิดใหม่ของโลกมาแล้วหนึ่งชนิดคือกิ้งกือหินปูนใน จ.สระบุรี เมื่อปี 2549 ซึ่งขณะนี้ก็กำลังศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากกิ้งกือในการทำปุ๋ยอินทรีย์อยู่ด้วย

ศ.ดร.สมศักดิ์ บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์อีกว่าการค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพูติดอันดับโลกจะสร้างชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความสามารถ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์อยู่อีกมาก

ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผอ.โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (บีอาร์ที) กล่าวเพิ่มเติมว่า สัตว์หน้าดินขนาดเล็กอย่างกิ้งกือและไส้เดือนช่วยทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุอาหารต่างๆ ได้ ทำให้เกิดปุ๋ยอินทรีย์ตามธรรมชาติ และมีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบนิเวศน์ ถือได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตพื้นฐานที่สร้างความมั่นคงให้กับดิน น้ำ และระบบนิเวศน์ เป็นฐานในการพัฒนาด้านการเกษตรที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไป

อยากให้การค้นพบสัตว์เล็กๆ อย่างกิ้งกือมังกรสีชมพูเป็นสิ่งที่จุดประกายให้คนหันมาสนใจและใส่ใจกับทรัพยากรธรรมชาติให้มากขึ้น” ศ.ดร.วิสุทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
กิ้งกือเป็นสัตว์ที่ช่วยให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์ จึงมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรรม การค้นพบกิ้งกือชนิดใหม่ในประเทศไทยจึงสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทย (ภาพจาก ไบโอเทค)
กำลังโหลดความคิดเห็น